xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สปช.สมัคร คปก.ประโยชน์ทับซ้อน?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบวรศักดิ์  อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จำนวน 11 คน ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน จะหมดวาระลงในวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 นี้ หลังจากดำรงตำแหน่งมา 4 ปี นับตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และได้มีการเปิดรับสมัครผู้เข้ารับการสรรหาเป็นคณะกรรมการชุดใหม่ โดยได้หมดเขตการรับสมัครเมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา

เมื่อเปิดดูรายชื่อผู้สมัครก็จะพบบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอยู่แล้วหลายคน โดยในส่วนของผู้สมัครเป็นคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา มีอาทิ

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)

นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายชุดปัจจุบัน และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

นายธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)

นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ สมาชิก สปช.สายสื่อสารมวลชน และอดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย,

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เป็นต้น

ส่วนผู้สมัครเป็นคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลา มีอาทิ

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมายปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลาชุดปัจจุบัน และผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา

นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สปช.สายสื่อสารมวชน

นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา

พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

รศ.พิศวาท สุคนธพันธ์อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เป็นต้น

สำหรับคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายนั้น จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. 2553 มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยผ่านการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ ได้แก่ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งตัวแทนจากภาควิชาการและเอกชน

คณะกรรมการชุดแรกที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน เริ่มดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 และคณะกรรมการชุดที่ 2 นี้ ผู้ที่เป็นกรรมการชุดแรกสามารถได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งได้อีกแต่ไม่เกิน 2 วาระติดกัน

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.ฎ.ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. 2554 กรรมการ คปก.ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา จะได้เงินเดือน 62,000 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท รวม 104,500 บาทต่อเดือน รวมทั้งได้สิทธิประโยชน์ ค่าเดินทาง ที่พัก และค่ารักษาพยาบาล

กรรมการ คปก.ปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลาจะได้รับเงินเดือน 42,500 บาท และสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกันกับคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา

ส่วนอำนาจหน้าที่ของ คปก.ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. 2553 โดยสรุปมีทั้งหมด 6 ข้อ ได้แก่

1.สำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ และวิจัยหรือสนับสนุนการวิจัยทางวิชาการ เกี่ยวกับการพัฒนากฎหมาย

2.ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศทั้งระบบ รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน

3.เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแผนการการมีกฎหมาย แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย โดยพิจารณากฎหมายในภาพรวมเป็นเรื่องๆ

4.เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับแผนการตรากฎหมายที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน

5.เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา เกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับหนึ่งฉบับใดที่เสนอโดย คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

6.ให้คำปรึกษาและสนับสนุนการดำเนินการในการร่างกฎหมายของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการจะกำหนด

กล่าวโดยสรุปก็คือ คปก.ทำหน้าที่เป็นองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายที่ดำเนินการเป็นอิสระในการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศ รวมทั้งปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนั้นประกอบด้วย

ดังนั้น หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ คปก.จะเป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีกฎหมายหรือการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามข้อเสนอที่ได้มาจาก สปช.นั่นเอง

การที่มีคนจาก สปช.และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไปสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ คปก.ชุดที่ 2 จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นการมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือเข้าข่าย “ชงเองกินเอง” หรือไม่

นั่นเพราะนอกจาก คปก.จะมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ตามที่มีอยู่เดิมแล้ว ยังจะมีอำนาจตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในมาตรา 282 (3) ที่ระบุว่า “ให้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีหน้าที่และอำนาจเสนอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ พิจารณายกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย หรือกฎ แล้วแต่กรณี ที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระ หรือขั้นตอนโดยไม่จำเป็น”

เท่ากับว่า มีการเขียนบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้แก่ คปก.หลังจากนั้นคนร่างรัฐธรรมนูญก็ไปเป็น คปก.เสียเอง

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้สมัครกรรมการปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจมากที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รวมทั้ง สปช.คนอื่นๆ ด้วย มาสมัครรับการสรรหาเป็นกรรมการ คปก. เพราะหากได้รับเลือกก็จะถูกมองว่าเขียนรัฐธรรมนูญมาเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองและจะถูกร้องเรียนกันวุ่นวายแน่นอน

อย่างไรก็ตาม นายบรรเจิด สิงคะเนติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมการ คปก.กล่าวถึงกรณี กมธ.ยกร่างฯ ไปลงสมัครเป็น คปก.ว่า ไม่เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะรัฐธรรมนูญไปเขียนลดอำนาจ คปก.ลง เพราะให้อำนาจพิจารณายกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายหรือกฎแล้วแต่กรณีที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น ทั้งที่อำนาจเดิมสามารถเสนอได้ทุกเรื่อง

ด้าน น.ส.สุภัทรา นาคะผิว สปช.สายนักพัฒนาเอกชน และโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้สมัครคณะกรรมการ คปก.ไม่เต็มเวลา ยืนยันว่าจะสมัครเป็น คปก.เพราะคุณสมบัติไม่ได้ต้องห้าม และมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรขัดกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังไม่มีผลบังคับใช้ ขณะที่มาตรา 282 (3) ก็ไม่ได้ให้อำนาจอะไรเพิ่มเติมแก่ คปก.เลย

กระนั้นก็ดี เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนักขึ้น นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้ถอนใบสมัครเป็น คปก.ไปแล้วโดยบอกว่า เพื่อไม่ให้กระทบต่อรัฐธรรมนูญ และเพื่อไม่ให้นักการเมืองมาด่าตน นอกจากนี้ ตนอาจจะตัดมาตรา 282(3) ในร่างรัฐธรรมนูญทิ้งด้วย ส่วนกรณีที่มี สปช.บางคนลงสมัครด้วยนั้นก็ถือเป็นสิทธิของเขาที่จะลงสมัครได้

ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย กลาวถึงเรื่องนี้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่กำลังพิจารณากันอยู่ ไม่ได้กำหนดว่าเมื่อ กมธ.ยกร่างฯ พ้นจากตำแหน่งแล้วจะเป็นอะไรไม่ได้เลย เพียงแต่เขียนห้ามว่า หลังจากพ้นตำแหน่ง 2 ปีจะไปดำรงตำแหน่งในทางการเมืองคือ ส.ส. ส.ว.และรัฐมนตรี ไม่ได้ ส่วนตำแหน่งอื่นไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และ คปก.ไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมือง ไม่มีอะไรห้าม

ด้านนายบุญเลิศ คชายุทธเดช สปช.ในฐานะผู้สมัคร คปก.ไม่เต็มเวลา กล่าวยืนยันว่ายังไม่ถอนจากการสมัคร คปก. และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวกับมาตรา 282 (3) เพราะในการเสนอคำแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญนั้น สปช.เป็นเพียงองค์กรหนึ่งเท่านั้นที่แสดงความเห็นควบคู่กับ ครม. คสช. รวมทั้งความเห็นของพรรคการเมืองและพี่น้องประชาชน หรือการลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ สปช.ก็ลงมติในภาพรวมทั้งฉบับ ไม่ได้ลงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในมาตรา 282(3) เพียงมาตราเดียว ขณะที่หน้าที่การทำงานของ สปช.ที่เกรงว่าจะไปทับซ้อนกับ คปก.หากได้รับเลือก ยืนยันว่าตนสมัครแบบไม่เต็มเวลา และสามารถจัดสรรเวลาไปทำงานได้ โดยจะนำความรู้และประสบการณ์ของการเป็น สปช.ไปทำงานใน คปก.ให้ดีขึ้น

ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา ยังคงตามกัดไม่ปล่อย โดยยืนยันว่า สปช.หรือกรรมาธิการยกร่างฯ คนอื่นๆ ที่ยื่นใบสมัคร คปก.ไว้จะต้องถอนใบสมัครเช่นเดียวกับนายบวรศักดิ์ด้วย หากยังสมัครอยู่และสุดท้ายแล้วได้รับการสรรหา ก็จะไปร้องต่อศาลปกครองว่าคณะกรรมการสรรหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากผู้สมัคร คปก.นั้นมีผลประโยชน์ทับซ้อน กรรมาธิการยกร่างฯ นั้นมีส่วนโดยตรงที่เขียนร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 282 (3) ที่ให้อำนาจ คปก. ขณะที่ สปช.นั้นก็เป็นผู้เสนอแปรญัตติในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น