xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” เสนอยุติขัดแย้ง ให้ ปชช.เลือกเอาร่าง กม.ปิโตรเลียมของ ก.พลังงาน หรือภาค ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รสนา โตสิตระกูล (แฟ้มภาพ)
“รสนา” ชี้ ปลัด ก.พลังงาน โม้ ร่าง พ.ร.บ. และร่างภาษีปิโตรเลียมฯ ผ่านความเห็น สปช. เสนอยุติความขัดแย้ง จัดทำประชามติให้ ปชช. เลือกระหว่าง ร่างกฎหมายปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน กับ ฉบับร่างของภาคประชาชน

วันนี้ (8 ก.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการปฏิรูปพลังงาน ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล หัวข้อ “ขอเสนอให้รัฐบาลทำประชามติร่างกฎหมายปิโตรเลียมฉบับของกระทรวงพลังงานและฉบับของภาคประชาชน” ตามข้อความดังนี้

น.ส.รสนา ระบุว่า ได้อ่านข่าวในไทยโพสต์ออนไลน์ ว่า ปลัดกระทรวงพลังงานให้สัมภาษณ์โต้กรณีที่กลุ่มเครือข่ายปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงานนำเสนอร่างกฎหมายปิโตรเลียม และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างเร่งรีบ ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมนั้น ไม่เป็นความจริง

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงพลังงานยังให้สัมภาษณ์ว่าร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ และ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2558 และขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมนำเสนอ ครม. และ สนช. พิจารณาต่อไปนั้น ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจาก สปช. และเวทีเสวนาสาธารณะหลายครั้งในรอบปี 2558 ที่ผ่านมา

แต่ในความเป็นจริงนั้น แม้แต่กรรมาธิการพลังงานใน สปช. ยังไม่มีใครได้เห็นร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ และร่างภาษีปิโตรเลียมฯของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอย่างเป็นทางการจากกระทรวงพลังงาน ดิฉันเคยเสนอในที่ประชุมกรรมาธิการพลังงานให้ขอร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จากกระทรวงพลังงาน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง เมื่อวันจันทร์ที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา ในที่ประชุมอนุกรรมาธิการปิโตรเลียม ก็มีการพูดถึงประเด็นนี้ กรรมาธิการท่านหนึ่งที่เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานก็ยังตอบในที่ประชุม ว่า ท่านก็ยังไม่เคยเห็นร่างกฎหมายนี้เช่นกัน

ในฐานะที่อยู่ในกรรมาธิการพลังงานของ สปช. จึงไม่เคยทราบมาก่อนว่า “ได้มีการรับฟังความคิดเห็น (เกี่ยวกับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ ของกระทรวงพลังงาน) จาก สปช. และเวทีเสวนาสาธารณะหลายครั้งในรอบปี 2558 ที่ผ่านมานั้น” ตามที่ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวอ้าง

ทั้งนี้ หากมีการรับฟังเกี่ยวกับร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ใน สปช. และในเวทีสาธารณะที่ใดบ้างในรอบปี 2558 ที่ผ่านมา ก็สมควรที่จะนำรายงานมาเปิดเผยให้เป็นที่ประจักษ์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การเร่งรัดนำร่างกฎหมายเกี่ยวกับปิโตรเลียมดังกล่าวเข้าสู่ ครม. และ สนช. โดยไม่ได้ผ่านการฟังเสียงของประชาชนอย่างเพียงพอ จะทำให้เกิดความสงสัยในหมู่ประชาชน ว่า ร่างกฎหมาย 2 ฉบับนั้น รับใช้ผลประโยชน์ของใคร?

น.ส.รสนา โพสต์อีกว่า มูลค่าทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศไทยที่มีมูลค่ามากกว่า 500,000 ล้านบาทต่อปีนั้น ไม่ใช่สมบัติของกระทรวงพลังงานที่คิดจะกำหนดจัดการอย่างไรก็ได้ โดยไม่ฟังเสียงประชาชน แต่ทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นสมบัติของประชาชนไทยทั้งประเทศ ที่ไม่ได้รับการจัดสรรอย่างเป็นธรรมจากทรัพยากรนั้น แต่กลับต้องแบกรับราคาพลังงานอันสูงลิ่วตลอดจนภาษีพลังงาน รวมทั้งกองทุนน้ำมันมาโดยตลอด

ทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นเรื่องใหญ่พอๆ กับเรื่องรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เพื่อให้ปิโตรเลียมเป็นของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ดิฉันขอเสนอให้รัฐบาลทำประชามติว่าประชาชนจะเห็นชอบในร่างกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใดระหว่างร่างกฎหมายปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน หรือ ฉบับร่างของภาคประชาชน ทั้งนี้ เพื่อยุติความขัดแย้งและนำไปสู่การปฏิรูปพลังงานอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น