xs
xsm
sm
md
lg

เวที “ขึงพืดใต้การพัฒนาภาคใต้ฯ” ได้ข้อสรุปรัฐหนุนทุนใหญ่ปั้น “ศูนย์กลางพลังงานโลก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เวทีเสวนา “ขึงพืดการพัฒนาภาคใต้ ประเคนทรัพยากรละเลงลงทุน” ได้ข้อสรุปรัฐส่งเสริมแต่ทุนใหญ่ให้เดินหน้าปั้นภาคใต้สู่ “ศูนย์กลางพลังงานโลก” เชื่อแผนผลิตไฟฟ้าปี 58 ใช้ได้ไม่เกิน 3 ปี จวก “กฟผ.” หมกเม็ดข้อมูลพลังงานสำรอง คาดเวที “ค.3  โรงไฟฟ้า-ท่าเรือขนถ่านหินเทพา” จะซ้ำรอยเดิมที่มากความเหลื่อมล้ำในการแสดงความเห็น
 
วันนี้ (6 ก.ค.) ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมเสวนาหัวข้อ “ขึงพืดการพัฒนาภาคใต้ ประเคนทรัพยากรละเลงลงทุน” โดยเชิญผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ฝ่ายวิชาการ และภาคประชาชนจากพื้นที่เข้าร่วมนำเสวนา โดยมีสื่อมวลชน และผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก
 

 
ดร.อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ขณะนี้วิกฤตอุตสาหกรรมภาคใต้กำลังเดินหน้าอย่างน่ากลัว ภายใต้กรอบเป้าหมายเพื่อการสร้างแหล่งพลังงานโลก โดยเริ่มแรกเป็นกลุ่มทุนจากประเทศสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ต่อมา ธนาคารใหญ่อย่าง ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ก็เข้ามาร่วมมือกับสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อจัดทำแผนแม่บทพัฒนาอุตสาหกรรมภาคใต้ เน้นที่การผลิตอุตสาหกรรมปิโตเลียม อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระบบท่อก๊าซและน้ำมัน เป็นต้น 
 
โดยมีโครงการที่เร่งผลักดันในปัจจุบันคือ กรณีการเดินหน้าก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ในฝั่งอ่าวไทย ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ในฝั่งอันดามัน โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เป็นต้น ซึ่งในรัฐบาลยุคนี้ถืออำนาจการตัดสินใจมีความเด็ดขาดกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งทั่วๆ ไป
 
ทั้งนี้ แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้เป็นแผนพัฒนาอุตสาหกรรมที่ไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม นับตั้งแต่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ และท่าเรือน้ำลึก เช่นเดียวกับที่นครศรีธรรมราช ที่จะเดินตามแผนแล้วพ่วงด้วยโครงการสะพานเศรษฐกิจ เพื่อสร้างฐานขุดเจาะน้ำมันของบริษัทปิโตรเลียมขนาดใหญ่ ส่วนทางฝั่งอ่าวไทย จะมีการวางทุ่นขนถ่ายน้ำมันกลางทะเล และก่อสร้างคลังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ที่สงขลา
 
“โครงการทั้งหมดทั้งปวงนั้นเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนทั้งภาค โดยใช้ภาคธุรกิจกดดัน และอาจเป็นไปได้ว่า ยุคนี้เป็นยุคคืนชีพของอุตสาหกรรมหนัก ทั้งเหล็ก แร่ ปิโตรเลียม ซึ่งเคยทำให้ภาคใต้ตอนบนประสบต่อวิกฤตสิ่งแวดล้อมอย่างหนักมาแล้ว” ดร.อาภากล่าว
 

 
นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ นักวิชาการกลุ่มจับตาพลังงาน กล่าวว่า หลังคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ผ่านความเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2558-2579 หรือแผนพีดีพี (PDP) 2015 เรียบร้อยแล้ว ทางทีมวิชาการได้วิเคราะห์แผนดังกล่าวพบว่า ข้อมูลของแผนเปิดเผยต่อสาธารณะเพียงบางส่วนเท่านั้น โดยภาพรวมของแผนพีดีพียังมีความล้าหลัง และจะสร้างภาระผูกพันทางการเงินในระยะยาวนับหลายแสนล้านบาท
 
“อันจะส่งผลให้ประชาชนต้องแบกรับโดยไม่จำเป็น เนื่องจากการลงทุนโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือที่เรามักเรียกย่อๆ ว่า กฟผ. เป็นการเซ็นสัญญาล่วงหน้านับ 10 ปี”
 
นายสันติ ให้ข้อมูลว่า กล้าพูดได้ว่าแผนพีดีพีปี 2015 นี้เป็นแผนที่อัปลักษณ์ที่สุด เพราะในแผนฉบับนี้เต็มไปด้วยคำถามที่ กฟผ.คงไม่สามารถหาคำอธิบายที่สมเหตุสมผลมาตอบแก่ประชาชนได้ เช่น กรณีตัวเลขกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในแผนสูงกว่าเกณฑ์กำหนดไปมากกว่า 2 เท่าตัว ในระยะ 10 ปีแรกของแผน พ.ศ.2558-2568 ทั้งนี้ ยังไม่ได้นับรวมกำลังผลิตที่ถูกระบุไว้ว่า “ไม่พร้อมใช้งาน” อีก 7,000-9,800 เมกะวัตต์ในระยะดังกล่าว ซึ่งเทียบเท่ากับกำลังผลิตไฟฟ้าที่ป้อนให้แก่ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสานรวมกัน
 
“โดยทางฝ่าย กฟผ.อธิบายว่า เป็นผลของการประหยัดพลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงานที่เพิ่มจาก20% เป็น 100% เมื่อเทียบกับแผนเดิม ซึ่งส่วนตัวตนกล้าการันตีว่า แผนใหม่นี้ใช้ได้จริงไม่เกิน 3 ปี แล้วจะต้องเปลี่ยนแผนใหม่ ซึ่งหากโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นในระหว่างแผนฉบับนี้ก็จะกลายเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งานในที่สุด หรือใช้งานแต่ในปริมาณที่ไม่มาก” นายสันติ กล่าว
 
นักวิชาการกลุ่มจับตาพลังงานกล่าวต่อไปว่า โรงไฟฟ้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นจากแผนเดิมในระหว่างปี 2558-2568 มีกำลังผลิตรวมประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ เทียบเท่ากับ 2 เท่าของกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าที่ป้อนภาคใต้ทั้งภาค หากโครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่มีภาระผูกพันจริง นั่นหมายความว่า โครงการเหล่านี้มีการสร้างภาระผูกพันก่อนที่จะมีการจัดทำแผนพีดีพี 2015
 

 
อย่างไรก็ตาม กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และ อ.เทพา จ.สงขลา นั้น มีกำลังผลิตร่วมอยู่ที่  2,800 เมกะวัตต์ เป็นโครงการภายใต้การดำเนินการของ กฟผ.เอง ไม่ใช่ของบริษัทเอกชน ดังนั้น จึงไม่ต้องมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่จะเป็นภาระผูกพันแต่อย่างใด ซึ่งหากไม่มีประโยชน์ และมีข้อมูลประจักษ์แจ้งจากภาคประชาชนแล้ว กฟผ.ก็สามารถยกเลิก หรือเลื่อนการพัฒนาโรงไฟฟ้านี้ไปได้อีกยาว เพราะในช่วง 10 ปีหลังจากนี้ระบบไฟฟ้าของไทยมีกำลังผลิตสำรองอยู่แล้ว จะช่วยให้ไทยไม่ต้องมีโรงไฟฟ้าส่วนเกินอีกกว่า 5,000 เมกะวัตต์
 
จากปีนี้ถึงปี 2579 เราจะพบว่าไฟฟ้าในระบบนั้นเกินมาตรฐานมาโดยตลอด จากเดิมเรากำหนดสำรองแค่ 15% แต่ปัจจุบันเรามีสูงถึง 30-40% แต่ปรากฏว่า ไทยยังมีวิกฤตไฟฟ้า นั่นไม่ใช่เพราะโรงไฟฟ้าไม่พอ แต่เป็นความไร้ระเบียบของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่ทำหน้าที่บริหารไฟฟ้า ทั้ง กฟผ.และบริษัท ปตท.ที่ผูกขาดทางพลังงาน ผมจึงกล้าฟันธงได้เลยว่า โรงไฟฟ้าที่กระบี่ และที่เทพาไม่ต้องมีก็ได้ ภาคใต้ไม้เผชิญวิกฤตแน่นอน”
 
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่คนไทยควรรู้อีกประเด็นคือ ธุรกิจถ่านหินเป็นนโยบายระยะยาวที่เน้นขยายการขายให้ได้ 70 ล้านตันต่อปี ในอีก 5 ปี ข้างหน้า โดยการดำเนินธุรกิจของบริษัท ปตท.ที่ต้องการติด 1 ใน 5 ของบริษัทชั้นของเอเชียในวงการทำธุรกิจ ดังนั้น จึงมีความพยายามในการผลักดันโครงการเหล่านี้” นักวิชาการกลุ่มจับตาพลังงาน กล่าว
 
ขณะที่ นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวใน จ.กระบี่ ในฐานะเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้น จากการทำวิจัยเชิงคุณภาพที่ดำเนินการโดยภาคธุรกิจการท่องเที่ยว มีการสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และในไทยพบว่า นักท่องเที่ยวประมาณ 80-90% ไม่เห็นด้วยต่อการจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.กระบี่
 
“และที่สำคัญมาก นักท่องเที่ยวเหล่านั้นมองว่าแค่วิกฤตขยะจากการท่องเที่ยวเอง ก็ทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วน เช่น นักท่องเที่ยวจากประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ปฏิเสธการเที่ยวแล้ว ดังนั้น หากเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เชื่อว่ากระบี่ และพื้นที่ทะเลอันดามันวิกฤตหนักแน่นอน ทางเครือข่ายจึงต้องเร่งรณรงค์คัดค้านต่อไป” นายธีรพจน์กล่าวย้ำ 
 

 
ด้าน นายดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนพัฒนาเมืองเทพา จ.สงขลา กล่าวว่า กรณีการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น เป็นการฉกฉวยโอกาสของรัฐบาลที่ทำให้คนเทพาต้องทำใจ เพราะที่ผ่านมา เวทีประชุมชี้แจงโครงการและรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 (ค.1) ประชาชนหลั่งไหลเข้าไปคัดค้าน แต่รูปแบบการจัดเวทีก็ยังไม่เอื้อต่อการนำเสนอข้อมูลภาคประชาชน ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก็เฝ้าสถานการณ์ต่อเนื่อง ประชาชนมีเวลาในการแสดงความคิดเห็นน้อย แม้จะมีข่าวความเคลื่อนไหวของประชาชนมาโดยตลอด แต่กลับพบว่า เมื่อเวลาผ่านไปรัฐบาลก็ยังเดินหน้าดำเนินการต่อ
 
จนมาถึงเวที ค.3 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 ก.ค.2558 นี้ ซึ่งทางเครือข่ายเชื่อว่าจะเป็นไปไม่ต่างกับเวที ค.2 และ ค.1 โดยขณะนี้ชาวบ้านพยายามหาระเบียบของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอยู่ เพื่อทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ และจะหารือเครือข่ายภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ และมีเงื่อนไขในการเข้าร่วมอย่างไรบ้าง
 
“แต่ที่ผ่านมา สังคมรับรู้แล้วว่าเวทีของภาครัฐมีความเหลื่อมล้ำในการออกเสียงและแสดงความเห็น แม้แต่ประเด็นสาธารณะที่มีคนได้รับผลกระทบจำนวนมากก็ตาม” นายดิเรก กล่าวตบท้าย 
 
อนึ่ง การจัดเวที ค.3 เพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินที่จะจัดขึ้น ณ อบต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา โดยวันที่ 27 ก.ค.จะเป็นกรณีการรับฟังความคิดเห็นต่อโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่วนวันที่ 28 ก.ค. เป็นกรณีท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหิน ขณะที่ภาคประชาชนกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินได้เชิญชวนประชาชนทั่วไปร่วมแสดงเชิงสัญลักษณ์ปกป้องอันดามัน และอ่าวไทย และต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ที่สวนลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโครงการ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น