xs
xsm
sm
md
lg

“มนูญ” เสียงอ่อนหนุนเพิ่ม “แบ่งปันผลผลิต” ปิโตรเลียม - “รสนา” หนุนรีดภาษีสรรพสามิต ปตท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ที่ประชุม สปช. พิจารณารายงาน กมธ. ปฏิรูปพลังงาน “ทองฉัตร” โทษรัฐบาลที่ผ่านมาใช้ประชานิยมอุ้มราคาทำบิดเบือน “มนูญ” แจงเป้าหมายสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ใช้พลังงานทุกกลุ่ม เสียงอ่อนหนุน “แบ่งปันผลผลิต” เพิ่มทางเลือก “รสนา” ย้ำกิจการพลังงานควรจะเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานทำราคาต่ำที่สุด ดันไทยแข่งขันในเวทีเออีซีได้ หนุนเก็บภาษีสรรพาสามิต ปตท. พร้อมห้ามผูกขาดธุรกิจพลังงาน แนะแก้จัดเก็บกองทุนน้ำมัน เหตุไม่มีกฎหมายรองรับ

วันนี้ (11 พ.ค.) ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มี น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธาน ได้มีการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน วาระปฏิรูปที่ 10 ระบบพลังงาน โดย นายทองฉัตร หงส์ลดารมย์ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปพลังงาน สปช. ชี้แจงหลักการว่า จากการใช้ก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในประเทศคิดเป็น 70% ทำให้มีไม่พอใช้ ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตและพลังงานสำรองในอ่าวไทยลดลง แต่ความต้องการในการใช้เพิ่มขึ้นมากขึ้นทำให้จำเป็นต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเข้าเสริมการผลิต แต่ด้วยราคาก๊าชดังกล่าวมีราคาแพงเกินเท่าตัว ทำให้ราคาไฟฟ้าแพงขึ้น 50% ดังนั้น เพื่อความเหมาะสม สมควรใช้ถ่านหินและพลังงานนิวเคลียร์ จึงมีความเหมาะสมกว่า

“รัฐบาลที่ผ่านมาใช้นโยบายประชานิยม เพื่ออุ้มราคา จนทำให้ราคาพลังงานบิดเบือนไม่สะท้อนข้อมูลแท้จริง จนประชาชน ผู้บริโภค ถูกจำกัดบทบาท ขณะที่ผู้ประกอบการขาดอิสระในการดำเนินการ เป็นเหตุให้กระทบต่อต้นทุน ดังนั้น การใช้นโยบายประชานิยม ไม่ก่อเกิดการประหยัดและทั้งระบบไม่สอดคล้อง กระทบต่อพลังงานโดยรวม โดย กมธ. พลังงานได้ออกแบบพลังงานที่สอดคล้องบนพื้นฐานเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ มั่นคง ไม่ขาดแคลน มีสำรองพอเพียงใช้แข็งขัน ด้วยการเพิ่มบทบาทประชาชนในการ ใช้ ผลิต และจำหน่าย เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ติดตาม ตรวจสอบ รวมถึงกำกับ” นายทองฉัตร กล่าว

ขณะที่ นายมนูญ ศิริวรรณ ประธานอนุ กมธ. ปฏิรูปทรัพยากรปิโตรเลียมและราคาพลังงาน ชี้แจงว่า กรอบหลักการปฏิรูประบบพลังงาน ซึ่งเป็นกรอบยังไม่เสร็จ เป็นเพียงข้อคิดและหลักการเท่านั้น โดยเป้าหมาย คือ สร้างความเป็นธรรมต่อผู้ใช้พลังงานทุกกลุ่ม นอกจากนี้ ลดการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงเพื่อสะท้อนต้นทุนแท้จริง อีกทั้ง การอุดหนุนมุ่งไปที่ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงลดการแทรกแซงควบคุมจากภาครัฐ และขจัดการผูกขาดทั้งโดยภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมการแข่งขันเสรี การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อสร้างความโปร่งใส ธรรมาภิบาลในการกำหนดราคา

นายมนูญ กล่าวอีกว่า จากการศึกษาโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงทั้งระบบตั้งแต่ ต้นน้ำ หน้าโรงกลั่น โครงสร้างภาษี ขายปลีก และจากการพิจารณาของอนุ กมธ. เห็นว่าระบบบริหารจัดการปิโตรเลียมปัจจุบันนี้ ยึดการให้สัมปทาน ซึ่งเหมาะกับในอดีต แต่ปัจจุบันมีความจำเป็นต้องเพิ่มทางเลือกในการจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม และเห็นด้วยต่อการใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือจ้างผลิต และการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2546 ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่ง ไทยขุดน้ำมันได้เพียง 16% ที่เหลือคือการนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น การค้นพบควรใช้ราคาตลาดโลกเพื่อให้ราคามีความเหมาะสม

“รัฐบาลแต่ละชุดที่เข้ามา สามารถกำหนดราคาปิโตรเลียม เพื่อให้เกิดความเหมาะสม เพื่อนำรายได้เข้าสู่งบประมาณแผ่นดิน หรืออุดหนุนพลังงานให้ถูกลง ซึ่งไม่เกี่ยวกับระบบบริหารจัดการปิโตรเลียม ดังนั้น ไม่ควรใช้สูตรนำเข้าเพื่ออ้างอิงราคา” นายมนูญ กล่าว

ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานอนุ กมธ. ชี้แจงว่า มูลค่าปิโตรเลียมภายในประเทศมีมูลค่ามากกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี หากมีกระบวนที่ออกกฎหมายให้ใช้ระบบอื่นนอกเหนือจากสัมปทานก็จะทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์มากขึ้น ในประเด็นสัมปทานมีข้อน่าสังเกตคือกิจการให้สัมปทานปิโตรเลียมในอดีต ปัจจุบันมี 2 แปลงที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในอีก 7 ปีข้างหน้า การให้สัมปทานก็ยังเจอปัญหาเพราะในช่วงที่เป็นรอยต่อของการให้สัมปทานโดยเฉพาะแปลงที่ยังมีปิโตรเลียมเหลืออยู่ รัฐจะเข้าไปดำเนินการไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหาว่าในช่วง 5 ปีก่อนหมดสัมปทานรัฐไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องได้ เพราะจะเจอปัญหาว่าถ้าไม่ให้เจ้าเก่าก็จะลดการพัฒนา การสำรวจ และรัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ จึงทำให้เกิดแรงผลักดันต้องอาศัยผู้รับสัมปทานรายเดิม

น.ส.รสนา กล่าวว่า ในอดีตก่อนการแปรรูปพลังงานของไทยราคาน้ำมันเทียบกับมาเลเซียใกล้เคียงกัน แต่หลังจากการแปรรูปแล้ว ราคาพลังงานของไทยแพงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งข้อสังเกตว่ากิจการพลังงานควรจะเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานควรทำให้มีราคาต่ำที่สุดโดยประสิทธิภาพ และการแข่งขัน ไม่ใช่จากการอดุหนุน เพราะต้นทุนพลังงานเป็นต้นทุนทางตรงของกิจการด้านเรียลเซ็กเตอร์ทุกชนิด หากทำราคาต้นทนให้ต่ำที่สุดอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้อย่างอื่นสามารถแข่งขันได้ โดยเพราะเมื่อเรากำลังจะเปิดเออีซี ราคาสินค้าที่มีต้นทุนพลังงานที่สูงจะแข่งขันกับประเทศอื่นไมได้ จึงเป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่ตนเห็นแตกต่างกับกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน โดยตนเห็นว่า หากเรามุ่งหากำไรตั้งแต่ต้นทางจะทำให้ราคาสินค้าต่างๆลดลงไม่ได้ เพราะราคาพลังงานเป็นเรื่องสำคัญต่อราคาต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยที่อยู่ที่ 19 - 20% ต่อจีดีพี ขณะที่ของประเทศอื่นต้นทุนต่ำกว่ามากเช่นสิงค์โปร 7% มาเลเซีย 10%

ทั้งนี้ กมธ. เห็นพ้องต้องกันว่าต้องลดการผูกขาดและเพิ่มการแข่งขันให้มากขึ้น เช่น โรงกลั่นน้ำมันที่มีการผูกขาดโดย ปตท. ที่ผูกขาด 5 โรงใน 6 โรง แม้ ปตท. จะขายบางจากไปแล้วแต่การผูกขาดยังมีอยู่ เพราะโรงกลั่นอีก 4 โรง ที่ ปตท. ถือหุ้นใหญ่ ยังเป็นบริษัทที่ผลิตน้ำมันเพื่อการใช้ในประเทศสูงที่สุด ฉะนั้นยังเกิดการผูกขาดราคาได้อยู่ หากจะเปลี่ยนมาให้มีการแข่งขันอย่างเสรี โดยราคาควรจะเป็นราคาที่โรงกลั่นน้ำมันส่งออก แต่ก็มีข้อถกเถียงว่าโรงกลั่นอาจจะมีปัญหา ดังนั้น ควรแก้ปัญหาโดยกำหนดว่าราคาที่ขายหน้าโรงกลั่นให้กับคนไทยต้องไม่สูงกว่าราคาอ้างอิงในสิงคโปร์ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับประชาชน และให้ทุกโรงกลั่นทำรายงานซื้อขายจริงภายในประเทศ และที่ส่งออกไปต่างประเทศเป็นรายวัน และให้หน่วยงานกำกับเผยแพร่รายงานนี้ในรูปของเว็บไซต์ที่ประชาชนเข้าใจง่าย และมีราคาของสิงคโปร์แต่ละวันประกาศไว้บนเว็บไซต์ด้วย หากมีการตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ตนเชื่อว่าการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง

ส่วนการยกเลิกมติ ครม. ในการจัดสรรก๊าซแอลพีจี ที่ผลิตในประเทศให้กับภาคใดภาคหนึ่งเป็นอันดับแรก ในอดีตครัวเรือนจะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยถือว่าเป็นปริมาณที่เป็นหลักอยู่แล้ว เวลานี้อยู่ระหว่าง 80% ขึ้นไป แต่ต่อมาปี 2551 มีการออกมติ ครม. ให้ปิโตรเคมีมาใช้ร่วมด้วย เนื่องจากเป็นธุรกิจก๊าซธรรมชาติผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ก่อนที่จะมีการแปรรูปนโยบายของรัฐบาลสมัยนั้นระบุให้แยกกิจการก๊าซออกจากกิจการจัดหาและจัดจำหน่าย โดยให้ ปตท. ถือว่า 100% โดยไม่ตองการให้แปรรูปทั้งองค์กร แต่ต้องการให้การปิโตรเลียมซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจยังคงอยู่และบริหารกิจการต่อไป เลยทำให้กิจการก๊าซตกเป็นของบริษัท ปตท. ดังนั้น เมื่ออนุกรรมาธิการเสนอให้ยกเลิกมติดังกล่าวจึงแปลว่าให้ยกเลิกในส่วนของครัวเรือน เพราะในส่วนของปิโตรเคมีเป็นบริษัทลูกของ ปตท. เป็นส่วนใหญ่

“แต่ที่มีการโต้แย้งในสังคม เพราะปิโตรเคมีใช้ก๊าซ ซึ่งเป็นกระเป๋าซ้าย กระเป๋าขวา ในราคาที่ถูกกว่าประชาชน ขณะที่มีการเปลี่ยนนโยบายให้ขึ้นราคาเท่ากับทุกภาคส่วนทั้งราคาครัวเรือน ยานยนต์ อุตสาหกรรมอื่น รวมถึงปิโตรเคมี ซึ่งดูเหมือนจะดี แต่หากกิจการก๊าซเป็นของประเทศ เราขายราคาเท่ากันหมดเงินมันเข้ากองกลาง แต่เวลานี้กิจกนี้ยังเป็นของเอกชนมีส่วนถือหุ้นอยู่ 49% ทำให้ภาคปิโตรเคมียังได้ประโยชน์มากกว่าภาคประชาชน และเวลานี้น้ำมันตลาดโลกลดลง ราคาก๊าซเรากลับขึ้นราคาสวนทาง คือ ราคาภายในประเทศแพงกว่าราคานำเข้า ถ้าเรายังอยู่ในสภาพเช่นนี้ครัวเรือนควรจะได้รับสิทธิประโยชน์ในฐานะที่ก๊าซเป็นทรัพยากรภายในประเทศ ดิฉันยังไม่เห็นด้วยกับการที่ใช้ราคาเดียวถาตราบที่สภาพการณ์ยังเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเมื่อไหร่รัฐเป็นเจ้าของกิจการนี้บริหารด้วยมืออาชีพ เราขายราคาเท่ากันได้ และทีดีอาร์ไอก็ไม่ได้เสนอเพียงแค่ให้ราคาเท่ากันทุกภาคส่วนเท่านั้น แต่เห็นว่าส่วนที่เป็นมรดกของประเทศควรกลับเข้ามาในประเทศในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง” น.ส.รสนา กล่าว

ส่วนการกำหนดเรื่องภาษีสรรพสามิตให้อยู่ในระดับเดียวกัน ตนคิดว่าเวลานี้เราเก็บภาษีสรรพสามิตแบบไม่มีหลักการหรือระบบเท่าที่ควร เสนอว่าควรเก็บแบบขั้นบันไดและไม่ควรเกิน 10% ของราคาหน้าโรงกลั่น เช่น เวลานี้เบนซิน 95 เก็บอยู่ที่ 36% ดีเซลอยู่ที่ 27% และก๊าซแอลพีจี 13% แต่ปิโตรเคมีไม่ได้เก็บเลย ตนคิดว่าการเก็บภาษีสรรพสามิตควรเก็บตามแนวทางกิจการ เช่น ที่ก่อให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อม กิจการฟุ่มเฟือย หรือได้รับการชดเชยเป็นกิจการที่รัฐให้การอุดหนุนเป็นพิเศษ ควรจะเก็บอย่างมีหลักการ มิเช่นนั้นปิโตรเคมีจะอ้างว่าเอาไปผลิตเป็นวัตถุดิบ ไม่ต้องเสียภาษีเพราะสินค้าดังกล่าวทำให้เกิดขยะพลาสติกจำนวนมาก ควรจะต้องเพิ่มการเก็บภาษีในส่วนนี้ให้มากขึ้น

ส่วนกองทุนน้ำมันที่จัดเก็บเหมือนการเก็บภาษี น.ส.รสนา กล่าวว่า การเก็บเงินภาษีโดยไม่มีกฎหมายรองรับเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและผู้ตรวจการแผ่นดินเคยเสนอเรื่องนี้ว่าเป็นการเก็บแบบภาษีหากไม่มีกฎหมายก็ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่รัฐบาลนี้บริการบ้านเมืองมาเกือบปีแล้วก็ยังไม่จัดการกับเรื่องนี้ได้ กองทุนน้ำมันมีการเอาไปใช้โดยไม่มีการตรวจสอบ จึงจำเป็นต้องแก้ไขไม่ควรให้เก็บลักษณะนี้อีกต่อไป และยิ่งหากราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนทั้งหมดเหมือนที่รัฐบาลทำ จะกลายเป็นว่ากองทุนน้ำมันจะกลายเป็นภาระให้กับประชาชน โดยอ้างความกลัวในอนาคต แต่ประชาชนได้รับภาระในปัจจุบัน ตนคิดว่าหากเก็บภาษีสรรพาสามิตให้อย่างมีหลักการเป็นขั้นบันได ออกกฎหมายกองทุนน้ำมัน และลดจำนวนกองทุนลง เชื่อว่าราคาน้ำมันก็จะใกล้เคียงกับสภาพที่ควรจะเป็น เมื่อราคาลดลง จะทำให้คนไม่หนีตายไปใช้ก๊าซแอลพีจีในรถยนต์ การขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี 7 บาทต่อลิตร ประชาชนต้องแบกรับภาระมากเกินไป และคิดว่าการปฏิรูปโครงสร้างพลังงานยังผิดฝาผิดตัวอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งจะต้องมีการขัดเกลาในรายงานมากกว่านี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานดังกล่าวระบุกรอบในการปฏิรูประบบพลังงานของประเทศไทย มี 7 ประการ คือ 1. ลดและกำกับกิจการที่มีการผูกขาดทำให้มีการค้าเสรีและมีการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม 2. ส่งเสริมให้มีการผลิตพลังงานทั้งที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน และชีวภาพอย่างเต็มศักยภาพ 3. จัดให้มีระบบโครงสร้างพื้นที่ฐานการผลิตและการสำรองพลังงาน เพื่อความมั่นคงทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพอย่างมีประสิทธิภาพ 4. ให้ประชาชนมีสิทธิและมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายพลังงาน รวมทั้งติดตาม ตรวจสอบและกำกับการดำเนินนโยบายรัฐของรัฐ 5. ส่งเสริมบทบาทของประชาชนและชุมชน ให้เป็นทั้งผู้ใช้ ผู้ผลิตและจำหน่ายพลังงาน รวมทั้งดูแลผู้มีรายได้น้อยให้มีพลังงานพอเพียงใช้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน 6. จัดทำศูนย์ข้อมูลกลางด้านพลังงานที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งเป็นพื้นฐานของระบบรับรองความโปร่งใสด้านกิจการพลังงาน และ 7. ปลูกฝังความตระหนักรู้และส่งเสริมให้มีการรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน ทั้งในส่วนของประชาชน ชุมชนและผู้ประกอบการ

ส่วนกรอบแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างระบบบริหารจัดการและกำกับกิจการพลังงานของชาติ มีแนวทางที่น่าสนใจ อาทิ แยกกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มีการผูกขาดโดยธรรมชาติเป็นเอกเทศจากกิจการอื่นๆ โดยสร้างองค์กรของรัฐให้เป็นผู้ดำเนินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มีการผูกขาดโดยธรรมชาติดังกล่าวเป็นการเฉพาะ รวมทั้งให้ภาคเอกชน (ที่ทำกิจการผลิตและ/หรือจำหน่าย) มีสิทธิใช้โครงสร้างพื้นฐานอย่างเท่าเทียม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เพิ่มทางเลือกของระบบการให้อนุญาตสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้หลายระบบที่ไม่จำกัดเฉพาะระบบการให้สัมปทาน โดยภาครัฐควรปรับปรุง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และจัดให้มีองค์ของรัฐที่จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมด้วยการลงทุนเองหรือร่วมทุนกับเอกชน โดยมีบทบัญญัติว่าด้วยประโยชน์และสิทธิและหน้าที่ แตกต่างจากการเป็นผู้รับสัมปทาน โอนย้ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มาอยู่ในสังกัดของกระทรวงพลังงาน เช่นเดียวกันกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อเพิ่มประสิทธิผลและเพื่อเอกภาพของการกำหนดและดำเนินนโยบายด้านกิจการไฟฟ้า รวมทั้งให้ปรับปรุง พ.ร.บ. กฟภ. และ พ.ร.บ. กฟน. เป็นต้น ขณะเดียวกัน กรอบแนวทางการปฏิรูปสำหรับการปฏิรูปกิจการไฟฟ้า คือ ลดการผูกขาดในกิจการไฟฟ้าทั้งระบบ โดยแยกกิจการสายส่ง และกิจการบริหารระบบไฟฟ้าออกจาก กฟผ. เป็นองค์กรใหม่โดยเฉพาะและให้ผู้ผลิตไฟฟ้ามีสิทธิส่งไฟฟ้าเข้าระบบแบบ Third Party Access พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการผลิตและซื้อขายไฟฟ้าเสรี

อย่างไรก็ตาม ในรายงานยังระบุปัญหาพลังงานว่า การดำเนินนโยบายพลังงานยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง และในบางกรณีก็ทำให้เกิดปัญหาใหม่ๆ เช่น ภาครัฐมีการกำกับควบคุมกิจการพลังงานในระดับสูง ซึ่งไม่อำนวยต่อการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เช่น การแทรกแซงราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงผ่านบริษัท ปตท. และการควบคุมค่าการตลาด จนทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องประสบปัญหาการขาดทุนและปิดสถานีบริหารน้ำมันหรือขายธุรกิจ ทำให้บริษัท ปตท.มีส่วนแบ่งในตลาดค้าปลีกน้ำมันมากที่สุดดังในปัจจุบัน รัฐบาลในอดีตได้แทรกแซงในตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงโดยการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซแอลพีจี และน้ำมันดีเซล การอุดหนุนและการตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเหล่านี้ ได้ทำให้มีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่รู้คุณค่า และทำให้เกิดการบิดเบือนในตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้น












กำลังโหลดความคิดเห็น