xs
xsm
sm
md
lg

กพร.สั่ง กฟผ.เร่งฟื้นเหมืองแม่เมาะตามคำสั่งศาลใน 15 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จ.ลำปาง
ลำปาง - อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ สั่งเข้มให้ กฟผ.เริ่มดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ฟื้นขุมเหมืองแม่เมาะคืนสภาพเดิม อพยพชาวบ้านพ้นรัศมี 5 กม. ติดม่านน้ำลดฝุ่นภายใน 15 วัน พร้อมกำชับให้รายงานความคืบหน้าทุก 7 วัน

นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ จ.ลำปาง เปิดเผยว่า หลังศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงาน พร้อมดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะนั้น

ล่าสุด นายสุรพงษ์ เชียงทอง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้ส่งหนังสือถึง กฟผ.(เหมืองแม่เมาะ) จังหวัดลำปาง เร่งรัดให้ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ประกอบด้วย

1.ให้ตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่น และผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาในการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบที่อาจนะนำไปสู่อันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สิน และมีความประสงค์จะอพยพในการอพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร

2.ให้ฟื้นฟูพื้นที่ขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุด และให้ปลูกป่าทดแทน เฉพาะที่ กฟผ. ทำเป็นสวนพฤกษชาติ และสนามกอล์ฟ โดยให้ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดอย่างเข้มงวด หากต้องการฟื้นฟูพื้นที่ขุมเหมืองดังกล่าว ให้ กฟผ.เสนอแผนให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ทราบภายใน 7 วัน

3.การติดตั้งม่านน้ำเพื่อเป็นการลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ มีความยาว 800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออก กับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันตก กับหมู่บ้านทางทิศใต้ การนำพืชที่ปลูกใน Wetland และทำการขนเปลือกดิน โดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน ให้วางแผนจุดปล่อยดิน

ทั้งนี้ อธิบดี กพร.ยังได้กำชับให้ทาง กฟผ. รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการในด้านต่างๆ ให้ทางกรมฯ ได้รับทราบทุก 7 วันอีกด้วย

ส่วนการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้น วันที่ 19 มี.ค. 58 ที่ผ่านมา กฟผ.ได้นำเงินไปวางศาลเรียบร้อยแล้ว แต่คนที่จะได้รับเงินเยียวยาก็ยังรับไม่ได้ ต้องรอขั้นตอนการเบิกจ่ายจากศาลฯ ซึ่งกระบวนการรับเงินค่าชดเชยยังมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีก

เช่น กรณีที่ผู้ยื่นฟ้องเสียชีวิตไปแล้ว ทายาทต้องยื่นเรื่องต่อศาลจังหวัดลำปางเพื่อร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกให้แล้วเสร็จก่อน หลังจากนั้น ก็รอให้ศาลฯ ตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก จึงจะได้รับค่าชดเชยนั้น และนำไปบริหารจัดการในกลุ่มทายาทต่อไป ส่วนเจ้าหนี้ที่ผู้เสียชีวิตกู้ยืมมารักษาตัวก่อนหน้านั้นก็ยังต้องรอคอยเงินจากทายาทที่จะนำมาชำระคืนเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น