xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

มหากาพย์ “แม่เมาะ” ยังไม่จบ 131 ชีวิตลุ้นอีกรอบ 25 กุมภาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม้วันนี้ ปัญหามลพิษจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จะลดลง แต่ที่ผ่านมา ได้ทำให้ชีวิตผู้คนโดยรอบได้รับผลกระทบมาก
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -วิกฤตซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เกิดขึ้นครั้งใหญ่เมื่อปี 2535 และ 2541 จนทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วยกันนับพันคน สัตว์เลี้ยง พืชผลทางการเกษตร ล้มตายเสียหายอย่างรุนแรง

เพราะปริมาณสารซัลเฟอร์ฯหลุดออกมาจากโรงไฟฟ้าฯสูงถึง 3,418 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง ขณะที่เกณฑ์ควบคุมกำหนดไว้แค่ 780 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง เท่านั้น...

จากวันนั้น จนถึงวันนี้ กว่า 13 ปี ที่ชาวบ้านรอบเหมืองลิกไนต์ - โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ลุกขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้องสิทธิ และเงินชดเชยจากผลกระทบที่ได้รับอย่างต่อเนื่อง ทั้งตระเวนเดินสายยื่นเรื่องร้องเรียน - ชุมนุมประท้วงกันหลายสิบครั้ง - ยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาล รวมถึงยื่นต่อศาลปกครอง เพื่อตามหาความเป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง

ตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษของการต่อสู้ มีชาวบ้านที่เจ็บป่วย และพยายามเรียกร้องความเป็นธรรมจาก กฟผ.ต้องเสียชีวิตไปแล้วกว่า 20 ราย และยังมีอาการป่วย ต้องพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจอยู่อีกหลายร้อยราย

4 ม.ค.2552 กลุ่มชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้า เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ 318 คน ที่ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อเรียกร้องเงินชดเชย และให้ กฟผ.รื้อถอนสนามกอล์ฟโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ต่างมีความหวังขึ้นมาครั้งหนึ่ง
เมื่อศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งให้ กฟผ.จ่ายค่าเสียหายให้ชาวบ้าน และเพิกถอนสนามกอล์ฟ คืนสภาพขุมเหมืองลิกไนต์ ซึ่งคราวนั้น กฟผ.ใช้สิทธิ์อุทรณ์คดี

10 ก.พ.2558 ที่ผ่านมา ถือเป็นวันแห่งความหวังของชาวบ้านรอบเหมืองแม่เมาะ ...อีกครั้ง กลุ่มผู้ป่วยแม่เมาะกว่า 300 คน (บางส่วนเป็นทายาทของผู้ยื่นฟ้องที่เสียชีวิตไปแล้ว) เดินทางไกลกว่า 200 กม. เพื่อรอฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด

สาระสำคัญที่ผู้ฟ้องคดี(กลุ่มผู้ป่วยแม่เมาะ) ทั้ง 16 สำนวน 318 คน ฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 (กฟผ.) ซึ่งเป็นผู้ถือประทานบัตรการทำเหมืองแร่ถ่านหิน ในพื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ละเลยไม่ปฏิบัติตามวิธีการทำเหมืองแร่ และเงื่อนไขท้ายประทานบัตร

นอกจากนี้ยังเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมืองแร่ แผนผังโครงการ และเงื่อนไขท้ายประทานบัตรหลายประการโดยไม่ได้รับอนุญาต จากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ก่อให้เกิดมลพิษและทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับอันตรายต่อชีวิต สุขภาพอนามัย และทรัพย์สินเสียหาย

แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (อุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการทำเหมืองแร่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 กลับเพิกเฉย ไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 (กรมควบคุมมลพิษ) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 (อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ) ไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการควบคุมมลพิษ รวมทั้งเรียกค่าเสียหายจาก กฟผ.(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7) ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8 - 11 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น ไม่ได้มีคำสั่งให้ กฟผ. ยุติหรือระงับการก่อเหตุรำคาญ
ชาวบ้านแม่เมาะ (ผู้ฟ้องคดีทั้ง 16 สำนวน) มีคำขอดังนี้ 1.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีหมดปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย 2. ให้เพิกถอนประทานบัตรของ กฟผ. 3. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8 - 11 แก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กลับฟื้นคืนสู่ธรรมชาติดังเดิม รวมทั้งให้ กฟผ. หยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 เรียกค่าเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 และ(4) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีพร้อมด้วยดอกเบี้ย

คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้น ได้วินิจฉัยไว้ว่า กฟผ.ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมบางมาตรการและมีคำพิพากษาให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม คือ

1.ให้อพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กม.

2.ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุด และให้ปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ

3.ให้ยื่นแก้ไขข้อ 2.6 ของมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการปลูกและนำพืชที่ปลูกใน wetland ไปกำจัด เป็นการใช้ระบบ Anaerobic Bacteria


4.วางแผนจุดปล่อยดินโดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนที่อยู่โดยรอบ และกำหนดพื้นที่ Buffer Zone ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชน ให้เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำเป็น Bunker ให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของ Bunker

5.ให้จัดทำรายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อม (Environmental Audit) ทุก 2 ปี โดยจะต้องมีรายงานการตรวจสอบในทุกผลกระทบที่เกิดขึ้น และเสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทราบ หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 มีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่สามารถป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าให้ดำเนินการยื่นขอแก้ไขมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ดังกล่าว ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณา หรือเพื่อทราบ ก่อนที่จะดำเนินการตามที่ขอแก้ไข และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตรวจสอบ กำกับดูแลการประกอบกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ปฏิบัติตามเงื่อนไขในประทานบัตรและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ

คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ศาลปกครองสูงสุดสุด พิเคราะห์แล้วมีคำสั่งดังนี้

1. ให้ กฟผ.ทำการติดตั้งม่านน้ำเพื่อเป็นการลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ มีความยาว 800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันตกกับหมู่บ้านทางทิศใต้

2. ให้จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาในการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบที่อาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินและมีความประสงค์จะอพยพในการอพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร

3.ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและให้ปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ

4.ให้นำพืชที่ปลูกใน wetland ไปกำจัด และปลูกเสริมทุกๆ 18 เดือน และต้องทำการขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำใน wetland

5.ให้ทำการขนส่งเปลือกดิน โดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน ให้วางแผนจุดปล่อยดิน โดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนที่อยู่โดยรอบ ให้กำหนดพื้นที่ Buffer Zone ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชน ให้เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำเป็น Bunker ให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของ Bunker ในการปล่อยดินลงที่เก็บกองดินนั้นจะต้องกำหนดเป็นตารางที่แน่นอน โดยใช้ฤดูเป็นเกณฑ์ในการตัดสินตำแหน่งที่จะต้องห่างจากชุมชนมากที่สุด

ส่วนกรณีมาตรการฯ รายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อม (Environmental Audit) นั้น กฟผ. ได้จัดทำ เสนอต่อ สผ.แล้ว จึงไม่จำต้องออกคำบังคับ และให้ อธิบดี กพร.(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ตรวจสอบกำกับดูแลการประกอบกิจการของ กฟผ. ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการออกประทานบัตรและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ หาก กฟผ.ไม่ปฏิบัติตาม ให้อธิบดี กพร.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 138 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 โดยเคร่งครัด

ทั้งนี้ให้อธิบดี กพร.(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) และ กฟผ.(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7) ดำเนินการตามคำพิพากษา ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น

ด้านนายประภาส วิชากูล รองผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บอกว่า กฟผ.พร้อมทำตามคำสั่งศาลทั้งหมด แต่เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และให้สอดคล้องกับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด กฟผ.จำเป็นต้องให้ทีมกฎหมายตรวจสอบรายละเอียดของคำสั่งศาลให้เรียบร้อยก่อน เพื่อจะได้ดำเนินงานได้อย่างถูกต้องตามคำสั่งของศาลต่อไป

ขณะที่ในฟากฝั่งกลุ่มผู้ป่วยแม่เมาะ ...หลังเสร็จสิ้นการฟังคำพากษา พวกเขาทำได้เพียงพาตัวเอง กลับไปรอ กฟผ.ดำเนินการอพยพโยกย้ายพวกเขาออกไปให้พ้นรัศมีพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบ 5 กม. ที่เคยมีบทเรียนการอพยพชาวบ้านรอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะมาให้เห็นแล้วเท่านั้น

นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ บอกว่า ชาวบ้าวตั้งความหวังสูงมาก เพราะมีชีวิต และสุขภาพ เป็นเดิมพัน แต่ก็คุยกันมาก่อนแล้วเหมือนกันว่า คำตัดสินอาจจะไม่เป็นไปอย่างที่เราหวัง และชาวบ้าน กับ กฟผ.ก็ยังต้องอยู่ร่วมกันต่อไป และถึงอย่างไรเครือข่ายฯก็ยังจะรวมกลุ่มกันต่อไป

“เรามาด้วยกันอยู่แล้ว 13 ปีแล้ว เป็น 13 ปีในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เรากลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว แต่อนาคตจะต้องอยู่ร่วมกันต่อไป อยากให้ กฟผ.เข้าไปหาชาวบ้าน และช่วยเหลือด้วยความจริงจัง และจริงใจ ซึ่งชาวบ้านก็พร้อมที่จะเดินหน้าไปด้วยกัน”

และหลังศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษากรณีผู้ป่วยแม่เมาะที่ไม่มีใบรับรองแพทย์ ครั้งนี้แล้ว ในวันที่ 25 ก.พ. ศาลปกครองเชียงใหม่ ยังได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด กรณีผู้ป่วย 131 ราย ซึ่งมีเอกสารยืนยันทางการแพทย์เรียบร้อยทั้งหมด ที่ยื่นฟ้อง กฟผ.ด้วย

หากศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น กฟผ.จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 131 ราย (เดิม 142 ราย แต่ถอนฟ้องไป 11 ราย) รวมเป็นเงิน 1,086 ล้านบาท

เป็นอีกความหวังที่เหลือของกลุ่มผู้ป่วยแม่เมาะ ที่ยังมีชีวิตอยู่


ชาวบ้านลุ้นคำตัดสินของศาลอย่างใจจดใจจ่อ และหวังว่า จะได้รับความเห็นใจจากผู้สร้างปัญหาให้แก่พวกเขา

ส่วนหนึ่งของผู้ที่ได้รับผลกระทบ มีสภาพความเห็นอยู่แบบนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น