xs
xsm
sm
md
lg

บริษัททำเว็บไซต์งง! แม่บ้านเคลมอุบัติเหตุ ถูกเรียกปรับ 5 หมื่น-บังคับอบรม จป.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เจ้าของบริษัทรับทำเว็บไซต์ร้องเรียน ถูกสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดแห่งหนึ่ง เรียกปรับ 5 หมื่นบาท พร้อมให้ส่งคนไปอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย หรือ จป. หลังพบมีประวัติการเคลมอุบัติเหตุ จากแม่บ้านบริษัทฯ ถูบันไดออฟฟิศแล้วศีรษะไปโดนมุมฝ้า

ในเว็บไซต์พันทิป มีผู้ใช้นามแฝง "ลมหายใจของฉันคือเธอ " ตั้งกระทู้หัวข้อ "เจ้าของบริษัท กิจการ ห้างร้าน ขนาดเล็กควรรู้ไว้ !!!! กับสิ่งที่จะเกิดขึ้น" ระบุว่า ตนเปิดบริษัททำเกี่ยวกับเว็บไซต์ ทำตามกฏหมายกำหนดถูกต้องทุกอย่าง รวมถึงการเอาบริษัทฯ เข้าสู่ระบบประกันสังคมด้วย แม้บริษัทจะเล็กและมีพนักงานประจำน้อยมาก 3 คน เพราะฟรีแลนซ์ที่รับงานไปทำมีมากกว่า เปิดมาได้แค่ 2 ปี และอยู่ในระหว่างขยายกิจการ

แต่เมื่อประมาณ 3 เดือนที่แล้ว แม่บ้านที่ออฟฟิศได้ทำการเคลมค่ารักษาพยาบาลจากประกันสังคม เพราะศีรษะเป็นแผลถาก เลือดออก จากการถูบันไดออฟฟิศแล้วลุกไม่ทันระวัง ศีรษะไปโดนมุมฝ้า ตนเป็นคนไปโรงพยาบาลเอง เขียนเรื่องให้เองเรียบร้อย ไม่มีการเย็บแผล แค่เอ็กซ์เรย์กับฉีดกันบาดทะยัก ปัจจุบัน แม่บ้านลาออกไปแล้ว เพราะอายุ 56 ปี เริ่มทำงานไม่ไหว ทางหน่วยงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดแห่งหนึ่ง เรียกเข้าพบ ซึ่งเป็นการเรียกเข้าพบ 50 บริษัทพร้อมกัน จากบริษัทที่มีประวัติการยื่นเคลมประกันสังคมจากอุบัติเหตุ

เรื่องแรกที่เจ้าหน้าที่แจ้ง คือ จะต้องให้ทุกบริษัทที่เข้าร่วมประชุม เสียค่าปรับ 50,000 บาท เพราะไม่มีการแจ้ง แบบ สปร. 5 (แบบแจ้งการเกิดอุบัติภัยร้ายแรง หรือการประสบอันตรายจากการทํางาน) ให้กับทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทราบ หลังจากมีอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน โดยอ้างอิงประวัติจากประกันสังคม แต่ทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะมีการอนุโลมให้ เพราะถือว่าส่วนมากไม่รู้

ทั้งนี้ ก่อนจบการเข้าร่วมประชุม ก็ได้ถามเรื่องการยื่นแบบ สปร. 5 กลายเป็นว่าใช้เฉพาะกรณีคนงานตายหรือบาดเจ็บสาหัสเท่านั้น คำถามคือ ต้องกรอกแบบฟอร์มอันอื่นอีกไหม หากถ้าลูกน้องประสบอุบัติเหตุเจ็บเล็กน้อย

เรื่องที่สอง คือ การต้องมี จป. (เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย) ซึ่งมีการแจกเอกสารเกี่ยวกับกฏกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ปี 2549 ประมาณว่า ใช้บังคับกิจการ หรือ สถานประกอบกิจการ ที่มีความเสี่ยง 14 ประเภท เช่น การทำเหมืองแร่ การก่อสร้าง ฯลฯ และแจ้งเพิ่มเติมว่า จะมีจดหมายตามมาอีกเรื่องการมี จป. โดยที่ต้องส่งคนไปอบรมตามที่มีกำหนดการจัดขึ้น และแน่นอน มีค่าใช้จ่ายในการอบรม เพื่อเป็น จป. ต่างๆ ในแต่ละระดับ

ทั้งนี้ ตนสงสัยว่า หน่วยงานเดียวกัน เจ้าหน้าที่คนนึงบอกต้องมี จป. เจ้าหน้าที่อีกคนบอกไม่ต้องมี จป. คำถามคือ อย่างนี้ทุกกิจการ ห้างร้าน บริษัท โรงงาน ในประเทศต้องมี จป. หรือเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ไม่มีข้อยกเว้นใช่หรือไม่

เรื่องที่สาม เจ้าหน้าที่ชี้แจงเรื่องการอบรมเจ้าหน้าที่ปลอดภัย (จป.) แต่ละแบบ คือ ระดับหัวหน้างาน ระดับบริหาร ระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพ ที่แต่ละบริษัทจะต้องมี โดยบังคับตามกลุ่มกิจการ และจำนวนพนักงาน ว่าจะต้องมี จป. ระดับอะไรบ้าง จำนวนกี่คน ซึ่งสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด มีจัดอบรม จป. ในแต่ละระดับ มีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน และไม่ใช่หลักร้อย แต่เป็นหลักพันถึงหลายพันในการอบรม จป. แต่ละระดับ ต่อ 1 คน อย่างหน่วยงานจังหวัดนี้ เก็บคนละ 2,700 บาท

ตนจึงสอบถามว่า มีพนักงานประจำแค่ 3 คน เป็นโปรแกรมเมอร์ แอดมิน ดีไซน์เนอร์กราฟฟิก แล้วจะส่งใครไป เค้าก็บอกว่า หัวหน้าแต่ละฝ่าย ยังไงก็ต้องมี เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย และต้องมีของแต่ละฝ่ายด้วยซ้ำ ภายใน 30 วันหลังจากที่ได้หนังสือ ฉบับต่อไป หากไม่มีการแต่งตั้งตามกำหนดถือว่าผิดกฏหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ซึ่งพอตนกลับมาอ่านเรื่อง กฏกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัย ปี 2549 ที่แบ่งระดับ จป. จากสถานประกอบกิจการแต่ละประเภทนั้น ยังไงก็ไม่เข้าข่ายสักอันที่จะต้องมี จป.

"ตามที่หนังสือคำสั่งพนักงานตรวจความปลอดภัยนั้น เหมือนจะแปลได้ว่า ทุกบริษัท ห้างร้าน โรงงาน ไม่ว่าจะทำกิจการเกี่ยวกับอะไรก็ตาม ต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย หรือ จป. ทุกที่ใช่ไหม อย่างบริษัทเราทำเว็บไซต์ มีพนักงาน 3 คน ถูกระบุว่า ต้องมี จป. ทำงานระดับหัวหน้างาน และระดับบริหารเลยหรือ เพราะถ้าไม่ทำตามคำสั่ง ภายในสามสิบวัน ต้องจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งปรับทั้งจำ

ทั้งหมดคือ ไม่เข้าใจในกฏหมายที่ออกมาเท่าไหร่ว่า ตกลงต้องมี จป. หรือไม่ ในเมื่อบริษัทเล็กแค่นี้ เพราะส่วนมากเป็นฟรีแลนซ์ อีกทั้งกิจการไม่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยระหว่างทำงาน และทำไมบริษัทที่อยู่ในละแวกเดียวกัน ทำสิ่งทอ ทำอาหาร ฯลฯ ไม่เห็นมีเค้ามี จป. กันเลยสักที่ อย่างน้อยพนักงานเป็นสิบ ๆ คน ไม่มีการเรียกเข้าพบด้วยซ้ำ อาจจะเป็นเพราะไม่มีการเคลมจากประกันสังคมหรือไม่

ที่สำคัญกว่านั้น คือทำไมไม่บังคับใช้ พ.ร.บ. ของ 2554 แทน 2549 ไปเลย ว่าทุกบริษัท กิจการ ห้างร้าน โรงงาน ทุกที่ต้องมี จป. ให้หมด ไม่ใช่มาถึงแจกเอกสาร 2549 เสร็จ พอแย้งว่า ไม่อยู่ในข่ายกิจการที่ระบุ 14 ข้อ ก็ไปหากฏหมายใหม่มาบังคับใช้กับเรา งงมาก ท่านใดพอชี้แจงเรื่องการบังคับกฏกระทรวง เกี่ยวกับกิจการที่จะต้องมี เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย แต่ละระดับ มีความรู้ช่วยหน่อยเถอะค่ะ ปวดหัวมากจริงๆ โดนขู่ตลอดว่าจะจับปรับ จับปรับ ทั้งๆ ที่เราพยายามทำความเข้าใจ พอโทรไปถามหน่วยงานนี้ กลับบอกว่ากิจการเราไม่ใช่ไม่ต้องมี จป. แต่จดหมายกลับมาออกคำสั่งให้มี จป."
เจ้าของกระทู้ระบุ

อนึ่ง สำหรับกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549 ใช้บังคับแก่กิจการหรือสถานประกอบกิจการดังต่อไปนี้

(๑) การทำเหมืองแร่ เหมืองหิน กิจการปิโตรเลียมหรือปิโตรเคมี

(๒) การทำ ผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ซ่อมบำรุง เก็บรักษา ปรับปรุง ตกแต่ง เสริมแต่ง ดัดแปลง แปรสภาพ ทำให้เสีย หรือทำลายซึ่งวัตถุหรือทรัพย์สิน รวมทั้งการต่อเรือ การให้กำเนิดแปลง และจ่ายไฟฟ้าหรือพลังงานอย่างอื่น

(๓) การก่อสร้าง ต่อเติม ติดตั้ง ซ่อม ซ่อมบำรุง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร สนามบิน ทางรถไฟ ทางรถราง ทางรถใต้ดิน ท่าเรือ อู่เรือ สะพานเทียบเรือ ทางน้ำ ถนน เขื่อน อุโมงค์ สะพาน ท่อระบาย ท่อน้ำ โทรเลข โทรศัพท์ ไฟฟ้า ก๊าซหรือประปา หรือสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ รวมทั้งการเตรียมหรือวางรากฐานของการก่อสร้าง

(๔) การขนส่งคนโดยสารหรือสินค้าโดยทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และรวมทั้งการบรรทุกขนถ่ายสินค้า

(๕) สถานีบริการหรือจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซ

(๖) โรงแรม

(๗) ห้างสรรพสินค้า

(๘) สถานพยาบาล

(๙) สถาบันทางการเงิน

(๑๐) สถานตรวจทดสอบทางกายภาพ

(๑๑) สถานบริการบันเทิง นันทนาการ หรือการกีฬา

(๑๒) สถานปฏิบัติการทางเคมีหรือชีวภาพ

(๑๓) สำนักงานที่ปฏิบัติงานสนับสนุนสถานประกอบกิจการตาม (๑) ถึง (๑๒)

(๑๔) กิจการอื่นตามที่กระทรวงแรงงานประกาศกำหนด




กำลังโหลดความคิดเห็น