กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแจงปมร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ย้ำขั้นตอนยังต้องผ่าน ครม.และ สนช.ก่อน ยืนยันร่างดังกล่าวผ่านการรับฟังความเห็นแล้ว ทุกอย่างโปร่งใส
นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เปิดเผยว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้วเสร็จ หลังจากนั้นจะต้องส่งเรื่องมายังกรมเชื้อเพลิงให้ยืนยัน หลังจากนั้นจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยยืนยันว่าร่างทั้งหมดได้มีการรับฟังความเห็นจากสภาปฏิรูปแห่งชาติและเวทีสาธารณะหลายครั้ง และร่างดังกล่าวเป็นการเสนอทางเลือกในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมภายในประเทศเพิ่มเติมเพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารจัดการรอบใหม่ (รอบ 21) ได้ทั้งระบบสัมปทานปิโตรเลียมและระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC)
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจใช้ระบบสัมปทาน หรือ PSC รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปลัด หรือแม้แต่อธิบดีกรมเชื้อเพลิง ฯลฯ ก็ไม่มีอำนาจที่จะไปเรียกเอกชนมาเจรจาโดยไม่เปิดเผยได้ เพราะการดำเนินการจะต้องเปิดประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ามายื่นสิทธิ์และสำรวจปิโตรเลียมเพื่อให้เกิดการแข่งขันข้อเสนอที่ดีสุดและต้องไม่ต่ำกว่าผลประโยชน์ขั้นต่ำตามที่กำหนดในกฎหมาย ซึ่งขั้นตอนก็จะต้องผ่านคณะกรรมการคัดเลือก คณะกรรมการปิโตรเลียม และการตัดสินใจให้สัมปทานขั้นสุดท้ายก็อยู่ที่ดุลพินิจของ ครม. ไม่ใช่เป็นของ รมว.พลังงานแต่อย่างใด
“กรณีที่มีการเปิดสำรวจฯ หากแปลงใดมีเอกชนมายื่นเพียงรายเดียว แต่รัฐเห็นว่าเพื่อประโยชน์สูงสุดในการจัดหาปิโตรเลียม กรณีนี้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกสามารถเรียกมาเจรจาเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดเกิดแก่รัฐได้ แต่ที่สุดก็ต้องเสนอให้ ครม.เห็นชอบ ส่วนการโอนสิทธิ์สัมปทานให้กับบริษัทอื่นฯ ก็มีมาตรา 24 ที่กำหนดคุณสมบัติไว้แล้ว และเป็นสิทธิทางกฎหมายที่ทำได้เพราะเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งทุกขั้นตอนโปร่งใส” นางพวงทิพย์กล่าว
นอกจากนี้ การเปิดให้สำรวจฯ จะต้องกำหนดแปลงสำรวจว่าจะใช้ระบบใดให้เอกชนเข้ามาเสนอการแข่งขัน ซึ่งการเปิดสำรวจฯ รอบ 21 นั้นมีแปลงที่จะเปิดดำเนินการ 29 แปลง จะมี 3 แปลงที่เคยค้นพบศักยภาพที่จะใช้ระบบ PSC เพราะหากให้เอกชนเลือกเองว่าจะใช้ระบบใดเชื่อว่าจะไม่มีใครเลือก PSC เนื่องจากระบบ PSC เป็นการเน้นเสนอรายได้ให้รัฐสูงสุดแต่มีความเสี่ยงว่าสำรวจแล้วอาจเจอแหล่งปิโตรเลียมไม่มาก ขณะที่สัมปทานจะมีการดูปริมาณงานและเงินลงทุน สัดส่วนรายได้ที่จะส่งรัฐขั้นต่ำไว้ชัดเจนแล้ว
สำหรับประเด็นข้อกล่าวอ้างว่าร่างกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดระบบ PSC เปิดให้เอกชนสามารถหักได้ในอัตรา 50% ทั้งหมด และส่งผลให้ประชาชนเสียผลประโยชน์นั้น ข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวคือ กำหนดให้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง โดยไม่เกิน 50% ของผลผลิตรวมปิโตรเลียม (คำนวณจากการขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมทั้งหมด) ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายไม่ถึง 50% ก็หักได้เท่ากับค่าใช้จ่ายตามจริงเท่านั้น (ต้องเป็นค่าใช้จ่ายตามแผนงานและงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ)
นางพวงทิพย์กล่าวว่า ประเด็นที่เสนอให้รัฐบาลแก้ไขสัญญาและขอเข้าไปในพื้นที่และถ่ายโอนสิทธิสำหรับแหล่งก๊าซธรรมชาติ 2 แหล่ง คือ เอราวัณ และบงกช ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-66 ก่อนสิ้นอายุล่วงหน้า 5 ปี เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการได้ และเรื่องดังกล่าวยังส่งผลกระทบและเป็นภัยระหว่างประเทศในด้านการลงทุนอีกด้วย ซึ่งยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่กระทรวงพลังงานเสนอนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาแปลงสัมปทานที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานแต่อย่างใด โดยกรณีดังกล่าวรัฐบาลโดยมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบกรอบแนวทางให้กระทรวงพลังงานมาดำเนินการสรุปเพื่อให้ได้ข้อยุติใน 1 ปีแล้วจึงเป็นคนละเรื่องกัน
“ข้อเสนอตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั้น หากพิจารณาศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมของไทยนั้นไม่ได้มากพอทำให้ไม่สอดคล้องกับศักยภาพปิโตรเลียมและการจัดเก็บรายได้ที่จะเกิดขึ้น และยังมีการรวบอำนาจทั้งการกำกับกิจการและผู้ปฏิบัติไว้ด้วยกัน ซึ่งหากต้องการให้โปร่งใสการกำกับกิจการควรแยกออกจากการปฏิบัติ นี่คือสิ่งที่กระทรวงพลังงานเห็น” นางพวงทิพย์กล่าว