xs
xsm
sm
md
lg

ยื่นนายกฯ ค้านขึ้นภาษีสรรพสามิต-เลิกแอลพีจีขนส่ง ทำ ปชช.ภาระเพิ่ม ปล่อยภาคปิโตรฯ เอาเปรียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online




“คปพ.” ยื่นหนังสือคัดค้านเพิ่มภาษีสรรพสามิตก๊าซแอลพีจีภาคขนส่ง ชี้นายกฯ ได้ข้อมูลผิด ยันภาคขนส่งไม่ได้ใช้แอลพีจีมากที่สุด และไม่ได้เป็นภาระกองทุนน้ำมัน แต่เป็นภาคปิโตรเคมีที่ใช้มากที่สุดและเอาเปรียบภาคอื่น พร้อมค้านยกเลิกการใช้แอลพีจีภาคขนส่ง หวั่นประชาชนรับภาระเพิ่มปีละ 5.6 หมื่นล้านบาท แนะทางออก ยกเลิกกองทุนน้ำมันที่มีเงินมากเกินจำเป็นอยู่กว่า 4 หมื่นล้านบาท เพื่อลดภาระประชาชน

วันนี้ (17 มิ.ย.) เวลาประมาณ 10.00 น. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้เดินทางไปยื่นหนังสือคัดค้านร่างแก้ไขแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปิโตรเลียม และร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่กระทรวงพลังงานเป็นผู้เสนอ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบในหลักการไปแ้ล้ว และชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณีการเพิ่มภาษีสรรพามิตก๊าซแอลพีจีภาคขนส่ง และกรณีนายกรัฐมนตรีมีแนวคิดที่จะให้ภาคขนส่งเลิกใช้ก๊าซแอลพีจีภายใน 2 ปี ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ตรงข้ามประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการเพิ่มภาษีสรรพามิตก๊าซแอลพีจีภาคขนส่ง คัดค้านการยกเลิกการใช้แอลพีจีในภาคขนส่ง มีใจความสำคัญ สรุปได้ว่า 1. ตามที่นายกรัฐมนตรีให้ข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้ LPG ในประเทศ (วันอังคารที่ 9 มิถุนายน 2558) นั้น ยังมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงหลายประเด็นซึ่งอาจจะนำไปสู่การพิจารณาด้านโนบายพลังงานที่ผิดพลาดได้ อันได้แก่ การให้ข้อมูลว่าผู้ใช้ LPG ภาคขนส่งหรือภาคยานยนต์นั้นใช้มากที่สุด มากกว่าครัวเรือนนั้นเป็นข้อมูลที่ผิดจากข้อเท็จจริงซึ่งนาเสนอโดยสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ที่แสดงให้เห็นว่า ภาคปิโตรเคมีใช้มากที่สุด รองลงมาคือ ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าภาคขนส่งหรือภาคยานยนต์ไม่ได้ใช้ LPG มากที่สุด

2. การกล่าวหาจากกระทรวงพลังงานว่าการใช้ LPG ในรถยนต์นั้นเป็นการใช้เชื้อเพลิงผิดประเภทใช้ฟุ่มเฟือย ไม่คุ้มค่า ข้อเท็จจริงนั้น ก๊าซ LPG เป็นพลังงานเชื้อเพลิงที่สะอาดกว่าน้ำมัน เนื่องจากปล่อยมลพิษน้อยกว่า และราคาถูกว่าน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ทำให้ราคา LPG ตลาดโลกลดลงเหลือเพียงลิตรละ 8 บาทหรือประมาณ 14 บาทต่อกิโลกรัม หลายประเทศทั่วโลกทั้งในยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย ส่งเสริมการใช้ LPG ในรถยนต์อย่างแพร่หลาย เช่น ในประเทศออสเตรเลีย มีมาตรการสนับสนุนเงินค่าติดตั้ง LPG ในรถยนต์ และลดภาษีประจำปี ด้วยเหตุผลว่าช่วยลดโลกร้อนในการปล่อยมลพิษน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน

3. ประเด็นแนวคิดที่จะให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตก๊าซ LPG ของภาคขนส่งเพิ่มขึ้น คปพ.เห็นว่า จะทำให้ต้นทุนการให้บริการของรถยนต์สาธารณะสูงขึ้นและเพิ่มภาระกับประชาชน ทั้งนี้ หากรัฐบาลต้องการรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้น ควรจะเก็บจากกลุ่มผู้ใช้ LPG ภาคปิโตรเคมี ซึ่งใช้ LPG ปริมาณมากที่สุดและก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมสูงที่สุดจากขยะพลาสติกที่เป็นผลิตภัณฑ์ของปิโตรเคมี

ข้อ 4. ข้อกล่าวหาที่ว่า การใช้ LPG ในรถยนต์เป็นภาระสำคัญของกองทุนน้ำมันที่ต้องจ่ายเงินชดเชย เป็นผลให้นายกรัฐมนตรี มีความเข้าใจว่าสมควรต้องยกเลิกการใช้ LPG ในภาคขนส่งนั้น แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันกลับปรากฏว่า ราคา LPG ตลาดโลกต่ำกว่าราคา LPG ที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติและโรงกลั่นน้ำมันจำหน่ายให้ประชาชนในประเทศ จึงไม่จำเป็นต้องมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ามันเชื้อเพลิงอีกต่อไป การใช้ LPG ในรถยนต์จึงไม่ใช่ภาระสำคัญของกองทุนน้ามันฯ และไม่มีความจำเป็นต้องยกเลิกการใช้ LPG ในภาคขนส่ง

ข้อ 5. จากกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทางให้กระทรวงพลังงานไปศึกษาหาวิธียกเลิกการใช้ LPG ในภาคขนส่งหรือยานยนต์ภายใน 1-2 ปีนั้น คปพ.ขอชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ใช้รถยนต์ LPG จานวน 1.5 ล้านคัน ที่ได้ลงทุนติดตั้งอุปกรณ์มาแล้ว โดยมีราคาเฉลี่ยติดตั้งคันละ 3 หมื่นบาท รวมมูลค่าที่ลงทุนไปทั้งหมด 4.5 หมื่นล้านบาท เงินลงทุนจำนวนนี้จะสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์หากมีการยกเลิกจริง และหากประชาชนเหล่านี้จะต้องกลับมาใช้น้ามัน จะต้องจ่ายเงินเพิ่มถึงปีละ 56,848 ล้านบาท เป็นภาระค่าครองชีพหรือภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นของประชาชน

ข้อ 6. การที่นายกรัฐมนตรีได้รับข้อมูลมาว่า LPG ในประเทศผลิตได้ไม่พอเพียงจึงต้องนำเข้า เพราะรถยนต์ใช้มากขึ้นนั้น แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า ภาคปิโตรเคมีมีการใช้ LPG ที่เติบโตมากที่สุดแบบก้าวกระโดด และมีปริมาณการใช้สูงกว่ากลุ่มผู้ใช้รายอื่นทั้งหมด

คปพ.จึงเรียนมาเพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีทบทวนนโยบายการบริหารจัดการก๊าซ LPG ให้ประชาชนได้ใช้ LPG เป็นพลังงานทางเลือกอย่างเสรีในโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมให้สอดคล้องกับฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชน โดยขอให้ยกเลิกการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดรวมทั้ง LPG เพราะ ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2558 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีฐานะเงินกองทุนน้ำมันสุทธิมากเกินความจำเป็นถึง 41,990 ล้านบาท และในภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองอยู่ขณะนี้ รัฐบาลไม่ควรเพิ่มภาระให้กับประชาชนด้วยการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นในราคาก๊าซ LPG ภาคขนส่ง

รายละเอียดหนังสือของ คปพ.คัดค้านการเพิ่มภาษีสรรพสามิตก๊าซแอลพีจีภาคขนส่งและการยกเลิกการใช้ก๊าซแอลพีจีในยานยนต์

                                                                                       เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย
                                                                                   ๑๐๒/๑ บ้านพระอาทิตย์ ถนนพระอาทิตย์
                                                                                               แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร
                                                                                                               กรุงเทพ ๑๐๒๐๐

ที่ คปพ. ๐๐๙/๒๕๕๘

                                        วันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘

เรื่อง ข้อเสนอการแก้ไขปัญหา การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตและแนวคิดในการยกเลิกการใช้แอลพีจีในภาคขนส่ง

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ผ่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล)

จากกรณีที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเมื่อวันอังคารที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๘ ซึ่งสร้างความกังวลใจต่อประชาชนชนทั่วไป ผู้ประกอบธุรกิจปั้มก๊าซ LPG ผู้ให้บริการติดตั้งอุปกรณ์ ตลอดจนผู้ใช้รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ เพื่อใช้เป็นรถยนต์รับจ้าง เช่นรถแท็กซี่ รถสามล้อ รถสี่ล้อเล็ก รถบรรทุก รถบัส รถใช้เพื่อการเกษตร เป็นต้น ที่ต้องใช้ก๊าซ LPG สาหรับเป็นเชื้อเพลิง และประเด็นต่างๆ ที่ ฯพณฯ ให้สัมภาษณ์นั้นยังมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนหลายประการ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การตัดสินใจเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายที่ผิดพลาดได้ และสร้างปัญหาต่อประชาชน สร้างภาระค่าครองชีพที่จะต้องแบกรับภาระที่สูงขึ้นตามไปด้วย

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) มีข้อเรียกร้องและนาเสนอข้อมูลต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพื่อนำไปพิจารณาถึงข้อมูลให้รอบด้านและศึกษาผลกระทบ ข้อดี ข้อเสีย ก่อนจะมีการกำหนดนโยบายดังกล่าว ดังนี้

ข้อ ๑. ตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีให้ข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้ LPG ในประเทศนั้น ยังมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง หลายประเด็น ซึ่ง อาจจะนาไปสู่การพิจารณาด้านโนบายพลังงานที่ผิดพลาดได้ อันได้แก่ การให้ข้อมูลว่าผู้ใช้ LPG ภาคขนส่งหรือภาคยานยนต์นั้นใช้มากที่สุด มากกว่าครัวเรือนนั้นเป็นข้อมูลที่ผิดจากข้อเท็จจริงซึ่งนาเสนอโดยสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ที่แสดงให้เห็นว่า ภาคปิโตรเคมีใช้มากที่สุด รองลงมาคือ ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า ภาคขนส่งหรือภาคยานยนต์ไม่ได้ใช้ LPG มากที่สุด

ข้อ ๒. การกล่าวหาจากกระทรวงพลังงานว่าการใช้ LPG ในรถยนต์นั้นเป็นการใช้เชื้อเพลิงผิดประเภทใช้ฟุ่มเฟือย ไม่คุ้มค่า ซึ่งข้อเท็จจริงนั้น ก๊าซ LPG เป็นพลังงานเชื้อเพลิงที่สะอาดกว่าน้ำมัน เนื่องจากปล่อยมลพิษน้อยกว่า และราคาถูกว่าน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ทำให้ราคา LPG ตลาดโลกลดลงเหลือเพียงลิตรละ ๘ บาทหรือประมาณ ๑๔ บาทต่อกิโลกรัม จึงไม่ได้เป็นราคาที่สูงตามที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้รับข้อมูลจากกระทรวงพลังงานแต่อย่างใด ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้หลายประเทศทั่วโลกทั้งในยุโรป เอเซีย ออสเตรเลีย ส่งเสริมการใช้ LPG ในรถยนต์อย่างแพร่หลาย เช่น ในประเทศออสเตรเลีย มีมาตรการสนับสนุนเงินค่าติดตั้ง LPG ในรถยนต์ และลดภาษีประจำปี ด้วยเหตุผลว่าช่วยลดโลกร้อนในการปล่อยมลพิษน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน

ข้อ ๓. ประเด็นแนวคิดที่จะให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตก๊าซ LPG ของภาคขนส่งเพิ่มขึ้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เห็นว่า หากมีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตกับ LPG ภาคขนส่ง จะทำให้ต้นทุนการให้บริการของรถยนต์สาธารณะสูงขึ้นและเพิ่มภาระกับประชาชน ทั้งนี้ หากรัฐบาลต้องการรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้น ควรจะเก็บจากกลุ่มผู้ใช้ LPG ภาคปิโตรเคมี ซึ่งใช้ LPG ปริมาณมากที่สุดและก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมสูงที่สุดจากขยะพลาสติกที่เป็นผลิตภัณฑ์ของปิโตรเคมี แต่ปัจจุบัน LPG ที่ใช้ในภาคปิโตรเคมีไม่ถูกเก็บภาษีสรรพสามิตเลย หากอ้างอิงข้อมูลจาก ปริมาณการใช้ ปี ๒๕๕๗ หากมีการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตกับ LPG ที่ใช้ในภาคปิโตรเคมี จะสามารถจัดเก็บรายได้เข้ารัฐถึง ๖ พันล้านบาท

ข้อ ๔. ข้อกล่าวหาที่ว่า การใช้ LPG ในรถยนต์เป็นภาระสำคัญของกองทุนน้ำมันที่ต้องจ่ายเงินชดเชย เป็นผลให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี มีความเข้าใจว่าสมควรต้องยกเลิกการใช้ LPG ในภาคขนส่งนั้น แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันกลับปรากฏว่า ราคา LPG ตลาดโลกต่ำกว่าราคา LPG ที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติและโรงกลั่นน้ำมันจำหน่ายให้ประชาชนในประเทศ จึงไม่จำเป็นต้องมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอีกต่อไป การใช้ LPG ในรถยนต์จึงไม่ใช่ภาระสำคัญของกองทุนน้ำมันฯ และไม่มีความจำเป็นต้องยกเลิกการใช้ LPG ในภาคขนส่ง ตามที่ ฯพณฯนายกรัฐมนตรีได้รับข้อมูลมา

ข้อ ๕. จากกรณีที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนวทางให้กระทรวงพลังงานไปศึกษาหาวิธียกเลิกการใช้ LPG ในภาคขนส่งหรือยานยนต์ภายใน ๑-๒ ปีนั้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ขอชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ใช้รถยนต์ LPG จานวน ๑.๕ ล้านคัน ที่ได้ลงทุนติดตั้งอุปกรณ์มาแล้ว โดยมีราคาเฉลี่ยติดตั้งคันละ ๓ หมื่นบาท รวมมูลค่าที่ลงทุนไปทั้งหมด ๔.๕ หมื่นล้านบาท เงินลงทุนจำนวนนี้จะสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์หากมีการยกเลิกจริง โดยมิใช่ความผิดของผู้ประกอบการธุรกิจก๊าซรถยนต์และผู้ใช้รถยนต์ LPG แต่เป็นความผิดพลาดในนโยบายสาธารณะของรัฐบาลหลายคณะต่อเนื่องกัน ซึ่งรัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

หากประชาชนเหล่านี้จะต้องกลับมาใช้น้ามัน โดยประเมินจากข้อมูลทางสถิติ ผู้ใช้ LPG ทั้งปี ๒๕๕๗ ใช้ LPG จานวน ๓,๕๕๓ ล้านลิตร โดยอัตราสิ้นเปลืองเท่าๆ กับน้ำมันเบนซิน หากใช้ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ย ณ ปัจจุบันลิตรละ ๓๐ บาท ใน ขณะที่ LPG ลิตรละ ๑๔ บาท จะทำให้ประชาชนมีภาระค่าครองชีพเพิ่มขึ้นลิตรละ ๑๖ บาท หากคิดเป็นมูลค่าหรือจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายเพิ่ม จะเป็นจำนวนเงินมากถึงปีละ ๕๖,๘๔๘ ล้านบาท ทั้งหมดนี้จะเป็นภาระค่าครองชีพหรือภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นของประชาชน และผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายที่ไม่เป็นธรรมนี้ จะมีแต่ภาคปิโตรเคมีที่ใช้ LPG แต่เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น

ข้อ.๖ การที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้รับข้อมูลมาว่า LPG ในประเทศผลิตได้ไม่พอเพียงจึงต้องนำเข้า เพราะรถยนต์ใช้มากขึ้นนั้น แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า ภาคปิโตรเคมีมีการใช้ LPG ที่เติบโตมากที่สุดแบบก้าวกระโดด และมีปริมาณการใช้สูงกว่ากลุ่มผู้ใช้รายอื่นทั้งหมด ซึ่งจะเป็นผลทำให้เกิดความขัดแย้งต่อนโยบายของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การให้ภาคปิโตรเคมีได้ใช้ LPG อย่างไม่มีข้อจำกัด จนเกิดความขาดแคลนและต้องมีการนำเข้าก๊าซ LPG จากต่างประเทศแต่ภาระและความเดือดร้อนทั้งหมดกลับถูกผลักให้ประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม เพียงเพื่อสนองความร่ำรวยของผู้ถือหุ้นไม่กี่คน ยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและไม่เป็นธรรมต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) จึงเรียนมาเพื่อขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ทบทวนนโยบายการบริหารจัดการก๊าซ LPG ให้ประชาชนได้ใช้ LPG เป็นพลังงานทางเลือกอย่างเสรีในโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมให้สอดคล้องกับฐานะทางเศรษฐกิจของประชาชน โดยขอให้ยกเลิกการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดรวมทั้ง LPG เพราะ ณ วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีฐานะเงินกองทุนน้ำมันสุทธิมากเกินความจำเป็นถึง ๔๑,๙๙๐ ล้านบาท และในภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองอยู่ขณะนี้ รัฐบาลไม่ควรเพิ่มภาระให้กับประชาชนด้วยการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นในราคาก๊าซ LPG ภาคขนส่ง

                                          จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและพิจารณา

                                                  ขอแสดงความนับถือ
                                        เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย

ติดต่อประสานงาน : นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โทรศัพท์ ๐๘-๑๔๐๑-๘๙๔๕ โทรสาร ๐-๒๒๘๑-๑๗๐๘
อีเมล parnthep.p@gmail.com


กำลังโหลดความคิดเห็น