ลำปาง - กฟผ.ลงเสาเข็มต้นแรกโรงไฟฟ้าทดแทนเครื่อง 4-7 การันตีด้านสิ่งแวดล้อม คาดใช้เวลาก่อสร้าง 46 เดือน ส่วนความคืบหน้าเรื่องคำสั่งศาลปกครองขณะนี้อยู่ระหว่างการขอเปลี่ยนแปลงมาตรการที่มีความเหมาะสม ส่วนสนามกอล์ฟ และสวนพฤกษชาติยืนยันไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟู หรือปลูกป่า
รายงานข่าวจากจังหวัดลำปาง แจ้งว่า ที่ กฟผ.แม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีลงเสาเข็มต้นแรก (First Piling) ของโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 โดยมีนายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวรายงาน พร้อมนำหัวหน้าส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกดปุ่มเทเสาต้นแรกร่วมกัน
สำหรับโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 ที่สร้างขึ้นนี้มีกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ เป็นการก่อสร้างขึ้นแทนเครื่อง 4-7 เดิม ที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ถัดจากเครื่องที่ 13 มีอายุการใช้งานมานานถึง 33 ปี ใช้พื้นที่ก่อสร้าง 63 ไร่ ด้วยงบประมาณ 36,800 ล้านบาท
เน้นลงทุนในระบบอุปกรณ์เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเครื่องกำจัดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจนด้วยอุปกรณ์ SCR (Selective catalyst Reduction) เครื่องดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิต และเครื่องกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าการลงทุนถึง 8,250 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.41 ของวงเงินลงทุนทั้งหมด และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้โรงไฟฟ้าทดแทนโรงใหม่ที่กำลังจะเริ่มก่อสร้างนี้สามารถลดการใช้ถ่านหินลงได้มากจากเดิม เครื่อง 4-7 จะใช้ถ่านหินวันละ 13,536 ตัน ลดลงเหลือ 8,504 ตัน
นายอารีพงศ์ กล่าวว่า เพื่อให้เกิดความมั่นคงในระบบไฟฟ้าภาคใต้ และประเทศโดยรวม กระทรวงพลังงาน ยังให้การสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 2 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด จังหวัดกระบี่ โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา กล่าวคือ นโยบายด้านพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ ต้องมีปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าฐาน ที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลา และกระจายสัดส่วนประเภทเชื้อเพลิงอย่างเหมาะสม ซึ่งโรงไฟฟ้าทดแทนฯสามารถตอบสนองนโยบายดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินในพื้นที่ของโรงไฟฟ้าเอง ราคาถูกกว่าก๊าซธรรมชาติ และยังช่วยลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าที่สูงเกือบ 70% อีกด้วย
ขณะที่ นายสุนชัย คำณูนเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในคดีเหมืองแม่เมาะ ที่ต้องให้ กฟผ.ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ว่า ขณะนี้ทาง กฟผ. ได้เสนอขอเปลี่ยนแปลงมาตรการที่มีความเหมาะสม และมีเทคโนโลยีใหม่ในการป้องกันแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพมากกว่ามาตรการเดิม
ที่ผ่านความเห็นชอบจากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว และได้เสนอให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พิจารณาอนุญาตให้ปฎิบัติตามมาตรการให้ถูกต้องตามขั้นตอนที่กำหนด พร้อมทั้งได้นำเสนอคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่น และผู้เชี่ยวชาญเพื่อร่วมพิจารณาในการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ลงนามเรียบร้อยแล้ว
ส่วนกรณีที่ให้ความสนใจกันมากคือ เรื่องสนามกอล์ฟ และสวนพฤกษชาตินั้น ทางศาลปกครองได้ระบุชัดว่า กรณีที่ทาง กฟผ.นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองไปสร้างสวนพฤกษชาติ และสนามกอล์ฟนั้นก็ต้องกลับเอาไปทำเป็นป่า หรือให้เหมือนเดิมตามธรรมชาติ แต่ข้อเท็จจริงก่อนที่ กฟผ.จะเข้ามาทำเหมือง หรือตอนที่ขอประทานบัตรก็จะทำมาสเตอร์แพลนไว้ว่า พื้นที่เมื่อเราจบการทำสัมปทานแล้วหน้าตาจะเป็นอย่างไร พื้นที่ตรงจุดไหนที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมือง พื้นที่ไหนที่จะทำเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเพื่อคืนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ไว้ใช้งานต่อไป พื้นที่ไหนจะต้องทำเป็นอ่างเก็บน้ำเพื่อประโยชน์ในระยะยาว
ข้อเท็จจริงทั้งหมดอยู่ในเอกสารแนบท้ายการขอประทานบัตร ซึ่ง กฟผ.ยืนยันว่า สนามกอล์ฟและสวนพฤกษชาติไม่อยู่ในพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมือง และเป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตถูกต้องจากกรมป่าไม้ให้ทำเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ กพร.เองก็ได้มีการเข้ามาวัดพื้นที่เรียบร้อยแล้ว และยืนยันได้ว่า ไม่อยู่ในส่วนที่ต้องฟื้นฟู หรือต้องปลูกป่า