xs
xsm
sm
md
lg

โยนครม.ชี้ขาดกม.ปิโตรเลียม "พลังงาน"ลุ้นเปิดสำรวจรอบ21ปีนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"พลังงาน" ย้ำ ครม. จะเป็นผู้ตัดสินใจร่างกฎหมายปิโตรเลียมและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ยันสิ่งที่เสนอเป็นทางเลือกหนึ่งของการบริหารแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ หากรัฐเห็นชอบตามที่เสนอ การเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบ21ก็ทำได้ภายในปีนี้ เผยหากรอระบบ PSCเต็มรูปแบบ ต้องใช้เวลานาน ขณะที่สำรองก๊าซฯ ที่พิสูจน์แล้ว นับถอยหลังเหลืออีกแค่ 5 ปี

นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...)พ.ศ. ... และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาหลังจากนั้นจึงจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าร่างดังกล่าวมีสาระหรือแตกต่างอย่างไรกับร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ ของภาคประชาชน

"ที่สุดรัฐบาล โดย ครม. จะเป็นผู้ตัดสินใจ โดยร่างของกระทรวงพลังงาน เป็นทางเลือกหนึ่งของการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมของประเทศ หากรัฐเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ก็จะสามารถเดินหน้าเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 ได้ภายในปีนี้"

ทั้งนี้ ร่างของกระทรวงฯ เน้นแก้ไขมาตรา 23 ที่กำหนดให้ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ ผู้ใดสำรวจและผลิตต้องได้รับสัมปทาน และการขอสัมปทานให้เป็นไปตามกติกาที่กำหนดในกฏกระทรวง กระทรวงพลังงานจึงทำการปรับเพื่อเปิดช่องทางเลือกให้กับประเทศด้วยการปลดล็อคไม่ให้เป็นระบบสัมปทานอย่างเดียว แต่เพิ่มให้เป็นทางเลือกอีกทาง คือ ระบบแบ่งปันผลผลิตหรือ PSC และต้องนำมาซึ่งการแก้กฎหมายภาษีเงินได้ปิโตรเลียมประกอบด้วย

นางพวงทิพย์กล่าวว่า การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ขณะนี้ได้เลื่อนออกไปแล้วตามนโยบายรัฐบาล เพื่อรอให้มีการปรับปรุงเรื่องกฏหมาย ไม่ได้เดินหน้าสำรวจอะไร หาก ครม. เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ คือ เน้นแก้ไขมาตรา 23 ก็จะสามารถเปิดสำรวจได้ทันที แต่หากไม่ใช่แล้วจะใช้รูปแบบ PSC ตามที่ภาคประชาชนเสนอเต็มรูปแบบ ก็จะต้องใช้เวลา เพราะต้องยกร่างกฏหมายขึ้นมาใหม่เพิ่มอีก และระบบนี้ก็จะต้องมีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมา ซึ่งจะเป็นรูปแบบใดก็ยังไม่ชัดเจน แต่หากหมายถึงการรวมเอา บมจ.ปตท. และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเข้าด้วยกัน จากที่แยกกันอยู่ระหว่างผู้ดำเนินการกับผู้กำกับกิจการ ซึ่งรูปแบบแยกออกจากกันทุกวันนี้ มีความโปร่งใสกว่า

สำหรับระบบ PSC ที่กระทรวงเสนอนั้น เป็นการใช้รูปแบบของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ซึ่งจะต้องแก้ไขมาตรา 23 และพ.ร.บ.เงินได้ปิโตรเลียมที่กำหนดค่าภาคหลวง 10% และหักค่าใช้จ่ายตามจริงไม่เกิน 50% โดยจะหักเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับการเจรจา แต่ก็จะต้องไม่ต่ำกว่าระบบสัมปทานไทยแลนด์ ทรี คือ รัฐได้ 70% เอกชน 30% ดังนั้น ประเด็นที่กล่าวว่าค่าใช้จ่ายไม่หักตามจริง แต่หัก 50% ของรายได้ตายตัวเป็นการเข้าใจไม่ถูกต้อง

"ก่อนหน้านี้ ภาคประชาชนได้เสนอให้นำเอาแปลงที่เปิดสำรวจรอบที่ 21 ที่มีศักยภาพ 3 แปลงมาเปิดให้เอกชนสำรวจก่อนโดยไม่เปิดทั้งหมด 29 แปลงนั้น ข้อเท็จจริงเราก็เปิดช่องแล้วที่จะให้รัฐไปเจรจาให้เป็น PSC ภายใน4ปี เพื่อรอให้กฏหมายมีผล แต่ข้อเท็จจริงแล้วการเปิดเพียง 3 แปลง เอกชนก็คงจะไม่มีใครสนใจมายื่น"นางพวงทิพย์กล่าว

นางพวงทิพย์กล่าวว่า ไทยจำเป็นจะต้องเดินหน้าสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 เนื่องจากปริมาณสำรองก๊าซที่พิสูจน์ทราบแล้ว(P1) เหลือใช้เพียง 5 ปีเท่านั้น แม้ว่าศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมของไทยมีไม่มาก แต่ก็จำเป็นจะต้องหาไว้ เพื่อยืดอายุของแหล่งเก่าให้ใช้ได้ยาวนาน เพื่อรักษาสำรองในประเทศและเพื่อที่จะได้รับทราบถึงทิศทางอนาคตของแหล่งพลังงานของไทยระยะยาว เป็นการเตรียมแผนรับมือ เพราะปัจจุบันไทยใช้ก๊าซฯ สูงถึง 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ผลิตในประเทศได้เองแค่ 3,000ล้านลบ.ฟุตต่อวันเท่านั้น ที่เหลือนำเข้าจากพม่า JDA และนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)

"ถ้าเราไม่สำรวจเพิ่ม แล้วไปเร่งรัดให้หลุมที่ขุดเจาะขณะนี้ผลิตเพิ่ม ก็จะเท่ากับไปทำลายแอ่งจัดเก็บที่จะเสียหายได้ ถ้าแหล่งใหม่ๆ เข้ามา ก็จะรักษาและยืดอายุของแหล่งปิโตรเลียมให้ยาวนาน จึงเป็นเหตุผลที่กรมฯ ต้องเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ ซึ่งรอบ 21 นี้ ก็ห่างจากรอบที่ 20 ถึง 8 ปี และรอบที่แล้วเปิดสำรวจ 28 แปลง ก็เจอเพียง 1 แปลง ซึ่งกำลังจะผลิตปีนี้ โดยมีสำรองเพียง 2.9 หมื่นล้านลบ.ฟุตเท่านั้น"นางพวงทิพย์กล่าว

ส่วนแปลงสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและบงกชที่จะหมดอายุปี 2565-66 ตามที่มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบหลักการที่จะต้องไปดำเนินการนั้น ก็จะต้องมีการไปแก้ไขกฏหมายใหม่ขึ้นมารองรับเช่นกัน โดยหลักการเมื่อหมดอายุ ทรัพย์สินก็จะต้องตกเป็นของรัฐ ซึ่ง กพช. กำหนดกรอบว่าต้องเปิดให้รัฐเข้ามาเป็นเจ้าของแหล่งเพิ่มขึ้นจากที่ไม่มีเลย และจะต้องดำเนินการให้การผลิตมีความต่อเนื่องโดยต้องสรุปภายในระยะเวลา 1 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น