xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ สั่ง กฟผ.รื้อสนามกอล์ฟ-อพยพชาวบ้านพ้นรัศมีผลกระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ศาลปกครองเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีชาวบ้านแม่เมาะผู้ได้รับผลกระทบการทำเหมืองลิกไนต์ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะฟ้อง กฟผ. สั่งปฏิบัติตามเงื่อนไขประทานบัตรและมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยให้รื้อถอนสนามกอล์ฟแล้วให้ถมดินพร้อมปลูกป่าทดแทน และพิจารณาอพยพชาวบ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร ภายใน 90 วัน แต่ไม่มีคำสั่งให้ต้องจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้าน ด้านแกนนำเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะประกาศหาช่องทางเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมต่อเนื่อง

วันนี้ (10 ก.พ. 58) ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ กลุ่มชาวบ้านอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ประมาณ 300 คน เข้าร่วมรับฟังการอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่กลุ่มชาวบ้านอำเภอแม่เมาะที่อยู่อาศัยในพื้นที่โดยรอบและได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะที่เป็นผู้ถือประทานบัตรการทำเหมืองแร่ในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง แต่ละเลยมิได้ปฏิบัติตามวิธีการทำเหมืองแร่และเงื่อนไขท้ายประทานบัตร ซึ่งมีการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองครั้งแรกตั้งแต่ปี 2546



โดยเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 52 ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ กฟผ.จ่ายค่าเสียหายให้ชาวบ้าน และเพิกถอนสนามกอล์ฟของโรงไฟฟ้าแม่เมาะออกไป อย่างไรก็ตาม ทาง กฟผ.ได้มีการยื่นอุทธรณ์

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น โดยให้ กฟผ.ทำการติดตั้งม่านน้ำเพื่อลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ ความยาว 800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออกและด้านทิศตะวันตก พร้อมกันนี้ให้จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาในการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบที่อาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินและมีความประสงค์จะอพยพในการอพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร และให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและปลูกป่าทดแทนในส่วนที่มีการนำไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ

ขณะเดียวกันให้นำพืชที่ปลูกใน Wetland ไปกำจัดและปลูกเสริมทุก 18 เดือน และต้องทำการขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำใน Wetland นอกจากนี้ให้ทำการขนส่งเปลือกดินโดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน ให้วางแผนจุดปล่อยดิน โดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนที่อยู่โดยรอบ ให้กำหนดพื้นที่ Buffer Zone ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชนให้เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำ Bunker Zone ให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของ Bunker ในการปล่อยดินลงที่เก็บกองดินนั้นจะต้องกำหนดเป็นตารางที่แน่นอน โดยใช้ฤดูเป็นเกณฑ์ในการตัดสินตำแหน่งที่จะต้องห่างจากชุมชนมากที่สุด

ส่วนกรณีมาตรการรายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อมนั้นให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 3 ตรวจสอบกำกับดูแลการประกอบกิจการของ กฟผ.ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการออกประทานบัตรและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ

หาก กฟผ.ไม่ปฏิบัติตามให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ไม่ได้สั่งให้มีการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาค่าเสียหายต่างๆ แก่ผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ ให้มีการดำเนินการตามคำพิพากษาภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

ด้านนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ซึ่งร่วมกับพวกที่เป็นชาวบ้านแม่เมาะ ยื่นฟ้องคดีนี้ กล่าวว่า เบื้องต้นพอใจในระดับหนึ่งที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาดังกล่าวออกมา ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า กฟผ.มีความบกพร่องในส่วนของการดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะในส่วนที่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูขุมเหมืองที่ปัจจุบันทำเป็นสวนและสนามกอล์ฟ ด้วยการถมดินกลับเข้าไปให้เหมือนเดิมมากที่สุด และปลูกต้นไม้ทดแทนหรือการพิจารณาอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร ภายใน 90 วัน

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ารู้สึกผิดหวังเล็กน้อยที่ กฟผ.ไม่ต้องจ่ายเงินเยียวยาชดเชยค่าเสียหายให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้านต่างๆ โดยเฉพาะสุขภาพ ซึ่งทางเครือข่ายจะมีการปรึกษาหารือกันเพื่อวางแนวทางการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อไป และหากเป็นไปได้อยากเรียกร้องให้ทาง กฟผ.มีความเมตตาและเห็นอกเห็นใจชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ด้วยการหันหน้าเข้ามาพูดคุยหาทางออกร่วมกันมากกว่าที่จะสร้างปัญหาความขัดแย้งอย่างที่มีมาอย่างยาวนาน
กำลังโหลดความคิดเห็น