xs
xsm
sm
md
lg

กางแผนก๊าซฯ 21 ปีดันเปิดแข่งขัน LNG ลด ปตท.ผูกขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติชงแผนก๊าซฯ รับพีดีพี 2015 จ่อเข้า กพช.อนุมัติ เผยแผนระยะยาว 21 ปีอยู่บนสมมติฐานต้องเดินหน้าสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ การผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณและบงกชต่อเนื่องไม่มีสะดุด ผสมนำเข้า LNG ที่กำหนดเปิดเสรีให้เอกชนรายอื่นแข่งได้ไม่ผูกขาดโดย ปตท.


นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้การจัดทำแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (GAS PLAN) เพื่อให้สอดรับกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP 2015 (ปี 2558-79) ได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้กระทรวงฯ จะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบต่อไป โดยหลักการของแผนก๊าซฯ จะคำนึงถึงการจัดหาให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศโดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าในระยะ 21 ปีตามแผน PDP และอยู่บนสมมติฐานที่การเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่และการผลิตก๊าซฯ แหล่งเอราวัณและบงกชที่จะหมดอายุสัมปทานปี 2565-66 ดำเนินการต่อไปได้

“แผน PDP ใหม่ที่จะลดสัดส่วนใช้ก๊าซฯ ลงจาก 62% เหลือ 35-40% เมื่อสิ้นสุดแผนก็ด้วยสาเหตุที่เราจำเป็นต้องยืดอายุแหล่งก๊าซฯ ในประเทศไว้ใช้ให้นานที่สุดเพราะทิศทางการจัดหาเรามีแนวโน้มลดลง การจัดทำแผนก็จะต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการผลิตก๊าซฯ ในอ่าวไทย การนำเข้า และแนวโน้มการใช้ ขณะเดียวกันก็ต้องดูว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามแผน PDP แต่ละปีเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ด้วย เช่น ถ่านหิน เพราะหากมีปัญหาที่สุดก็จะกลับมาใช้ก๊าซฯ” นางพวงทิพย์กล่าว

นอกจากนี้ ตามแผนฯ จะต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่กำหนดให้ บมจ.ปตท.นำเข้าแล้ว 10 ล้านตัน โดยคลังอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ทั้งสองแห่ง โดยคลังแห่งที่สองจะเสร็จในปี 2560 เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกให้แก่ประเทศ โดยจะต้องมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในปี 2579 ตามปริมาณการใช้ที่คาดว่าจะสูงขึ้น แต่เพื่อไม่ให้ บมจ.ปตท.ผูกขาดการนำเข้าแต่เพียงรายเดียวนโยบายรัฐจะกำหนดให้เปิดให้เอกชนรายอื่นๆ สามารถแข่งขันเข้ามาจำหน่าย LNG โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) จึงได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติบนบก การให้บริการสถานี LNG แก่บุคคลที่สาม และการเชื่อมต่อสำหรับสถานีแอลเอ็นจีเพื่อเปิดทางให้เกิดการแข่งขันมากที่สุด

ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการยืดอายุแหล่งก๊าซฯ ในอ่าวไทย ปัจจุบันก๊าซฯ ที่ผลิตได้อยู่ระดับ 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันพบว่ามีการส่งป้อนไปยังโรงแยกก๊าซธรรมชาติ 2,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ที่เหลือ 700-800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันถูกส่งตรงไปยังโรงไฟฟ้า ซึ่งส่วนนี้เป็นการนำเอาก๊าซฯ ไปเผาโดยไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม จึงควรจะเก็บก๊าซฯ ส่วนนี้เอาไว้แล้วให้นำ LNG เข้ามาป้อนแทน ซึ่งขณะนี้ราคา LNG ตลาดโลกมีราคาต่ำลงกว่าอดีตค่อนข้างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น