xs
xsm
sm
md
lg

เสนอตั้งองค์กรกลางคิดอัตราบวกกำไร “ค่ายา-ค่ารักษา” เรตเดียวทั้งประเทศ เอกชนสูงกว่ารัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ภาคประชาชนเสนอควบคุม “ค่ายา - ค่ารักษาพยาบาล” ให้เหมาะสม ชี้ หาราคาต้นทุนที่แท้จริง ตั้งองค์กรกลางคิดอัตราบวกกำไรเพิ่มอัตราเดียวทั้งประเทศ ให้ รพ.เอกชน บวกได้สูงกว่า รพ.รัฐ หวังให้ประชาชนรู้ค่าใช้จ่าย ยันไม่คิดควบคุมค่าเซอร์วิสชาร์จอื่นๆ

วันนี้ (28 พ.ค.) นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือร่วมกับคณะกรรมการดำเนินการแก้ปัญหา รพ.เอกชน เก็บค่ารักษาพยาบาลแพง ที่มี นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ กรรมการแพทยสภา เป็นประธาน ว่า เครือข่ายฯ ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหา รพ.เอกชน เก็บค่ารักษาพยาบาลแพง 5 ข้อ ได้แก่ 1. ให้มีผู้แทนภาคประชาชนในทุกคณะกรรมการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว ชุดละ 3 - 5 คน 2. มาตรการแก้ปัญหาต้องมีการควบคุมค่ายา และกำหนดราคายาให้โปร่งใส โดยเป็นราคาที่ปิดฉลากมาจากโรงงานและค่าบริหารจัดการด้านยาที่คงที่ทุกโรงพยาบาล ส่วนระยะต่อไปให้จัดทำโครงสร้างต้นทุนและผูกติดกับเรื่องการขึ้นทะเบียนระบบต้นทุน โดยให้พัฒนาระบบการกำกับควบคุมค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่นอกเหนือจากยาให้เหมาะสมและเป็นธรรม

3. ส่งเสริมให้โรงพยาบาลใช้การรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพ ไม่ให้เป็นการรักษาเกินความจำเป็น 4. ระบบการแพทย์ฉุกเฉินเห็นด้วยกับข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่ขอเพิ่มเติมให้ สธ. กำหนดแบบใบยินยอมการรักษาของผู้ป่วยให้เป็นมาตรฐานเดียวทั่วประเทศ โดยระบุเฉพาะการยินยอมให้การรักษาเท่านั้น และกรณีที่ผู้ป่วยมีสิทธิประกันสุขภาพเอกชนและอื่นๆ ให้กำหนดแนวปฏิบัติให้ชัดเจน และ 5. การจัดทำเว็บไซต์กลาง ต้องกำหนดค่ารักษาพยาบาลให้มีทั้งสถานพยาบาลรัฐส่วนต่างๆ เพิ่มจากที่ประกาศเฉพาะในภาคเอกชน และเพิ่มภาคประชาชนในอนุกรรมการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน

นพ.ประทีป สัจจะมิตร อดีต ผอ.ฝ่ายการแพทย์ บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง ในฐานะเครือข่ายฯ กล่าวว่า ไม่อยากให้ค่ารักษาพยาบาลเป็นเรื่องของการค้า เพราะผลสุดท้ายภาระจะตกกับประชาชน จึงต้องมีการพิจารณาแนวทางแก้ไขในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลใน รพ.เอกชน โดยมองว่าค่ายาและค่ารักษาพยาบาลต้องมีการควบคุมให้ราคาเหมาะสมและเป็นธรรม และต้องแยกออกจากค่าบริการความหรูหราอื่นๆ ทั้งนี้ ค่ายาและค่ารักษาพยาบาลจะต้องพิจารณาราคาต้นทุนแล้ววิเคราะห์ราคาที่เหมาะสม คือ ราคาต้นทุนเท่าไร แล้วสามารถบวกเพิ่มค่าปัจจัยอื่นๆ ได้เท่าไร ซึ่งค่าปัจจัยอื่นๆ ที่บวกเพิ่มขึ้นนั้นต้องเป็นอัตราเดียวกันทั้งหมดทุก รพ.เอกชน แต่จะมากกว่า รพ.รัฐ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าจะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าไร ซึ่งการกำหนดอัตราดังกล่าวจะต้องดำเนินการโดยองค์กรกลางที่เป็นกลางจริงๆ

“ไม่ว่าจะเป็นค่ายา หรือ ค่ารักษา จะต้องระบุราคาต้นทุนแล้วกำหนดอัตราการบวกเพิ่มเติม เพราะ รพ.เอกชน ก็ต้องมีการดำเนินการทางธุรกิจจะให้ใช้ราคาต้นทุนอย่างเดียวคงไม่ได้ เช่น ค่ายาเมื่อทราบว่ามีต้นทุนเท่านี้ ต้องกำหนดเลยว่า รพ.เอกชน บวกเพิ่มจากราคาต้นทุนได้เท่าไร และ รพ.รัฐ บวกเพิ่มได้เท่าไร เป็นต้น ส่วนค่าอื่นๆ ของ รพ.เอกชน ที่ไม่ใช่ค่ารักษาพยาบาล แต่เป็นค่าบริการความหรูหรา หรือค่าการอำนวยความสะดวกต่างๆ ภาคประชาชนไม่ได้ไปเรียกร้องให้มีการควบคุม เพราะเข้าใจว่าเป็นเรื่องของการดำเนินธุรกิจ จึงขอเฉพาะส่วนค่ารักษาพยาบาลเท่านั้นที่ต้องมีการควบคุม” นพ.ประทีป กล่าว

ด้าน นพ.ศุภชัย กล่าวว่า ยินดีรับฟังข้อเสนอและจะนำไปเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ และบางส่วนจะเสนอให้ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข รับทราบ และให้ความคิดเห็นต่อไป ซึ่งทุกฝ่ายล้วนเข้าใจและหวังดีในการพัฒนาระบบสาธารณสุขสร้างสิ่งดีต่อประชาชน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น