เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยเตรียมยื่นข้อเสนอถึงนายกฯ จี้ใช้ ม.44 กำหนดหลักเกณฑ์ประมูลปิโตรเลียมด้วยระบบแบ่งปันผลผลิตในแปลงที่มีศักยภาพ ให้ผู้ร่วมประมูลปรับเงื่อนไขสัมปทานเดิมของบริษัทในกลุ่มของตน เพื่อให้การผลิตดำเนินต่อไปได้โดยไม่ลดผลผลิต หรือขาดตอน ให้ ปตท.สผ. ที่รัฐบาลถือหุ้นใหญ่ทำเป็นตัวอย่าง พร้อมนำร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมของภาคประชาชน ประกบร่างของกระทรวงพลังงาน ทำประชาพิจารณ์ ก่อนเสนอ สนช. เห็นชอบ
วันนี้ (3 มิ.ย.) เวลา 14.00 น. ที่โรงแรมเอเชีย ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) อาทิ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา นายคมสัน โพธิ์คง นางบุญยืน ศิริธรรม ได้ร่วมกันแถลงข่าว “ข้อเสนอทางออกเพื่อฝ่าวิกฤตพลังงานไทย” เพื่อเสนอทางออกของ คปพ. 3 ประเด็น ได้แก่ ข้อเสนอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในอีก 6 - 7 ปีข้างหน้า ข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติกิจกรรมปิโตรเลียมฉบับใหม่ของ คปพ. และติดตามผลข้อเสนอของ คปพ.ในเรื่องการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน
ทั้งนี้ คปพ. จะยื่นหนังสือข้อเสนอถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยผ่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (หม่อมหลวง ปนัดดา ดิศกุล) ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 4 มิ.ย. นี้ โดยมีเนื้อหาสำคัญโดยสรุป 6 ข้อด้วยกัน ประกอบด้วย
1. ให้รัฐบาลเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 สั่งประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การเปิดการประมูลแข่งขันผลตอบแทนสูงสุดให้แก่รัฐในการผลิตปิโตรเลียมโดยใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตเฉพาะแปลงที่มีศักยภาพสูงตามรายงานของกระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะพื้นที่ทะเลในอ่าวไทย 5 แปลง เพื่อเพิ่มหลักประกันว่าประเทศไทยจะมีการผลิตก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันกับเวลาการหมดอายุสัมปทานในปี พ.ศ. 2565 และ พ.ศ. 2566 ได้แก่ จี 3/57, จี 4/57, จี 5/57, จี 5/57 เอ, จี 5/57 บี และ จี 6/57
หลังจากนั้น ให้มีการประมูลการให้ผลตอบแทนสูงสุดในระบบแบ่งปันผลผลิต เพื่อจัดหาผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมในแปลงผลิตปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุในปี พ.ศ. 2565 และ พ.ศ. 2566 อันได้แก่ หมายเลขบี 10 หมายเลขบี 11 หมายเลขบี 12 และหมายเลขบี 13 ในแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและข้างเคียง และแปลงผลิตปิโตรเลียมหมายเลขบี 15 หมายเลขบี 16 และหมายเลขบี 17 ในแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีการผลิตปิโตรเลียมในแปลงสัมปทานที่หมดอายุลงทุกแปลง
2. ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 44 ตามข้อ 1 ให้ผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลตามข้อ 1 จะต้องยินยอมปรับปรุงเงื่อนไขของสัญญาสัมปทานเดิมของบริษัทในกลุ่มของตนทุกบริษัท เพื่อให้การผลิตดำเนินต่อไปได้โดยไม่ลดผลผลิตหรือขาดตอน ให้อุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องจักรทั้งหมดตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐโดยปราศจากการครอบครองและการรอนสิทธิใดๆ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถนำทรัพย์สินที่จะได้กลับคืนมาดำเนินการประเมินมูลค่าเพื่อนำมาใช้เป็นสัดส่วนการลงทุนของรัฐบาลในการเปิดประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิตของแปลงปิโตรเลียมนั้นๆ ได้ รวมทั้งให้รัฐบาลสามารถเข้าไปในพื้นที่เพื่อรับมอบการโอนถ่ายการผลิตปิโตรเลียมก่อนหมดอายุสัมปทานเพื่อสร้างเงื่อนไขนำอำนาจต่อรองกลับคืนมาเป็นของรัฐบาล
3. อาศัยจากการที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สั่งการให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) สั่งการให้ บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) แก้ไขสัญญาให้รัฐบาลสามารถเข้าไปในพื้นที่และถ่ายโอนสิทธิและทรัพย์สินการผลิตปิโตรเลียมให้รัฐบาลก่อนล่วงหน้า 5 ปี เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับการรักษากำลังการผลิตในแหล่งบงกชให้ได้ตามเดิมประมาณ 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยไม่มีผลเสียหายต่อผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้รับสัมปทานรายอื่นๆ ต่อไป
4. เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพาพลังงานปิโตรเลียมเป็นหลักไปสู่การพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น โดยที่ประเทศไม่ขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในยามที่การผลิตก๊าซธรรมชาติอาจลดลง และเพื่อแก้ไขปัญหานโยบายการสนับสนุนให้ใช้พลังงานหมุนเวียนในช่วงที่ผ่านมาของกระทรวงพลังงานซึ่งมีข้อบกพร่องนานาประการ ขอเสนอให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งกำหนดเป็นนโยบายให้กระทรวงพลังงานปรับปรุงนโยบายอุดหนุนราคาการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนทุกระบบให้เท่ากันหมด และให้ยกเลิกกรอบจำกัดหรือเป้าหมายการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนในแต่ละประเภท เพื่อให้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนประเภทที่มีต้นทุนถูกที่สุดได้รับการพัฒนาอย่างเป็นธรรมชาติและมีการแข่งขันตามกลไกตลาดเสรีอย่างเต็มที่ โดยเสนอกำหนดให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า(ADDER) ทุกระบบเริ่มต้นจาก 1.50 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า (กิโลวัตต์ - ชั่วโมง) ซึ่งราคาดังกล่าวนี้จะไม่ก่อภาระค่าใช้จ่ายมากเกินไปแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ
5. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.... ซึ่งเสนอโดยกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2558 ซึ่งร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ได้จัดทำอย่างเร่งรีบ และเกิดขึ้นก่อนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติ ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การกระทำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ของกระทรวงพลังงานที่ได้รับความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีนั้น ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดความโปร่งใส และขาดความจริงใจในการปฏิรูปพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง อีกทั้งยังมีข้อบกพร่องหลายประการที่อาจจะทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียหาย ซึ่งขัดแย้งกับการเกษียณหนังสือของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558 ที่ได้แจ้งให้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ทราบว่า “ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในความโปร่งใสและเป็นธรรม”
บัดนี้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ.... ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของภาคประชาชน และสอดคล้องกับเอกสาร กรอบความเห็นร่วมปฏิรูประเทศไทยด้านพลังงาน จัดทำโดยสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ในนามคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ของ คสช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการ ร่างพระราชบัญญัติ ประกอบกิจการปิโตรเลียม ฉบับใหม่ ของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เพื่อนำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไปประกบเปรียบเทียบ กับร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน โดยการทำประชาพิจารณ์ แล้วส่งต่อให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบตราเป็นพระราชบัญญัติฉบับใหม่ต่อไป ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติ ประกอบกิจการปิโตรเลียม ของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ยึดหลักในการสร้างเสถียรภาพ ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนเป็นสำคัญ
6. ตามที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ทำหนังสือยื่นข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2558 ไปแล้วนั้น เมื่อได้ตรวจสอบและติดตามผล พบว่ายังมิได้มีการตอบสนองตามข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรมแต่ประการใด จึงขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี แสดงความจริงใจ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในความโปร่งใสและเป็นธรรม ได้โปรดพิจารณาสั่งการตามข้อเสนอดังกล่าวต่อไป
รายละเอียดหนังสือ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน เสนอต่อนายกรัฐมนตรี
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย
๑๐๒/๑ บ้านพระอาทิตย์ ถนนพระอาทิตย์
แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร
กรุงเทพ ๑๐๒๐๐
ที่ คปพ. ๐๐๗/๒๕๕๘
วันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘
เรื่อง ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในอีก ๖ ปีข้างหน้า
กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ผ่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (หม่อมหลวง ปนัดดา ดิศกุล)
อ้างถึง หนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ด่วนมาก ที่ นร ๐๑๐๕.๐๕/๓๕๙๙ ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘
สิ่งที่ส่งมาด้วย
๑. ร่างคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ .../๒๕๕๘ เรื่องการจัดหาทรัพยากรปิโตรเลียมในราชอาณาจักร
๒. ร่างพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ....
ตามหนังสือที่อ้างถึง ผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฎิรูปพลังงานไทย(คปพ.) ที่สำนักนายกรัฐมนตรีโดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้สรุปผลการประชุม เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายทางพลังงานของประเทศ นำกราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้รับทราบมีบัญชาเห็นชอบให้ดำเนินการตามผลการประชุม อีกทั้งยังขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในความโปร่งใสและเป็นธรรมดังความทราบแล้วนั้น
เครือข่ายประชาชนปฎิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ขอขอบคุณ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่รับฟังและให้ความสำคัญในข้อมูล ข้อเสนอแนะ และทางออกด้านพลังงานของภาคประชาชนในช่วงเวลาที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จากกรณีที่มีข่าวปรากฏว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้วางกรอบแนวทางศึกษารูปแบบการพิจารณาแปลงสัมปทานปิโตรเลียม ที่รัฐบาลไทยได้ให้ความเห็นชอบแก่ผู้รับสัมปทานหลายบริษัท ในแหล่งปิโตรเลียมบงกช และเอราวัณ ภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ซึ่งได้ต่ออายุสัญญาสัมปทานครั้งสุดท้ายไปแล้ว จึงไม่สามารถต่ออายุสัมปทานได้อีกตามกฎหมาย และสัมปทานดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ และ พ.ศ. ๒๕๖๖ เป็นที่น่าสังเกตว่า การต่อสัญญาครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา กลับมิได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้รัฐบาลสามารถเข้าพื้นที่เพื่อทำการแทนหรือทำการโอนถ่ายการผลิตปิโตรเลียมก่อนสิ้นสุดอายุการต่อสัญญาได้ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ก่อนสิ้นสุดสัญญา
ดังนั้น เมื่อสิ้นสุดสัญญาลงอาจทำให้การผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกชขาดช่วงไปจนเกิดวิกฤติการขาดแคลนพลังงานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งบงกช และเอราวัณที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานลงมีกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติรวมกันสูงถึงประมาณ ๒,๑๑๐ ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดคำนวณเป็นปริมาณก๊าซกว่าร้อยละ ๕๐ ของปริมาณการผลิตทั้งประเทศ จากความไม่รอบคอบรัดกุมในการต่อสัญญาในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ จึงทำให้เกิดความเสี่ยงในความต่อเนื่องของการผลิตก๊าซในอนาคต ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่กับความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าจนอาจต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศในราคาแพง สร้างความเดือดร้อนให้แก่ ประชาชนเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดการวางแผนการบริหารจัดการพลังงานที่ดี
จากกรณีดังกล่าว ส่งผลให้อำนาจต่อรองของภาครัฐในการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนลดลง และทำให้ผู้รับสัมปทานบางบริษัท มีอำนาจต่อรองสูงขึ้นเหนือความมั่นคงของชาติ ส่งผลให้รัฐบาลอาจต้องยอมจำนนหรือถูกกดดันให้ด่วนตัดสินใจเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ ๒๑ เพื่อเร่งจัดหาปิโตรเลียมทดแทน โดยปราศจากการประมูล หรือนายกรัฐมนตรีอาจถูกกดดันให้ต้องใช้มาตรา ๔๔ (รัฐธรรมนูญชั่วคราว) เพื่อมีคำสั่งต่ออายุการผลิต หรือให้สิทธิในการผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ไม่ว่าในระบบสัมปทานหรือระบบแบ่งปันผลผลิตให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิมเหล่านี้ โดยปราศจากการประมูลแข่งขันกันอย่างโปร่งใส หรือรัฐบาลไทยอาจถูกกดดันให้ต้องเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยกับประเทศเพื่อนบ้านโดยปราศจากความถูกต้องในเรื่องเส้นทะเลอาณาเขต เขตเศรษฐกิจจำเพาะ และพื้นที่ซึ่งอ้างว่าทับซ้อน เพื่อตอบสนองอำนาจต่อรองของบริษัทผู้รับสัมปทานที่มีมากกว่ารัฐบาลไทย
กระทรวงพลังงานเองก็ได้กล่าวยอมรับอย่างเปิดเผยแล้วว่าหลังหมดอายุสัมปทานลง แปลงปิโตรเลียมทั้งแหล่งเอราวัณและบงกชยังคงมีศักยภาพที่จะผลิตปิโตรเลียมได้อีกอย่างน้อย ๑๐ ปี ดังนั้นหากรัฐบาลยอมจำนนหรือถูกกดดันให้ตัดสินใจบนความต้องการและอำนาจต่อรองที่สูงกว่าของผู้รับสัมปทานรายเดิมดังที่กล่าวมาข้างต้น จะทำให้ประเทศไทยขาดโอกาสที่จะเปิดประมูลเพื่อจ้างเอกชนผลิตปิโตรเลียมหลังหมดอายุสัมปทานในแปลงที่ได้มีการผลิตปิโตรเลียมอยู่จริงในปัจจุบันและยังมีศักยภาพสูงในอนาคตเพื่อให้ปิโตรเลียมเหล่านั้นตกเป็นสมบัติของชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันยังทำให้ประเทศไทยขาดโอกาสเปิดประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิตหรือในการจ้างผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงใหม่ไปด้วย การที่ประเทศไทยสูญเสียโอกาสและอำนาจต่อรองให้แก่ผู้รับสัมปทานเช่นนี้ จะนำไปสู่การสูญเสียความมั่นคงทางเศรษฐกิจและอธิปไตยทางพลังงาน โดยไม่สามารถรักษาผลประโยชน์สูงสุดของชาติและประชาชนอย่างแท้จริงได้ ตลอดจนอาจเป็นบรรทัดฐานหรือเป็นข้ออ้างในการเอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้รับสัมปทานรายอื่นๆ ที่สัญญากำลังทยอยหมดอายุในอนาคตได้สิทธิผลิตปิโตรเลียม โดยปราศจากการประมูลแข่งขันไปโดยปริยาย เพียงอาศัยเงื่อนไขและสถานการณ์ในปัจจุบัน หรือหากมีการเร่งเจรจาเพื่อผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย อาจนำไปสู่การสูญเสียอธิปไตย ทะเลอาณาเขต หรือเขตเศรษฐกิจจำเพาะในพื้นที่ซึ่งอ้างว่าทับซ้อนในอ่าวไทยตามที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันอันเกินกว่าความเป็นจริงไปอย่างมาก
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) มีความเห็นว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยต้องสร้างเงื่อนไขอันชอบธรรมเพื่อนำอำนาจต่อรองกลับคืนมา อันจะนำไปสู่การสร้างทางเลือกในการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน รวมทั้งความมั่นคงด้านพลังงานของชาติ จึงใคร่ขอเสนอแนวทางในการหาทางออกให้กับประเทศไทยดังต่อไปนี้
๑. ให้รัฐบาลเสนอต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ใช้อำนาจโดยอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา ๔๔ มีคำสั่งประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การเปิดการประมูลแข่งขันผลตอบแทนสูงสุดให้แก่รัฐในการผลิตปิโตรเลียมโดยใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตเฉพาะแปลงที่มีศักยภาพสูงตามรายงานของกระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะพื้นที่ทะเลในอ่าวไทย ๕ แปลง เพื่อเพิ่มหลักประกันว่าประเทศไทยจะมีการผลิตก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันกับเวลาการหมดอายุสัมปทานในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ และ พ.ศ. ๒๕๖๖ ได้แก่ จี ๓/๕๗, จี ๔/๕๗, จี ๕/๕๗ เอ, จี ๕/๕๗ บี และจี ๖/๕๗ ซึ่งจากรายงานของกระทรวงพลังงานที่ได้แจ้งต่อผู้ที่จะประสงค์รับสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ ๒๑ ว่าด้วยศักยภาพปิโตรเลียมของอ่าวไทย เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ว่าทั้ง ๕ แปลงดังกล่าวคาดว่าจะมีน้ำมันรวมทั้งสิ้น ๑๗๙ ล้านบาร์เรล และจะมีก๊าซธรรมชาติ ๑.๒๖ ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หรือประมาณการผลิตก๊าซเฉลี่ยอย่างน้อยวันละ ๑๒๗ ล้านลูกบาศก์ฟุต ตลอดอายุสัญญาการแบ่งปันผลผลิต ๒๐ ปี
หลังจากนั้น ให้มีการประมูลการให้ผลตอบแทนสูงสุดในระบบแบ่งปันผลผลิต เพื่อจัดหาผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมในแปลงผลิตปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ และ พ.ศ. ๒๕๖๖ อันได้แก่ หมายเลขบี ๑๐ หมายเลขบี ๑๑ หมายเลขบี ๑๒ และหมายเลขบี ๑๓ ในแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและข้างเคียง และแปลงผลิตปิโตรเลียมหมายเลขบี ๑๕ หมายเลขบี ๑๖ และหมายเลขบี ๑๗ ในแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีการผลิตปิโตรเลียมในแปลงสัมปทานที่หมดอายุลงทุกแปลง แปลงสัมปทานเหล่านี้จะยังคงผลิตก๊าซธรรมชาติรวมกันสูงถึงประมาณ ๒,๑๑๐ ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันอยู่เช่นเดิม
๒. ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา ๔๔ ตามข้อ ๑ ให้ผู้มีสิทธิเข้าร่วมประมูลตามข้อ ๑ จะต้องยินยอมปรับปรุงเงื่อนไขของสัญญาสัมปทานเดิมของบริษัทในกลุ่มของตนทุกบริษัท เพื่อให้การผลิตดำเนินต่อไปได้โดยไม่ลดผลผลิตหรือขาดตอน ให้อุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องจักรทั้งหมดตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐโดยปราศจากการครอบครองและการรอนสิทธิใดๆ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสามารถนำทรัพย์สินที่จะได้กลับคืนมาดำเนินการประเมินมูลค่าเพื่อนำมาใช้เป็นสัดส่วนการลงทุนของรัฐบาลในการเปิดประมูลในระบบแบ่งปันผลผลิตของแปลงปิโตรเลียมนั้นๆ ได้ รวมทั้งให้รัฐบาลสามารถเข้าไปในพื้นที่เพื่อรับมอบการโอนถ่ายการผลิตปิโตรเลียมก่อนหมดอายุสัมปทานเพื่อสร้างเงื่อนไขนำอำนาจต่อรองกลับคืนมาเป็นของรัฐบาลจากผู้รับสัมปทานรายเดิม ซึ่งภายใต้ข้อเสนอนี้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) ได้เสนอร่างคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ .../๒๕๕๘ เรื่อง การจัดหาทรัพยากรปิโตรเลียมในราชอาณาจักร มาเพื่อพิจารณาแล้ว(ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑)
ทั้งนี้ เพื่อให้อำนาจต่อรองกลับมาเป็นของรัฐให้มากที่สุด เห็นควรให้จัดประมูลเฉพาะ ๕ แปลงใหม่ที่มีศักยภาพในอ่าวไทยก่อนเป็นลำดับแรก และให้จัดประมูลแปลงปิโตรเลียมในแหล่งบงกชและเอราวัณที่จะหมดอายุในอีก ๖ - ๗ ปีข้างหน้า เป็นลำดับต่อไป ทั้งนี้เพราะผู้ที่ได้รับสัมปทานในแหล่งบงกชและเอราวัณที่กำลังจะหมดอายุนั้น ต่างมีแปลงสัมปทานติดกับแปลงปิโตรเลียม ๕ แปลงใหม่ดังกล่าวทั้งสิ้น จึงทำให้ได้เปรียบในทางธุรกิจมากกว่าผู้ประมูลรายอื่นอยู่แล้ว
หากผู้รับสัมปทานเหล่านี้สละสิทธิ์ไม่แก้ไขสัญญาสัมปทานเดิม จะทำให้ไม่เพียงแต่สูญเสียโอกาสในการเข้าร่วมประมูลใน ๕ แปลงใหม่ที่ติดกับแปลงสัมปทานเดิมของตนเองเท่านั้น แต่จะยังผลทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมประมูลในแหล่งบงกชและเอราวัณในลำดับต่อไปอีกด้วย ซึ่งจะเป็นผลทำให้อำนาจต่อรองของรัฐสูงขึ้นไปโดยปริยาย
๓. อาศัยจากการที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สั่งการให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) สั่งการให้ บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) แก้ไขสัญญาให้รัฐบาลสามารถเข้าไปในพื้นที่และถ่ายโอนสิทธิและทรัพย์สินการผลิตปิโตรเลียมให้รัฐบาลก่อนล่วงหน้า ๕ ปี เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับการรักษากำลังการผลิตในแหล่งบงกชให้ได้ตามเดิมประมาณ ๘๗๐ ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยไม่มีผลเสียหายต่อผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้รับสัมปทานรายอื่นๆ ต่อไป
๔. เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพาพลังงานปิโตรเลียมเป็นหลักไปสู่การพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น โดยที่ประเทศไม่ขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในยามที่การผลิตก๊าซธรรมชาติอาจลดลง และเพื่อแก้ไขปัญหานโยบายการสนับสนุนให้ใช้พลังงานหมุนเวียนในช่วงที่ผ่านมาของกระทรวงพลังงานซึ่งมีข้อบกพร่องนานาประการ ไม่สอดคล้องกับหลักความเป็นธรรม ไม่เกิดการแข่งขัน อีกทั้งเป็นการใช้ดุลยพินิจส่วนบุคคลที่จะสนับสนุนในเทคโนโลยีอันหนึ่งอันใดอย่างไม่มีเหตุผลทางวิชาการรองรับที่สะท้อนความเป็นจริง ทำให้การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเป็นไป โดยล่าช้าและมีประสิทธิภาพต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพื่อขจัดปัญหาดังกล่าว จึงใคร่ขอเสนอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งกำหนดเป็นนโยบายให้กระทรวงพลังงานปรับปรุงนโยบายอุดหนุนราคาการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนทุกระบบให้เท่ากันหมด และให้ยกเลิกกรอบจำกัด หรือเป้าหมายการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนในแต่ละประเภท เพื่อให้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนประเภทที่มีต้นทุนถูกที่สุดได้รับการพัฒนาอย่างเป็นธรรมชาติและมีการแข่งขันตามกลไกตลาดเสรีอย่างเต็มที่ โดยเสนอกำหนดให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า(ADDER) ทุกระบบเริ่มต้นจาก ๑.๕๐ บาทต่อหน่วยไฟฟ้า (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) ซึ่งราคาดังกล่าวนี้จะไม่ก่อภาระค่าใช้จ่ายมากเกินไปแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้โดยคำนึงถึงสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เห็นว่า หากพิจารณาปัจจัยเชิงพื้นที่ ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพื่อทดแทนพลังงานปิโตรเลียมอย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น เพียงแค่พลังงานจากชีวมวลอย่างเดียวก็สามารถทดแทนพลังงานปิโตรเลียมได้ถึง ๔๐,๐๐๐ เมกะวัตต์ เทียบเท่ากับก๊าซธรรมชาติ ๘,๗๖๗ ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ใกล้เคียงกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี พ.ศ. ๒๕๖๖ และเพียงพอกับการใช้ไฟฟ้าของทั้งประเทศ โดยไม่ต้องพึ่งพาการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอย่างรุนแรงอีกต่อไป
๕. เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนในด้านพลังงาน จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม โดยมีเจตนารมณ์ให้การผลิตและจำหน่ายปิโตรเลียมมีความโปร่งใส ชอบธรรมและเป็นธรรมแก่ประชาชนในการใช้พลังงาน รวมทั้งทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของชาติ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.... ซึ่งเสนอโดยกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่วันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งร่างกฎหมายทั้ง ๒ ฉบับนี้ได้จัดทำอย่างเร่งรีบ และเกิดขึ้นก่อนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พระราชบัญญัติ ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การกระทำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าร่างกฎหมายทั้ง ๒ ฉบับ ของกระทรวงพลังงานที่ได้รับความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีนั้น ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดความโปร่งใส และขาดความจริงใจในการปฏิรูปพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง อีกทั้งยังมีข้อบกพร่องหลายประการที่อาจจะทำให้ประเทศชาติและประชาชนเสียหาย ซึ่งขัดแย้งกับการเกษียณหนังสือของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ได้แจ้งให้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.) ทราบว่า “ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในความโปร่งใสและเป็นธรรม”
บัดนี้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ.... (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๒) ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของภาคประชาชน และสอดคล้องกับเอกสาร กรอบความเห็นร่วมปฏิรูประเทศไทย ด้านพลังงาน จัดทำโดยสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ในนามคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ของ คสช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในหลักการ ร่างพระราชบัญญัติ ประกอบกิจการปิโตรเลียม ฉบับใหม่ ของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เพื่อนำร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไปประกบเปรียบเทียบ กับร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน โดยการทำประชาพิจารณ์ แล้วส่งต่อให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบตราเป็นพระราชบัญญัติฉบับใหม่ต่อไป ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติ ประกอบกิจการปิโตรเลียม ของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ยึดหลักในการสร้างเสถียรภาพ ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนเป็นสำคัญ คือ
๕.๑ เป็นกฎหมายที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ (หมายถึง การสำรวจและการผลิต) กลางน้ำ(หมายถึง การขนส่งและเก็บรักษา โรงแยกก๊าซ โรงกลั่นน้ำมัน) ไปจนถึงปลายน้ำ (หมายถึง การจำหน่ายให้แก่ประชาชน) เพื่อให้การทำธุรกิจปิโตรเลียมทุกขั้นตอนมีความพร้อมสำหรับการค้าระหว่างประเทศมากขึ้นสำหรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
๕.๒ เปิดให้มีทางเลือกเพิ่มขึ้น ในรูปของการแบ่งปันผลผลิตและการจ้างผลิต โดยมีกติกาในการทำงานที่มีความรัดกุมมากขึ้น และเป็นการเปิดกว้างให้มีการแข่งขันโดยกลไกตลาดเสรีอย่างเต็มที่
๕.๓ ให้มีการจัดตั้งบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติเพื่อดูแลจัดการผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนในเรื่องปิโตรเลียมอย่างเป็นรูปธรรม
๕.๔ เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การกำกับ ตลอดจนการจัดการผลประโยชน์ของประเทศ
๕.๕ เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมอย่างเป็นรูปธรรม
๕.๖ จัดให้มีระบบการดูแลเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการปิโตรเลียมอย่างเป็นธรรม
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีความเชื่อมั่นว่า หาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เห็นชอบในการดำเนินการดังกล่าวแล้ว ประเทศไทยจะไม่เข้าสู่สภาวการณ์ขาดแคลนพลังงาน และยังสามารถทำให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน ตลอดจนสามารถสร้างการบริหารจัดการเกี่ยวกับการประกอบกิจการปิโตรเลียมที่โปร่งใส และสร้างความมั่นคงทางพลังงานแก่ประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นธรรมได้อย่างแท้จริง
๖. ตามที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้ทำหนังสือยื่นข้อเสนอถึง ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ผ่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๘ ไปแล้วนั้น เมื่อได้ตรวจสอบและติดตามผล พบว่า ยังมิได้มีการตอบสนองตามข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรมแต่ประการใด จึงขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี แสดงความจริงใจ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในความโปร่งใสและเป็นธรรม ได้โปรดพิจารณาสั่งการตามข้อเสนอดังกล่าวต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและพิจารณาให้ความเห็นชอบและดำเนินการตามข้อ ๑ - ๖ ต่อไป
ขอแสดงความนับถือ
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย