xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เด้ง “อารีพงศ์” ดัน “คุรุจิต" ทิ้งทวนเปิดสัมปทาน "ปิยสวัสดิ์" หนุนสุดตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป็นไปตามคาดหมายไม่ช้าก็เร็ว นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม จะต้องถูกเด้งพ้นตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน เพราะอยู่ผิดที่ผิดทาง และในที่สุด “เสือข้ามห้วย” ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งขึ้นมาขัดตาทัพช่วงยึดอำนาจ ก็ต้องหันหลังกลับถิ่นเดิม

อย่างที่นายอารีพงศ์ว่า ที่นี่มีเจ้าของ มีเจ้าที่ แถมเจ้าที่มีอิทธิฤทธิ์แรงเสียด้วย

การโยกย้ายนายอารีพงศ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2558 เป็นเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ให้คำอธิบายว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาไม่มีอะไรในกอไผ่และยังจะมีการโยกย้ายเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ ซึ่งความจริงก็อาจเป็นเช่นนั้น ถ้าหากไม่มีแมงเมาท์ข่าวลือผ่านสื่อยักษ์ใหญ่หัวสีว่างานนี้ “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อยู่เบื้องหลังคำสั่งย้ายด้วยเหตุที่ว่าทำงานไม่เข้าขากัน

ดีกรีความแรงยังเล่นกันหนักถึงระดับที่ว่าถ้าไม่มีการย้ายนายอารีพงศ์ ออกไป หม่อมอุ๋ย จะยกทีมเศรษฐกิจลาออกเลยทีเดียว ทำให้ หม่อมอุ๋ย ต้องออกมาแก้ข่าวในวันรุ่งขึ้นว่า สื่อยักษ์ใหญ่ชอบหวือหวากับตัวเองอยู่เรื่อยทีทหารหละไม่กล้า และบอกว่านายอารีพงศ์ เหมาะทั้งที่จะเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และปลัดกระทรวงพลังงาน เมื่อ ก.พ.ร. ขอมา แล้วกระทรวงพลังงานไม่ว่าอะไร ตนเองก็แค่เซ็นตามที่เสนอมาเท่านั้น

แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่ หากมองตามเนื้อผ้าแล้ว นายอารีพงศ์ ร่ำเรียนและเติบโตมา ในสายงานด้านการเงิน การคลัง การได้ทำงานในที่ที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถจะเป็นเรื่องดีกว่ามาหันรีหันขวางอยู่ที่กระทรวงพลังงาน ซึ่งที่นี่หากไม่ใช่ลูกหม้อหรือคนที่อยู่ในแวดวงพลังงานมาก่อนก็อยู่ยากเพราะเจ้าที่เขาแรงอย่างว่า

เว้นเสียแต่เป็นคนที่ทางการเมืองตั้งใจส่งมาเพื่อภารกิจลับเฉพาะอย่างเช่น นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คนแรก มือขวาของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มาเพื่อเร่งรัดการแปรรูป ปตท. อย่างนั้นถึงจะอยู่ได้

แล้วนายอารีพงศ์ ถูก คสช. ส่งมาที่กระทรวงพลังงาน ด้วยภารกิจใด

นอกเหนือไปจากเหตุผลที่ว่า คสช. คิดอะไรไม่ออกแต่บอกใครไม่ได้ในช่วงรอยต่อการยึดอำนาจ จึงลงมือโยกข้าราชการระดับสูงสุดคือปลัดกระทรวงทั้งหลายแหล่ ออกจากที่ตั้งเดิมให้มากองอยู่ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจากคำสั่ง คสช.เมื่อเดือนมิ.ย. 2557 นั้น เป็นผลให้นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน ย้ายก้นพ้นเก้าอี้แล้วนายอารีพงศ์ ก็เข้าเสียบแทน

เหตุผลไม่ใช่เพราะนายอารีพงศ์ มากความสามารถด้านพลังงาน แต่เพราะคุ้นเคยใกล้ชิดกับบิ๊ก คสช.คือ พล.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. ที่รั้งตำแหน่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของ คสช.ด้วยว่าเคยร่วมเป็นบอร์ดการบินไทยมาก่อน

หากถามอีกครั้งว่านายอารีพงศ์ ถูกส่งมาด้วยภารกิจใด ทั้งนายอารีพงศ์ และ คสช. ก็คงตอบได้ไม่ชัด เพราะตอนนั้นและตอนนี้ด้วยอาจยังงงๆ จับต้นชนปลายไม่ถูก ขณะที่ข้าราชการเจ้าถิ่นของกระทรวงพลังงานเขารู้ว่างานใหญ่ของกระทรวงในช่วงนี้หามีเรื่องใดสลักสำคัญไปกว่าเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 และสัมปทานปิโตรเลียมในแปลงสำคัญ 2 แหล่งใหญ่ในประเทศ คือ แหล่งบงกช และเอราวัณ จะหมดสัมปทานในปี 2565, 2566 จะต้องเจรจาต่ออายุสัญญาสัมปทานกับเจ้าเดิมให้ต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

แต่พอมีการยึดอำนาจ แผนการเจรจาต่ออายุสัมปทาน และการเปิดสัมปทานรอบใหม่ก็สะดุด หนำซ้ำยังมีความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเข้ามาสอดแทรก เรียกร้องให้ปฏิรูป พลังงานทั้งโครงสร้างยุ่งไปหมด แล้วอย่างนี้ ปลัดกระทรวงพลังงานมือใหม่อย่างนายอารีพงศ์ จะรับมือได้อย่างไร

ยิ่งนานวัน นายอารีพงศ์ ซึ่งจะต้องเป็นคนชงคนตบลูกให้เข้าเป้า สร้างผลงานให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงมีอะไรไปอวดโอ่ในวันแถลงผลงานใหญ่ของรัฐบาล คสช. ก็ใส่คอนเวิร์สเดินไปทางใครทางมันกับเจ้ากระทรวง จนในที่สุดก็มีบทลงเอยเช่นนี้ ดังที่ขาเม้าท์เฝ้ากระทรวงร่ำลือกัน ว่า สาเหตุหลักที่นายอารีพงศ์ เด้งจากเก้าอี้มาจากการเสนอของฝ่ายการเมืองให้สลับตำแหน่ง เพราะการทำงานของนายอารีพงศ์และทีมงานของนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.กระทรวงพลังงาน ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ข้าราชการทำงานลำบากจึงต้องสั่งย้ายเพื่อความคล่องตัว

หากติดตามการแถลงผลงานของกระทรวงพลังงาน จะเห็นร่องรอยความผิดหวังและยอมรับความล้มเหลวอย่างหน้าชื่นอกตรมของเจ้ากระทรวงพลังงาน ที่ว่าไม่สามารถผลักดันให้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ได้ ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนของประเทศในภาพรวม เมื่อประจวบเหมาะกับเศรษฐกิจของประเทศที่โงหัวไม่ขึ้น จึงทำให้ความรู้สึกถึงความล้มเหลวนี้กดทับเท่าทวีคูณ และยังกระทบชิ่งไปถึงหม่อมอุ๋ยในฐานะกัปตันทีมเศรษฐกิจอีกด้วย

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ การปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ หรือ NGV ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ถือเป็นงานใหญ่สองชิ้นที่สอบตก นายณรงค์ชัย ถึงกับลั่นวาจาว่า การทำงานใน 6 เดือนหลังนี้จะดำเนินการ 2 เรื่องนี้ให้ได้อย่างแน่นอน

สำหรับเส้นทางกลับถิ่นของนายอารีพงศ์ ที่ ครม. ให้ไปนั่งเป็นเลขาธิการ ก.พ.ร. ในสังกัดกระทรวงการคลัง อาจเป็นเพียงทางผ่านชั่วคราว เพราะมีกระแสข่าวว่านายอารีพงศ์ อาจจะไปสมัครเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธ.ป.ท.) ซึ่งกำลังเปิดรับในเวลานี้ ถือเป็นที่ทางที่เหมาะสมกับความสามารถของนายอารีพงศ์ ซึ่งเคยอยู่ในสายงานการเงินการคลัง ดูภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ในหลายตำแหน่ง และเคยเป็นปลัดกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาแล้ว

ส่วนปลัดกระทรวงพลังงานคนใหม่นั้น เวลานี้ต้องเรียกว่าฝุ่นตลบเพราะมีคู่ชิงที่ตัดใจเลือกได้ยากแบบรักพี่เสียดายน้อง เพราะเต็งหนึ่งอย่างนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ที่มีเสียงเชียร์กระหึ่มจากคนกระทรวงพลังงานว่าเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง เสียอยู่นิดเดียวตรงที่มีอายุราชการเหลือน้อยนิดเพียง 4 เดือน ก็จะเกษียณอายุราชการในเดือนก.ย. 2558 นี้แล้ว

ส่วนอีกคนหนึ่งคือนายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัดกระทรวงพลังงาน ที่ฝ่ายการเมืองหนุนหลังดันขึ้นตำแหน่งรองปลัดกระทรวงก่อนหน้านี้เพื่อวางตัวมาเป็นปลัดกระทรวงในวันนี้ มีอายุราชการเหลืออีกนับสิบปี แต่นี่กลับทำให้บรรดาราชการอาวุโสทั้งอดีตและปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะมีความอาวุโสน้อยเกินไป จึงเรียกร้องให้สรรหาบุคคลที่มีความอาวุโสทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิมากกว่านี้จะดีกว่า

สองคู่ชิงกลับมีจุดอ่อนที่อายุราชการทั้งคู่ คนหนึ่งเหลือน้อยเกิน อีกคนหนึ่งยาวนานเกิน อย่างนี้ไม่แน่อาจจะมี “ตาอยู่” มาคว้าพุงปลาไปกินก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมองภารกิจเร่งด่วนของกระทรวงพลังงานเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ ที่เลี่ยงบาลีไปใช้คำว่า “เปิดให้เอกชนยื่นสิทธิสำรวจและผลิต” แถมยังจะมีการเปลี่ยนแปลงไปใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ตามข้อเรียกร้องของภาคประชาชน และข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สายพลังงาน ที่เห็นควรปรับเปลี่ยนใหม่ให้มีหลากหลายทางเลือกนอกเหนือไปจากการให้สัมปทานแบบเดิมซึ่งอาจล้าสมัยไปแล้ว นายคุรุจิต นาครทรรพ อาจเป็นตัวเลือกโดดเด่นกว่าเพราะสู้รบตบมือกับเรื่องนี้มาตลอดตั้งแต่อยู่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติแล้ว และท่าทีของนายคุรุจิตนั้นเป็นที่ถูกอกถูกใจกลุ่มทุนพลังงานยิ่งนัก แต่สำหรับภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องปฏิรูปพลังงานแล้ว แน่นอนย่อมไม่ชอบใจอยู่บ้าง

แต่หากฝ่ายการเมือง อยากได้ปลัดกระทรวงที่สั่งได้หรือเข้าขากันได้อีกทั้งเคยสนับสนุนกันมาก่อน นายทวารัฐ ก็อาจเป็นตัวเลือกที่มีภาษีดีกว่า

นอกเหนือไปจากการโยกย้ายปลัดกระทรวงพลังงานแล้ว อีกความเคลื่อนไหวจากชายคนเดิมที่สอดประสานมาถูกที่ถูกเวลาต้องยกให้นี่เลย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ด ปตท. และหมวกอีกใบหนึ่งที่ใช้เคลื่อนไหวทางสังคม คือ แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) ที่จับจังหวะออกมาแถลงข่าวผลดำเนินงานของกลุ่มในรอบหนึ่งปีในช่วงนี้พอดิบพอดี

เนื้อหาสาระสำคัญที่ทางกลุ่มกำลังติดตามและมีความเป็นห่วงสำหรับพลังงานไทยขณะนี้คือความชัดเจนถึงการบริหารสัมปทานปิโตรเลียม โดยเฉพาะแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุลงของ 2 แหล่งใหญ่ คือ แหล่งเอราวัณ (ของเชฟรอน) กับแหล่งบงกช (ของ ปตท.สผ.) ในอ่าวไทย ซึ่งคิดเป็นการผลิตถึงเกือบ 50% ของการใช้ของประเทศ หรือ 2,000 ล้าน ลบ.ฟ.ต่อวัน ที่จะหมดอายุสัมปทานลงในช่วงปี 2565-66 หากไม่มีความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร และต้นปี 2559 ต้องลงนามสัญญากับภาคเอกชนไทยจะสูญเสียคิดเป็นเงินสูงถึง 7.15 แสนล้านบาท

นายปิยสวัสดิ์ บอกว่า หากไม่มีความชัดเจนผู้ผลิตก็จะลดการลงทุน เนื่องจากหลุมดังกล่าวต้องเจาะเพิ่มต่อเนื่องเพื่อให้ได้แหล่งก๊าซฯ เมื่อรัฐไม่ชัดเจนก็จะไม่ลงทุน ปริมาณก๊าซฯ จะทยอยลดลงและอาจหายไปทั้งหมด 2.3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ไทยจะสูญเสียรายได้ ซึ่งประกอบด้วยค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ 3.5 แสนล้านบาท ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 2.65 แสนล้าน ต้องนำเข้าวัตถุดิบปิโตรเคมี 1 แสนล้านบาท และเมื่อไทยต้องนำเข้า LNG ราคาแพงก็จะกระทบให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ปรับขึ้นทันที 90 สตางค์ต่อหน่วย

แน่นอน ความเห็นของกลุ่มนี้คือ รัฐควรจะต่ออายุสัมปทานให้รายเดิมที่มีความชำนาญการผลิตอยู่แล้ว แต่ให้เจรจาเงื่อนไขเพื่อแลกเปลี่ยนด้วยการเปิดให้รัฐเข้าไปถือหุ้น และให้มีส่วนแบ่งรายได้ที่มากขึ้นเพื่อให้กลไกการขุดเจาะก๊าซฯ ได้ดำเนินต่อไปไม่หยุดชะงักงัน ส่วนแนวทางการเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ ก็เห็นว่าควรจะเดินหน้าและให้สรุปรูปแบบของการเปิดสำรวจว่าจะเป็นแบบไหนโดยเร็วเพื่อให้การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในประเทศเดินหน้าต่อไปแม้ว่าโอกาสจะไม่มากก็ตามแต่จำเป็น รวมถึงความชัดเจนในการเจรจาพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

เรียกว่ามีข้อเสนอที่มาเป็นแพ็กเกจครบครัน และเรียกร้องเอาให้ชัด และให้ไวด้วย ไม่งั้นมีปัญหาก๊าซฯขาดแคลนแน่ๆ

สำหรับการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ที่กำลังศึกษารูปแบบกันอย่างเข้มข้นนั้น ในเบื้องต้น นายมนูญ ศิริวรรณ ประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปทรัพยากรปิโตรเลียมและราคาพลังงาน สปช. ชี้แจงว่า กรอบหลักการปฏิรูประบบพลังงานซึ่งยังไม่เสร็จเป็นเพียงข้อคิดและหลักการ ซึ่งจากการพิจารณาของอนุกมธ. เห็นว่า ระบบบริหารจัดการปิโตรเลียมปัจจุบันยึดการให้สัมปทาน ซึ่งเหมาะกับอดีต แต่ปัจจุบันมีความจำเป็นต้องเพิ่มทางเลือกในการจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม และเห็นด้วยในการใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตหรือจ้างผลิต

นี่นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในหลักการและแนวทางจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมที่สำคัญอย่างยิ่ง ถือเป็นการเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศไทยกันเลยทีเดียว

แต่อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวที่ก่อกระแสให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างด้านพลังงานของประเทศ โดยหนึ่งในเป้าหมายคือการเปลี่ยนแปลงระบบสัมปทานไปสู่ทางเลือกอื่นๆ ต้องถือว่าเป็นการต่อสู้ที่ชิงไหวชิงพริบกันอย่างเข้มข้นระหว่างกลุ่มทุนที่สู้เพื่อรักษาผลประโยชน์และผลกำไร และภาคประชาชนที่ต่อสู้เพื่อรักษาประโยชน์ของคนไทยและประเทศชาติโดยรวม

แน่นอนที่สุดในระหว่างทางในการต่อสู้คราวนี้ กลุ่มทุนต้องหาทุกวิถีทางเพื่อที่จะปิดปากอีกฝ่าย ล่าสุดตัวแทนจากภาคประชาชนเจอวิชามารจนกระทั่งมีการฟ้องต่อที่ประชุมสปช.เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2558 กันเลยทีเดียว

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคราวนี้ น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช.ด้านพลังงาน กล่าวหารือในที่ประชุม สปช. ว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ตำรวจจาก สภ.อ.โพธิ์แก้ว จ.นครปฐม ได้เอาหมายผู้ต้องหา มาหาที่บ้าน เพื่อให้เซ็นรับการเป็นผู้ต้องหาตามหมายเรียกของ สน.ชนะสงคราม สาเหตุของเรื่องหมายเรียกผู้ต้องหาของ สน.ชนะสงคราม มาจากบริษัท ปตท. แจ้งความว่า ตนหมิ่นประมาทบริษัท ปตท. จากการพูดให้ข้อมูลในงานเสวนาเรื่อง ปฏิรูปพลังงาน ครั้งที่ 2 หัวข้อ “น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติของประชาชน ใครปล้นไป เมื่อ 2 มี.ค. 2557 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ

ประเด็นที่เป็นปัญหาคือ ในตอนท้ายรายการพิธีกรได้เชิญให้ตนแสดงความเห็น ซึ่งตนเพิ่งกลับจากดูงานบริษัท ปิโตรนาส ที่มาเลเซีย เลยเล่าข้อมูลให้ที่ประชุมฟังเรื่องที่ได้ฟังจากอดีตประธานปิโตรนาสว่า บริษัท ปิโตรนาส ของมาเลเซีย เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่มีรัฐเป็นเจ้าของ 100 % ทำให้การส่งรายได้ให้รัฐเท่ากับ 40% ของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นข้อความที่ ปตท. หาว่าหมิ่นประมาทเขา ให้ถูกเกลียดชัง

จากนั้น เมื่อได้หมายเรียก ตนได้ทำหนังสือแจ้งไปที่พนักงานสอบสวนว่า ข้อมูลที่ได้พูดไปนั้น มาจากข้อมูลเงินนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจ ประจำปี 2551 - 2555 มาจาก เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นเอกสารที่เผยแพร่ และบุคคลทั่วไปก็สามารถดูได้ และขอให้พนักงานสอบสวน ยกเลิกข้อกล่าวหาเสีย เพราะประเด็นที่ บมจ.ปตท. กล่าวหาว่าตนหมิ่นประมาทนั้น ตนได้พูดให้ข้อมูลจากแหล่งที่มาที่แน่นอน และไม่เป็นกระทำความผิดต่อบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แต่อย่างใด

แต่พนักงานสอบสวนท่านนั้น ยังคงส่งหมายเรียกครั้งที่ 4 เพื่อให้ไปพบ ในวันศุกร์ที่ 8 พ.ค. ตนให้ทนายโทรไปหาพนักงานสอบสวนท่านนั้น และแจ้งว่า ได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปที่ บชน.แล้ว และจะรอผลการพิจารณาของบช.น. ก่อน โดยจะไม่ไปพบในวันศุกร์ที่ 8 พ.ค. เพราะวันนั้นตนมีนัดหมายไปพบผู้ว่าการ สตง. เพื่อส่งหลักฐานเพิ่มเติมคือคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน เรื่องการคืนท่อก๊าซไม่ครบถ้วน แต่ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้น วันที่ 7 พ.ค. พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ก็ส่งตำรวจจาก สภ.อ.โพธิ์แก้ว บุกไปหาตนที่บ้าน เพื่อให้ตน หรือคนในบ้าน เซ็นรับหมายเรียกผู้ต้องหา ทำให้คนที่บ้านตกใจกันมาก

"การกระทำเหล่านี้ ถือเป็นการคุกคามดิฉันโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ เพราะการที่เราให้ความเห็นโดยปกติ และเป็นข้อมูลจากทางการ ดิฉันถูกหมายเรียกที่จะให้รับทราบการเป็นผู้ต้องหาให้ได้ และการที่ส่งตำรวจมาถึงบ้าน ดิฉันคิดว่า เป็นสิ่งที่ข่มขู่ คุกคาม และในฐานะ สปช. ยังโดนขนาดนี้ และถ้าเป็นประชาชน จะถูกกระทำอย่างไร ดิฉันคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะมีการปฏิรูปกระบวนการสอบสวนของตำรวจ ให้ออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปลอดพ้นจากการครอบงำของผู้มีอำนาจรัฐ และอำนาจทุน เพื่อให้กระบวนการสอบสวนของตำรวจเป็นต้นทางของระบบยุติธรรมอย่างแท้จริง

น.ส.รสนา ยังฟ้องต่อผู้นำประเทศ “อยากฝากเรียนเรื่องนี้ไปถูกนายกรัฐมนตรีด้วย เพราะในขณะนี้ หน่วยงานรัฐอย่าง ปตท.ได้ฟ้องร้องประชาชนมากกว่า 20 คดี ซึ่งตนคิดว่าการกระทำเหล่านี้ คือการปิดปากประชาชน”

นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รู้ยัง?


นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม
นายคุรุจิต นาครทรรพ
นายทวารัฐ สูตะบุตร
กำลังโหลดความคิดเห็น