xs
xsm
sm
md
lg

ศาลพิพากษาคดีแม่เมาะ รื้อสนามกอลฟ์ปลูกป่า ทำตามประทานบัตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาคดีชาวบ้านแม่เมาะฟ้องกฟผ.ทำเหมืองลิกไนต์ สั่งทำตามเงื่อนไขประทานบัตร แก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รื้อสนามกอล์ฟแล้วถมดิน-ปลูกป่าทดแทน อพยพชาวบ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กม. ภายใน 90 วัน แกนนำเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยหาช่องเรียกร้องต่อ เหตุไม่มีคำสั่งจ่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเหมือนศาลปกครองชั้นต้น

วานนี้ (10 ก.พ.) ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ ชาวบ้านอำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง สมาชิกเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะประมาณ 300 คน ร่วมรับฟังการอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีที่ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่โดยรอบ และได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในฐานะผู้ถือประทานบัตรการทำเหมืองแร่ในอ.แม่เมาะ ละเลยมิได้ปฏิบัติตามวิธีการทำเหมืองแร่ และเงื่อนไขท้ายประทานบัตร ซึ่งยื่นคำร้องต่อศาลปกครองครั้งแรกตั้งแต่ปี 2546 และเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2552 ศาลปกครองชั้นต้น มีคำพิพากษาให้กฟผ.จ่ายค่าเสียหายให้ชาวบ้าน และเพิกถอนสนามกอล์ฟของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ แต่กฟผ.ยื่นอุทธรณ์

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น โดยให้กฟผ.ติดตั้งม่านน้ำเพื่อลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ ความยาว 800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านทิศตะวันออก และด้านทิศตะวันตก จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกันพิจารณาอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบ อาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และประสงค์จะอพยพออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร และให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการถมดินในบ่อเหมืองให้มากที่สุด และปลูกป่าทดแทนในส่วนที่นำไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ

ขณะเดียวกันให้นำพืชที่ปลูกใน Wetland ไปกำจัด และปลูกเสริมทุก 18 เดือน รวมทั้งต้องขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำในที่ราบลุ่ม นอกจากนี้ให้ขนส่งเปลือกดินโดยใช้ระบบสายพาน ที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน ให้วางแผนจุดปล่อยดิน โดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนโดยรอบ ให้กำหนด Buffer Zone ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชนไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำ Bunker Zone ให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของ Bunker ในการปล่อยดินลงที่เก็บกองดินนั้น ต้องกำหนดเป็นตารางที่แน่นอน โดยใช้ฤดูกาลเป็นเกณฑ์ และต้องห่างจากชุมชนมากที่สุด

ส่วนกรณีรายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อม ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 3 ตรวจสอบกำกับดูแลการประกอบกิจการของกฟผ. ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการออกประทานบัตร มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะ หากกฟผ.ไม่ปฏิบัติตาม ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยให้ดำเนินการตามคำพิพากษาภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

ทั้งนี้ คำพิพากษาไม่ได้สั่งให้จ่ายเงินชดเชยเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบ ตามที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาไว้

นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวว่า พอใจในระดับหนึ่ง การที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าว เป็นการแสดงให้เห็นว่ากฟผ.มีความบกพร่องในมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูขุมเหมือง ที่ปัจจุบันทำเป็นสวนและสนามกอล์ฟ ด้วยการถมดินกลับเข้าไปให้เหมือนเดิมมากที่สุด และปลูกต้นไม้ทดแทน หรือพิจารณาอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบออกนอกรัศมี 5 กิโลเมตรภายใน 90 วัน

อย่างไรก็ตามยอมรับว่ารู้สึกผิดหวังเล็กน้อย ที่กฟผ.ไม่ต้องจ่ายเงินเยียวยาให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะสุขภาพ ซึ่งทางเครือข่ายจะหารือกันเพื่อวางแนวทางการเรียกร้องต่อไป หากเป็นไปได้อยากเรียกร้องให้กฟผ.มีความเมตตา เห็นอกเห็นใจชาวบ้านด้วยการหันหน้าเข้ามาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน มากกว่าที่จะสร้างความขัดแย้งอย่างที่มีมาอย่างยาวนาน

ในวันเดียวกัน เทศบาลตำบลเกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช จัดเวทีซักฟอกผังเมืองรวมจังหวัด โดยเฉพาะอ.หัวไทร ซึ่งประชาชนพบว่าเอื้อต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินของกฟผ. ที่ประชาชนคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งประกาศแนบท้ายกฎกระทรวง ที่มีหลักเกณฑ์เอื้อต่อการใช้พลังงานความร้อนแบบเปิดกว้าง ไม่ระบุชนิดเชื้อเพลิงที่ชัดเจน จึงเป็นการเอื้อต่อโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งยังพบไม่เปิดให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมจัดทำ จึงคัดค้านผังเมืองรวมดังกล่าว ขณะที่น.ส.จุฑาภรณ์ นวลใย ผู้แทนโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ระบุว่าเอกสารผิดพลาด และขออภัย โดยจะนำไปแก้ไขให้ถูกต้อง

นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปพลังงานภาคใต้ กล่าวว่า ได้เสนอให้ระบุลงไปให้ชัดเจนว่า สามารถใช้เชื้อเพลิงชนิดใดได้หรือไม่ได้ ซึ่งชาวต.เกาะเพชร กว่า 200 คนพร้อมเข้าชื่อคัดค้านผังเมืองรวมจังหวัดในส่วนของอ.หัวไทร เพื่อให้ประกาศให้ชัดเจนว่าจะมีโรงไฟฟ้าหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่ได้
ศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ สั่ง กฟผ.รื้อสนามกอล์ฟ-อพยพชาวบ้านพ้นรัศมีผลกระทบ
ศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ สั่ง กฟผ.รื้อสนามกอล์ฟ-อพยพชาวบ้านพ้นรัศมีผลกระทบ
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ศาลปกครองเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีชาวบ้านแม่เมาะผู้ได้รับผลกระทบการทำเหมืองลิกไนต์ของโรงไฟฟ้าแม่เมาะฟ้อง กฟผ. สั่งปฏิบัติตามเงื่อนไขประทานบัตรและมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยให้รื้อถอนสนามกอล์ฟแล้วให้ถมดินพร้อมปลูกป่าทดแทน และพิจารณาอพยพชาวบ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตรภายใน 90 วัน แต่ไม่มีคำสั่งให้ต้องจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้าน ด้านแกนนำเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะประกาศหาช่องทางเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น