xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ดันโรงไฟฟ้ากระบี่ กลุ่มต้านไม่เอาถ่านหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“กฟผ.” ยันโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดกระบี่มีความจำเป็นต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคใต้เหตุปี 2562 การผลิตไฟฟ้าจะตึงตัวหนักไม่เกิดส่อไฟตก-ดับสูง ลั่นดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดีไม่กระทบการท่องเที่ยวแน่ให้ดูตัวอย่างฝรั่งเศส-เยอรมันขนถ่านหินโจ๋งครึ่มยังไม่ให้เห็นการท่องเที่ยวทรุด แจงPDPใหม่ผุดโรงไฟฟ้าถ่านหินรวม9แห่งจำเป็นถ้าเกิดไม่ได้ค่าไฟเฉลี่ยตลอด21ปีจะเกิน4.6บ./หน่วยแน่ ขณะที่กลุ่มต้านยื่นหนังสือถึง”บิ๊กตู่”ไม่เอาถ่านหินหวั่นฉุดท่องเที่ยวโดยเฉพาะกระบี่ ยันกระบี่ใช้พลังงานทดแทนได้100%ค่าไฟแพงก็พร้อมจ่าย

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กฟผ.ได้พยายามชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินจ.กระบี่กำลังผลิต 870 เมกะวัตต์ที่จะให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทุกมิติ ขณะเดียวกันก็มองความมั่นคงระบบไฟฟ้าที่ภาคใต้ซึ่งมีอัตราการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าปีละ 4% ตามการเติบโตของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ซึ่งตามแผนโรงไฟฟ้ากระบี่จะป้อนไฟเข้าระบบปี 2562 เพื่อให้มีกำลังการผลิตรองรับกับความต้องการที่สูงถึงในระดับ 4,477 เมกะวัตต์

“หากโรงไฟฟ้ากระบี่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามแผนก็จะเสี่ยงต่อความมั่นคงในเรื่องของไฟตกดับในพื้นที่ภาคใต้เพราะคาดว่าความต้องการขณะนั้นจะสูงกว่ากำลังผลิตกว่า 1,000เมกะวัตต์ซึ่งปกติภาคใต้ต้องอาศัยไฟฟ้าจากมาเลเซียประมาณ 300 เมกะวัตต์และส่งไฟฟ้าจากส่วนกลางป้อนอีก 650 เมกะวัตต์”นายสุนชัยกล่าว

ทั้งนี้กฟผ.ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้วโดยขั้นตอนขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและ. ครม.เห็นชอบ

เพื่ออนุมัติก่อสร้างโครงการโดยกฟผ.ก็ยังหวังว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดกระบี่จะยังคงเป็นไปตามกรอบและเป้าหมายที่วางไว้และกรณีกลุ่มผู้คัดค้านเพราะเกรงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะหมู่เกาะลันตานั้นยืนยันว่าไม่มีผลกระทบแน่นอนและตรงกันข้ามไฟฟ้าก็มีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวด้วยการขนส่งถ่านหินต่างๆ นั้นกฟผ.ก็เป็นระบบปิด

“ทั่วโลกเขาก็มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อถ่วงดุลเชื้อเพลิงอื่นๆและราคาค่าไฟทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นเยอรมัน ฝรั่งเศส แต่กลับมาต่อต้านที่เมืองไทยมากไม่รู้ว่ากังวลกลัวคนไทยจะสร้างโรงไฟฟ้าแล้วไทยจะดีกว่าเขาหรือ แต่ก็เข้าใจเป็นเรื่องปกตินะที่จะมีบุคคลเข้าใจคลาดเคลื่อนก็ต้องชี้แจง แต่บางกลุ่มยังไงก็ไม่เอาก็ต้องไปถามเหตุผลจริงๆ”นายสุนชัยกล่าว

นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ.กล่าวว่า ซึ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กฟผ.เลือกพื้นที่กระบี่เพราะมีพื้นที่ตั้งเดิมอยู่แล้วทำให้ไม่ต้องลงทุนสูงและไม่ต้องไปเวนคืนที่ดินจากประชาชนและกรณีการขนส่งถ่านหินนั้นมีการออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่ายและเป็นไปตามมาตรฐานสากลกรณีตัวอย่างการไปดูงานที่เยอรมันและฝรั่งเศสจะเห็นว่าการขนส่งถ่านหินไปป้อนโรงไฟฟ้าก็ใช้แม่น้ำสายหลักและเป็นระบบปิดก็ไม่ได้ส่งผลกระทบให้การท่องเที่ยวหายไปแต่อย่างใด และถ้าโรงไฟฟ้ากระบี่สร้างไม่ได้โอกาสไฟดับก็จะสูงในปี 2562

นายชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย รองผู้ว่าการนโยบายและแผน กฟผ.กล่าวว่า ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(PDP 2015)ระยะเวลาปี 2558-79 นั้นได้คำนึงถึงความสมดุลเรื่องเชื้อเพลิงด้วยการลดสัดส่วนก๊าซฯที่สูงเกินไปและเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินรวมทั้งหมดในแผนเป็น 9 แห่งกำลังผลิต 7,390 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันยังดูแลต้นทุนค่าไฟที่ให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ซึ่งตลอดแผน 21 ปีค่าไฟจะเฉลี่ยที่4.587 บาทต่อหน่วยหรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.89% แต่หากโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นไม่ได้มากเท่าใดก็จะยิ่งผลักดันให้ค่าไฟเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าที่กำหนดเพราะจะต้องหันไปพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)จากเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนการผลิตไฟแพงกว่า

“โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ผูกพันและกฟผ.ดำเนินการจะมีกระบี่ เทพา 1 และ 2 ส่วนที่จะเกิดใหม่อีก 3 แห่งนั้นกฟผ.เองก็พร้อมที่จะดำเนินการแต่ก็อยู่ที่นโยบายรัฐซึ่งยังไม่ได้กำหนดที่ชัดเจนก็จะเปิดไว้ว่าเป็นกฟผ.และเอกชน ขณะเดียวกันภาคใต้ได้ก็มีสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนตามแผนPDPใหม่สิ้นสุดปี ’79 ถึง 2,465 เมกะวัตตต์ หรือคิดเป็น 31%ของกำลังผลิตไฟในภาคใต้ซึ่งต้องเข้าใจว่าสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจะต้องคำนึงถึงความมั่นคงด้วยเพราะการผลิตมีความไม่แน่นอนสูงเช่นแสงอาทิตย์แดดก็ไม่ได้มีทั้งวัน ลมก็จะมีเฉพาะกลางคืนที่ความต้องการใช้ไฟต่ำ และค่าไฟยังแพงอีกด้วยซึ่งตามแผนดังกล่าวก็ถือว่าสูงแล้ว” นายชนินทร์กล่าว

***ต้านไม่เอาถ่านหินกระบี่ยันพร้อมจ่ายค่าไฟแพง

นายอมฤต ศิริจุทาพรกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ และประธานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน พร้อมด้วยสมาชิก ร่วมหารือกรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ 9 เพื่อรองรับแผนPDPใหม่ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อวันที่ 18 พ.ค.พร้อมกันนี้ได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

นายอมฤต ระบุว่า ต้องการให้กฟผ. ทบทวนแผนงานดังกล่าว โดยเฉพาะการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากพื้นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าอยู่บนพื้นที่ชุ่มน้ำผืนที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดกระบี่ หากยืนยันจะเดินหน้าก่อสร้างจะกระทบต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบอย่างแน่นอน นอกจากนี้ จังหวัดกระบี่ยังสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

ทั้งผลปาล์มและยางพาราได้เกือบ 50% ของความต้องการใช้จึงมองว่ากระบี่สามารถพึ่งพาพลังงานทดแทนได้ทั้ง 100% โดยไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

“กรณีที่กฟผ. ระบุว่า หากใช้พลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยไม่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟเพิ่มสูงขึ้นนั้น ทางผู้ประกอบการเอกชนจังหวัดกระบี่ กล่าวว่ายินยอมที่จะเสียค่าใช้จ่ายแพงขึ้น เพื่อแลกกับความยั่งยืนในอนาคต โดยอยากให้ กฟผ. ร่วมเจรจาหาทางออกกับทางเครือข่ายฯ ก่อนเดินหน้าโครงการ

นอกจากนี้ผลสำรวจความคิดเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ก็ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า 88% ไม่อยากกลับมาเที่ยวอีกหากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจากระบบบริหารจัดการมลพิษของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะกระทบต่อรายได้เข้าประเทศ เนื่องจาก 5 จังหวัดภาคใต้สามารถสร้างรายได้ท่องเที่ยวรวมกันถึง 40% หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท และยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีก
กำลังโหลดความคิดเห็น