สมาคมธุรกิจก๊าซยานยนต์ไทยระดมพลเตรียมยื่นหนังสือถึงบิ๊กตู่ 19 พ.ค.นี้คัดค้านการขึ้นภาษีสรรพสามิตแอลพีจี ขึ้นทะเบียนป้ายและอุปกรณ์นำเข้าแอลพีจีเพื่อเบรกการใช้ในภาคขนส่ง ขู่ธุรกิจเสียหาย 4.5 หมื่นล้านบาทต่อปี
นายสุรศักดิ์ นิตติวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจก๊าซยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ จะรวมตัวไปยื่นหนังสือคัดค้านแนวคิดกระทรวงพลังงานที่จะปรับขึ้นภาษีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ให้เท่ากับน้ำมัน ขอให้กรมการขนส่งทางบกปรับขึ้นภาษีป้ายทะเบียนและอุปกรณ์นำเข้ารถยนต์ที่ติดแอลพีจี ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลวันที่ 19 พ.ค.นี้ เนื่องจากเห็นว่าหากนโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นจริงจะกระทบต่อผู้ประกอบการรับติดตั้งก๊าซแอลพีจีกว่า 1,000 แห่ง สถานีบริการก๊าซแอลพีจีทั่วประเทศ 1,900-2,000 แห่ง และมีพนักงานตกงานประมาณ 30,000 คน รวมทั้งผู้ขับรถที่ใช้แอลพีจีกว่า 1.2-1.5 ล้านคัน ก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 45,000 ล้านบาทต่อปี
“ตัวแทนสมาคมฯ ทั้งส่วนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จะมารวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้าน เพราะไม่เช่นนั้นธุรกิจทั้งระบบคงเสียหายหนัก ซึ่งปัจจุบันมีผู้จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกประมาณ 1.23 ล้านคัน แต่ถ้ารวมไม่จดทะเบียนด้วยจะสูงถึง 1.4-1.5 ล้านคัน อยากให้ความเป็นธรรมต่อคนกลุ่มนี้ด้วย ส่วนเครือข่ายภาคประชาชนที่ใช้ก๊าซแอลพีจีในภาคขนส่งจะไปยื่นหนังสือในวันที่ 26 พ.ค.นี้” นายสุรศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้ สมาคมฯ ไม่ได้คัดค้านแนวคิดรัฐบาลที่มีการปรับโครงสร้างราคาแอลพีจีไปสู่ระบบลอยตัว ซึ่งปัจจุบันราคาแอลพีจีอยู่ระดับ 23.96 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 14 บาทต่อลิตรนั้นถือว่าเหมาะสมแล้ว ซึ่งหากมีการจำหน่ายในระดับที่ต่ำกว่าต้นทุนก็จะทำให้ บมจ.ปตท.ในฐานะผู้ผลิตจะไม่มีแรงจูงใจขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้ แต่กรณีกระทรวงพลังงานระบุว่าต้องการลดการใช้แอลพีจีภาคขนส่งไม่เห็นด้วยเพราะการใช้ก๊าซแอลพีจีในประเทศแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคปิโตรเคมี ต้องการให้บริหารการใช้ก๊าซให้เพียงพอทั้ง 3 กลุ่ม