“ราษฎรอาวุโส” ร่อนหนังสือถึงนายกฯ จี้รัฐบาลทบทวนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขอตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อทบทวนโครงการ โดยไม่มีผู้เกี่ยวข้องอยู่ร่วม ชี้เหตุ 5 ข้อ ชูชาวบ้านผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนได้เอง ควรยกย่องและสนับสนุนเต็มศักยภาพ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ระบุรายงานชัดถ่านหินก่อสารปนเปื้อนทั้งคนและปลา ทำเด็กเกิดใหม่ส่อปัญญาอ่อน แฉเอกสาร กฟผ.จ้างที่ปรึกษาซ้ำซ้อนเสียงบไป 20 ล้าน แถมให้ประมูลโครงการทั้งที่ยังไม่ผ่าน EHIA
วันนี้ (20 ก.ค.) นายระพี สาคริก ราษฎรอาวุโส ได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อขอให้ทบทวนโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ โดยระบุว่า สืบเนื่องจากการที่มีประชาชนมานั่งอดอาหารเป็นเวลายาวนานกว่า 10 วัน เพื่อเรียกร้องรัฐบาลด้วยวิธีการที่สุภาพและสันติ เพื่อเพียงขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในพื้นที่ จ.กระบี่ อันเป็นบ้านเกิดที่สวยงามซึ่งลูกหลานของเรา และคนไทยส่วนใหญ่รักและหวงแหน ซึ่งโครงการนี้จะต้องมีการสร้างท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินในทะเลอันดามันตามมาอีกด้วย โดยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบอ้างว่าเป็นโครงการเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงงานไฟฟ้าให้แก่พื้นที่ในจังหวัดภาคใต้ตามนโยบายของรัฐบาลนั้น
บัดนี้ได้พบว่ามีรายงานที่ขัดแย้งกับเหตุผลที่กล่าวอ้างในการทำโครงการข้างต้น อีกทั้งยังมีรายงานด้านการท่องเที่ยว รายงานด้านมลพิษ การมีกำลังผลิตติดตั้งไฟฟ้าเกินจำเป็น ที่อาจจะทำให้ภาพรวมด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และการท่องเที่ยว รวมทั้งอาจเป็นการลงทุนโดยไม่จำเป็น และยังอาจทำให้เกิดความเสียหายทั้งในระยะสั้นและระยะยาวตามมาหลายประการอีกด้วย สิ่งสำคัญคือยังมีเครื่องบ่งชี้ว่าอาจมีความพยายามทำงานอย่างรวบรัดข้ามขั้นตอนและมีการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องอันส่อไปในทางไม่โปร่งใสอีกด้วย
ดังนั้น จึงขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการดังกล่าวด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมเป็นหลักสำคัญเนื่องด้วยประชาชนที่มาอดอาหารอยู่นั้นล้วนเป็นลูกหลานคนไทยสายเลือดเดียวกัน และมาขอร้องรัฐบาลด้วยความสุภาพอย่างยิ่ง
การที่ลูกหลานไทยมาทำหน้าที่ปกป้องความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศและท้องถิ่นด้วยใจบริสุทธิ์โดยเอาชีวิตกับสุขภาพของตนเองเข้าแลกกับอนาคตความมั่นคงสิ่งแวดล้อมของชาติโดยไม่มีเบื้องหลังใดๆ แอบแฝง จึงเป็นสิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีในฐานะพ่อแม่ของคนรุ่นหลังควรมีเมตตา ตอบรับคำขอร้องโดยเร่งด่วนและขอให้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อทบทวนโครงการ โดยโปรดเว้นผู้มีส่วนในการเสนอและผลักดันโครงการ เพื่อให้เกิดความสบายใจและโปร่งใส และเปิดโอกาสให้ผู้คัดค้านสามารถเสนอความจริงและแนวคิดของเขาได้ด้วยแล้วนำข้อเท็จจริงที่ได้พบชี้แจงต่อสังคมให้เกิดความเข้าใจโดยเร็วเพื่อยุติความไม่สบายใจของประชาชนจำนวนมากที่แสดงออกในโซเชี่ยลมีเดีย เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวในกรณีนี้มากกว่า 2 แสนคน ซึ่งมีข้อเท็จจริงที่ควรนำมาพิจารณาอย่างน้อย 5 ประการ คือ
1. เนื่องจากมีรายงานข้อเท็จจริงว่า ชาว จ.กระบี่ มีศักยภาพที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหลายชนิดได้เกินความต้องการของจังหวัด ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่จะสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่ายหินใน จ.กระบี่ แต่ความส่งเสริมให้ชาวกระบี่สามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนจนประสบความสำเร็จเพื่เป็นแบบอย่างให้ทุกๆ จังหวัดที่มีศักยภาพในทำนองเดียวกันสามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้เต็มศักยภาพ อันเป็นความมั่นคงพลังงานที่กระจายสู่อำนาจประชาชน ยิ่งในสภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจหลายประการเช่นนี้ รัฐบาลควรดำเนินนโยบายด้านพลังงานด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริ เพื่อสร้างรากฐานให้เกิดความมั่นคงของประเทศในระยะยาว
2. มีรายงานสถิติการท่องเที่ยวที่ชัดเจนว่า พ.ศ. 2556 มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เยือน จ.กระบี่ ถึงร้อยละ 10 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดของประเทศ และนักท่องเที่ยวเหล่านั้นมาด้วยความพอใจในธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและความสงบสุขของกระบี่ ดังสถิติและข่าวที่ปรากฏในสื่อต่างประเทศ
3. มีรายงานที่ชัดเจนว่าผลจากการใช้ถ่านหินเป็นวัตถุดิบผลิตกระแสไฟฟ้าก่อให้เกิดการปนเปื้อนสารโลหะหนักหรือสารพิษในสิ่งแวดล้อมจนกระทั่งเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารและสู่ร่างกายประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งรายงานการศึกษาพบค่าสารปรอทปนเปื้อนมีค่าสูงกว่ามาตรฐานในร่างกายประชาชนและปลาถึง 4.5 เท่า ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วย และยิ่งกว่านั้นเด็กรุ่นต่อไปที่กำเนิดขึ้นมามีโอกาสเป็นเด็กปัญญาอ่อนสูงมาก นับเป็นความรุนแรงทางสังคมที่ไม่สามารถเยียวยาได้ซึ่งไม่ควรปล่อยให้เกิดเรื่องเช่นนี้แก่คนไทย
4. พบเอกสารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ว่ามีการจ้างที่ปรึกษาการพัฒนาธุรกิจถ่านหินนำของเขา กฟผ. 1 ฉบับ, การจ้างที่ปรึกษาจัดหาถ่านหินนำเข้าเพื่อโรงไฟฟ้ากระบี่ใหม่ 2 ฉบับ และการจัดจ้างที่ปรึกษาโครงการศึกษา จัดทำรายงานข้อเสนอแนะทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการขนส่งถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศมายังท่าเทียบเรือของโครงการโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา 1 ฉบับ ด้วยวงเงินงบประมาณฉบับละ 5 ล้านบาท รวม 4 ครั้ง 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดจ้างเพื่อหาวัตถุดิบชนิดเดียวกันคือถ่านหินของหน่วยงานเดียวกัน คือ กฟผ.ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งหากเป็นการทำหน้าที่อย่างมีหลักธรรมาภิบาลก็ไม่ควรจะต้องแยกการดำเนินการโดยใช้จ่ายงบประมาณซ้ำซ้อนเช่นนี้ และยังมีการจัดซื้อจัดจ้างงานเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์คุณภาพดิน คุณภาพน้ำ คุณภาพตะกอนดินและปริมาณโลหะหนักในเนื้อปลา บริเวณโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ วงเงิน 1.9 ล้านบาท ทั้งที่มีการว่างจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายงาน EIA และ EHIA ไปแล้ว จึงควรมีการตรวจสอบในเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมิให้เกิดมลทินในการบริหารรัฐกิจในเรื่องนี้
5. ด้วยทราบว่ามีความพยายามเปิดให้มีการยื่นประมูลการก่อสร้างโรงงงานไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ในขณะที่รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ยังไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงควรมีการตรวจสอบอย่างรัดกุมด้วย
อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานแนวทางการพัฒนาประเทศให้มีความสุขความเจริญและเข้มแข็งอย่างยั่งยืนด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยส่งเสริมการพึ่งพาตนเองเป็นประการสำคัญ ซึ่งในเรื่องพลังงานไฟฟ้านี้ชาวกระบี่ได้พัฒนาความรู้จนสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในท้องถิ่นขึ้นเองได้แล้ว สมควรที่รัฐบาลจะยกย่องเชิดชูและส่งเสริมให้เป็นแบบอย่างที่ดี มากกกว่าการเปิดโรงงานไฟฟ้าพลังงงานถ่านหิน ซึ่งต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าทำให้ต้องเสียเงินตราต่างประเทศ ในครั้งที่พระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จเปิดคลองลัดมะยม ท่าทรงโปรดให้เรือพระที่นั่งต้องใช้ไบโอดีเซล 100 เป็นเชื้อเพลิง เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ราษฎรและข้าราชการ จึงควรที่รัฐบาลนี้จะดำเนินนโยบายเรื่องพลังงานตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระองค์ท่านอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนลงไปได้อย่างมากด้วย
จึงเรียนมาเพื่อให้ท่านนายกรัฐมนตรีโปรดพิจารณาโดยไม่ชักช้า เพื่อแสดงความเมตตาต่อลูกหลานของเรามิให้พวกเขาต้องอดอาหารเนิ่นนานไปจนเกิดความเจ็บป่วยหรือต้องทนทุกข์ทรมานสังขารไปมากกว่านี้