เร่งฟอร์มทีมหารือ รพ.เอกชน แก้ “ค่ายาแพง” มั่นใจได้แนวทางชัดเจน 1 - 2 สัปดาห์ตามเดดไลน์ นายกสภาเภสัชกรรม ชี้ หาก รพ.เอกชน รับ 2 ข้อเสนอ “ปชช. ซื้อยาเอง - เปิดเผยต้นทุนค่ายา” เตรียมหาแนวทางสะท้อนต้นทุนต่อ เชื่อช่วย ปชช. เข้าใจ ไม่เกิดปัญหาหลังรับบริการ
หลังจากการประชุมคณะกรรมการดำเนินการแก้ปัญหา รพ.เอกชน เก็บค่ารักษาพยาบาลแพง ซึ่งมี นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ กรรมการแพทยสภา เป็นประธาน ได้มีข้อสรุปการแก้ปัญหาค่ายา รพ.เอกชน แพง ใน 2 ข้อเสนอ คือ 1. ปล่อยให้ราคายาเป็นไปตามกลไกการตลาด แต่จะออกประกาศให้ประชาชนสามารถนำใบสั่งยาจากแพทย์ไปซื้อยาที่ร้านขายยาภายนอกได้ และ 2. รพ.เอกชน จะต้องปิดป้ายราคายาตามราคาโรงงานให้ชัดเจน และสะท้อนต้นทุนในการที่จะบวกกำไรในค่ายาอย่างโปร่งใส เช่น ค่าขนส่ง ค่าบริการ ค่าเภสัชกร เป็นต้น โดยจะให้สภาเภสัชกรรม คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมการค้าภายใน นักวิชาการจากคณะเภสัชศาสตร์ และภาคประชาชนไปเจรจาร่วมกับ รพ.เอกชน ว่า จะใช้แนวทางใดภายใน 1 - 2 สัปดาห์
วันนี้ (26 พ.ค.) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการนัด รพ.เอกชน และสมาคม รพ.เอกชน เพื่อหารือถึง 2 แนวทางดังกล่าว ก็คงต้องรีบดำเนินการ เพราะประธานฯ ให้เวลาในการดำเนินการประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ ซึ่ง 2 ข้อเสนอนี้ไม่ใช่ว่าจะให้ รพ.เอกชน เลือกทางใดทางหนึ่ง แต่จะเป็นการหารือว่า รพ.เอกชน พร้อมที่จะเดินในแนวทางไหนได้บ้าง หรืออาจจะเดินหน้าทั้ง 2 แนวทางเลยก็ได้ หากฟากเอกชนเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว แต่หาก รพ.เอกชน คิดว่า มีอุปสรรคก็คงต้องเสนอความเห็นเข้ามาเพื่อรายงานต่อประธานคณะกรรมการต่อไป สำหรับตัวแทนภาคประชาชนที่จะเข้าร่วมในทีมเจรจาด้วยนั้น ที่ผ่านมา ในคณะกรรมการก็มีตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเข้าร่วมตลอด คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาใดในการประสานงานเพื่อรวมทีมกันไปเจรจา
ภก.กิตติ กล่าวว่า ทั้งนี้ หาก รพ.เอกชน เห็นด้วยกับ 2 แนวทางข้อเสนอในการแก้ปัญหา ก็จะต้องมาหารือกันต่อว่าจะมีแนวทางในการสะท้อนต้นทุนค่ายาตามความเป็นจริงของแต่ละโรงพยาบาลอย่างไร เพราะต้องเข้าใจว่า รพ.เอกชน ก็มีหลายระดับ แต่ละระดับก็มีต้นทุนแตกต่างกันไป อย่าง รพ.เอกชน ระดับเมดิคัล ฮับ แน่นอนว่าต้องมีต้นทุนสูงมาก ซึ่งเมื่อมีแนวทางในการสะท้อนต้นทุนออกมา ก็จะช่วยให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้นและมีความพอใจ เพราะอย่างน้อยก็จะทราบก่อนว่าราคา รพ.เอกชน แต่ละแห่งราคาค่ายาอยู่ในระดับใด ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะเป็นศูนย์กลางในการประสานนำข้อมูลการสะท้อนต้นทุนค่ายามาเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของ สบส. เพื่อให้ประชาชนได้รู้ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกรับบริการ จะได้ไม่เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง
“รพ.เอกชน ระดับสูงกับ รพ.เอกชน ทั่วไปย่อมมีต้นทุนแตกต่างกัน อย่าง รพ.เอกชน ระดับสูงถ้ามองว่าต้นทุนสูงจริงก็สามารถคิดค่ายาสูงได้ แต่ก็ต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม ตรงนี้ รพ.เอกชน ก็ต้องให้ข้อเท็จจริงมาอะไรที่เป็นต้นทุนสำหรับค่ายาบ้าง บวกกำไรเพิ่มจากอะไร เพราะอะไร รพ.เอกชน แต่ละระดับต่างกันเพราะอะไร ถ้าประชาชนรับรู้ก็จะเข้าใจกันมากขึ้น” นายกสภาเภสัชกรรม กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่