xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 8-14 ก.พ.2558

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.คณะบุคคลหลายภาคส่วน เตรียมยื่น จ.ม.เปิดผนึกถึงนายกฯ 16 ก.พ.ขอชะลอเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ขณะที่ภาค ปชช.เตรียมยื่นค้านเพิ่ม!
 (บนซ้าย) คณะบุคคลหลายภาคส่วนแถลงเกี่ยวกับ จ.ม.เปิดผนึกที่จะยื่นถึงนายกฯ (ล่าง) ลายเซ็นของบุคคลสำคัญท้าย จ.ม. (บนขวา) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทยแถลง
เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่โรงแรมเอเชีย คณะบุคคล ประกอบด้วย นักวิชาการ อดีตข้าราชการ และอดีต นักการเมือง ได้เปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับจดหมายเปิดผนึกที่จะยื่นถึงนายกรัฐมนตรีในวันที่ 16 ก.พ.นี้ โดยจะขอให้ระงับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแก้กฏหมาย พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการด้านพลังงาน เพื่อให้ประเทศและประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด

สำหรับผู้ที่ลงชื่อท้ายจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว มีบุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงหลายคน เช่น ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ,นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ,น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ,นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ฯลฯ

ทั้งนี้ นายธีระชัย กล่าวว่า จดหมายเปิดผนึกนี้เป็นลักษณะความรู้และข้อคิดเห็นทางวิชาการ เนื่องจากการที่รัฐบาลกำลังจะเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งกระทรวงพลังงานจะปิดยื่นซองประมูลในวันที่ 18 ก.พ.นี้ กำลังสร้างความขัดแย้งที่อาจมีแนวโน้มขยายออกไป ทำให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายไม่เข้าใจ ก่อให้เกิดปัญหาต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้นผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตข้าราชการ และคณะบุคคลที่เคยทำคุณงามความดีแก่ประเทศ จึงร่วมกันลงนามขอให้รัฐบาลชะลอการเปิดสัมปทานออกไป โดยให้มีการสำรวจแหล่งผลิตในประเทศ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

ขณะที่ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต เผยข้อเรียกร้องของคณะบุคคลว่า ประกอบด้วย 1.รัฐบาลได้คำนึงถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเพียงพอแล้วหรือไม่ 2.รัฐบาลได้เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสหรือไม่ 3.รัฐบาลบริหารจัดการความมั่นคงทางพลังงานอย่างถูกต้องและเป็นธรรมต่อประชาชนหรือไม่ 4.รัฐบาลจัดการทรัพยากรด้วยความรอบคอบและเป็นธรรมต่อเอกชนทุกรายหรือไม่ คณะบุคคลฯ จึงขอเสนอแนะให้รัฐบาลชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ไว้ก่อนเป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี โดยระหว่างที่ชะลอ ให้รัฐเร่งจ้างสำรวจศักยภาพปิโตรเลียมในแหล่งเหล่านี้ พร้อมทั้งแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการในรูปแบบอื่นที่รัฐได้รับผลตอบแทนเป็นปิโตรเลียม เช่น ระบบแบ่งปันผลผลิต และการจ้างผลิต เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศสามารถบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมได้อย่างเหมาะสมกับศักยภาพยิ่งขึ้น ส่วนปิโตรเลียมใหม่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ ควรพิจารณาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต สำหรับแหล่งปิโตรเลียมที่หมดอายุสัมปทานแล้วแต่ยังมีปิโตรเลียมอยู่ ควรพิจารณาใช้ระบบจ้างผลิต เพราะมีอุปกรณ์พร้อม และมีความเสี่ยงต่ำ เช่น แหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช เป็นต้น

ด้านนายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวว่า ตนหวังว่า คสช.และรัฐบาลจะรับฟัง เพราะการขับเคลื่อนเรื่องนี้ไม่ใช่ความพยายามสร้างปัญหาทางการเมือง แต่เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นศรัทธาในนโยบายพลังงานของรัฐบาล ทั้งเรื่องการขึ้นราคาแอลพีจี และเอ็นจีวี รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน จึงอยากให้ฟังข้อมูลทุกด้าน เพราะที่ผ่านมาเหมือนกับสื่อสารไม่ได้ เมื่อได้รับทราบจดหมายเปิดผนึกนี้แล้วก็อยากให้ชะลอสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปก่อน เพราะกระบวนการที่จะทำ ไม่น่าใช้เวลาเกิน 2 ปี ทั้งการแก้กฎหมายและจ้างสำรวจแหล่งทรัพยากร ทำให้ประเทศมีทางเลือก และไม่คิดว่าจะกระทบความมั่นคงทางพลังงาน

ทั้งนี้ วันเดียวกัน(12 ก.พ.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ได้เปิดแถลงที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า วันที่ 16 ก.พ. เครือข่ายฯ และประชาชนจะเดินทางไปยังศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือทวงคำตอบจากรัฐบาลถึงความคืบหน้าที่ก่อนหน้านี้ภาคประชาชนได้ยื่นหนังสือให้รัฐบาลชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไป รวมทั้งจะนำรายชื่อประชาชนที่ร่วมลงนามคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมฯ อีก 3,000 รายชื่อส่งให้รัฐบาลด้วย พร้อมกันนี้จะทำหนังสือเพิ่มเติมถึงหัวหน้า คสช. เพื่อให้มีคำสั่งถึงกระทรวงพลังงานในการหยุดประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาใช้สิทธิ์สำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21

ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แนวร่วมกลุ่มปฏิรูปพลังงานภาคประชาชน กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 16-18 ก.พ.นี้เป็นช่วงเวลาสุดท้ายของประวัติศาสตร์ในการปกป้องปิโตรเลียมของชาติ โดยภาคประชาชนจะยื่นเอกสารเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจสูงสุดในปัจจุบันให้ยุติการเปิดสัมปทานฯ ออกไปก่อน เพราะระบบดังกล่าวยังไม่ตอบโจทย์ว่าประโยชน์จะตกถึงประชาชนได้อย่างไร ไม่ตอบโจทย์ความโปร่งใสในการขุดเจาะและการรั่วไหลของพลังงาน ไม่ตอบโจทย์การแข่งขันอย่างเสรีด้านพลังงาน รวมถึงความไม่โปร่งใสของการเปิดสัมปทานที่คนไทยไม่เคยได้รับรู้เท่าที่ควร “สัญญาสัมปทานครั้งนี้จะมีอายุถึง 39 ปี ถ้าเราไม่แก้ไขวันนี้ จะลำบากไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งท่านนายกฯ ได้ระบุไว้เมื่อ 28 ต.ค. 57 ว่าจะทำตามมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งที่ผ่านมามีเสียงข้างมากที่ค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ดังนั้นจึงไม่ต้องการให้ท่านผิดคำพูด เราจึงห่วงว่าหากท่านไม่รักษาคำพูด แล้วประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะสามารถคืนความสุขให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง”

2.ศาลฎีกานักการเมือง รับฟ้องคดี “สมชาย-บิ๊กจิ๋ว-พัชรวาท” สั่งสลายม็อบพันธมิตรฯ ปี ’51 นัดสอบคำให้การ 11 พ.ค. !

(บน) นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์-พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ-พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ (ล่าง) ผู้บาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมด้วยระเบิดแก๊สน้ำตาเมื่อ 7 ต.ค.51
เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนและผู้พิพากษาองค์คณะรวม 9 คน ได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ,พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ,พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 295 และ 302 จากกรณีรัฐบาลนายสมชายมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 471 ราย โดยองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 ได้มีคำสั่งนัดพิจารณาครั้งแรก เพื่อสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 11 พ.ค.นี้ เวลา 09.30 น.

สำหรับคดีนี้ ป.ป.ช.ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยขั้นตอนหลังศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 9 ก.พ.แล้ว ศาลฯ จะส่งหมายแจ้งนายสมชายกับพวกทั้งสี่ให้เดินทางมาศาลในวันที่ 11 พ.ค. เพื่อสอบคำให้การว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ

ด้านนายสมชาย ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ยืนยันว่า ตนไม่ได้ทำผิดตามที่ ป.ป.ช.ฟ้อง ตนปฏิบัติหน้าที่โดยชอบและสุจริตตามอำนาจหน้าที่ที่นายกฯ พึงปฏิบัติ นายสมชาย ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ก่อนหน้า ป.ป.ช.ฟ้องคดี ได้มีการพิสูจน์ความจริงเรื่องนี้เสร็จสิ้นไปแล้ว โดยอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องคดีตนแล้วเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 55 และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็เคยยื่นฟ้องถอดถอนตนต่อวุฒิสภา ซึ่งวุฒิสภาได้มีมติไม่ถอดถอนตนเมื่อ 9 มี.ค.53 แต่ ป.ป.ช. กลับนำเรื่องที่อัยการสั่งไม่ฟ้องและวุฒิสภามีมติไม่ถอดถอนมาฟ้องคดีที่ศาลอีกครั้ง แต่เมื่อเรื่องมาถึงศาลแล้ว ตนก็พร้อมจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และมีพยานหลักฐานที่จะยืนยันความบริสุทธิ์ของตน

3.รวบ “หัสดิน” บิ๊กเครือข่าย “บรรพต” โหลดคลิปหมิ่นสถาบันกว่า 400 คลิป อ้างทำคนเดียว ด้านตำรวจไม่ปักใจเชื่อ!
(บน) พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำทีมแถลงจับกุมนายหัสดิน อุไรไพรวัน ผู้ใช้นามแฝงว่า บรรพต (ล่างซ้าย) ขณะเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมนายหัสดินที่โรงแรมแห่งหนึ่ง
ความคืบหน้ากรณีตำรวจสามารถจับกุมผู้ร่วมอยู่ในเครือข่าย “บรรพต” ที่ผลิตและเผยแพร่ซีดี คลิปเสียง และบทความในลักษณะหมิ่นสถาบัน จำนวน 6 คน โดยมีแนวร่วมกลุ่มคนเสื้อแดงรวมอยู่ด้วย ซึ่งเครือข่ายดังกล่าวมีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรม ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการกระทำผิดกฎหมาย ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายและบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ จากนั้นตำรวจได้พยายามสอบขยายผลเพื่อหาผู้บงการที่ใช้ชื่อ “บรรพต” ว่าเป็นใคร เพื่อนำตัวมาดำเนินคดีนั้น

ปรากฏว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมนายหัสดิน อุไรไพรวัน อายุ 64 ปี ซึ่งเป็นผู้ที่ใช้นามแฝงว่า “บรรพต” ได้แล้ว โดย พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ต.ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(ปอท.) ได้แถลงผลการจับกุมนายหัสดินเมื่อวันที่ 11 ก.พ. โดยระบุว่า นายหัสดินได้อัพโหลดคลิปเสียงหมิ่นเบื้องสูงกว่า 400 คลิป โดยฝากไว้ในเซิร์ฟเวอร์ของเว็บไซต์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งยังใช้โปรแกรมแปลงเสียงเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่จับเสียงได้ โดยมีผู้หลงเชื่อดาวน์โหลดไปเผยแพร่ต่อจำนวนมาก ถือว่าเป็นกลุ่มที่หมิ่นสถาบันมากที่สุด และมีผู้ติดตามจำนวนมาก ตำรวจจึงแกะรอยจนนำมาสู่การจับกุมเครือข่าย “บรรพต” ได้แล้ว 7 คน ซึ่งผู้ต้องหารับสารภาพทุกข้อกล่าวหา และว่า หลังจากนี้จะคุมตัวไปฝากขังที่ศาลทหาร โดยแจ้งข้อหาหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ และน่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ

ทั้งนี้ พล.ต.ท.ประวุฒิ กล่าวว่า แม้นายหัสดินจะให้การว่าผลิตคลิปเสียงหมิ่นนี้เพียงคนเดียว แต่ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อ ต้องพิสูจน์ทราบให้ได้ว่ามีผู้ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังหรือให้ทุนอุดหนุนหรือไม่ ด้านนายหัสดินได้ขอบคุณทหาร ตำรวจ และ กอ.รมน.ที่สนธิกำลังจับกุมตน และไม่ทำร้ายตน นายหัสดิน ยังยอมรับด้วยว่า ตนเป็นหัวโจกของเรื่องทั้งหมด และตอนนี้รู้สึกเบื่อหน่าย อยากเลิก ขอไถ่บาปให้ตัวเอง และไปรับฐานานุกรรมตามที่ตัวเองควรได้รับ “อยากบอกเหล่าวิทยากรทั้งหลายที่ทำแบบผม ถ้าคิดว่าจะมอบตัว ขอให้ติดต่อมาทางโฆษก ตร. รับรองว่าไม่มีการทารุณกรรมแน่นอน”

นายหัสดิน ยังยืนยันด้วยว่า ไม่มีทุนจากแหล่งใดสนับสนุน มีรายได้จากการทำเสื้อขาย พร้อมย้ำว่า กระบวนการทำคลิป ตั้งแต่การอัดเสียง แปลงเสียง ใส่ดนตรี ทำเองทั้งหมด โดยศึกษาการทำแบบครูพักลักจำ “เหตุที่ใช้ชื่อบรรพต เพราะในชีวิตมีไอดอล 2 คน คนแรกคือ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ผมจึงมีวิธีพูดคล้ายคลึงนายสมัครมาก อีกคนคือ ดร.บรรพต วีระใส ซึ่งผมชื่นชอบสมัยเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง...”

ส่วนความคืบหน้าคดีเผยแพร่แถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอม ที่ตำรวจจับกุมนายกฤษณ์ บุดดีจีน สมาชิกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นคนโพสต์แถลงการณ์ดังกล่าวเป็นลำดับต้นๆ และตำรวจพยายามสอบขยายผลเพื่อหามือผลิตแถลงการณ์ปลอมดังกล่าว ขณะที่นายนิรันดร์ เยาวภาว์ อดีตผู้ดูแลเว็บไซต์แมเนเจอร์ออนไลน์ ซึ่งได้เผยแพร่แถลงการณ์ดังกล่าวทางเว็บไซต์ เนื่องจากไม่ทราบว่าเป็นแถลงการณ์ปลอม ได้เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี(ปอท.) พร้อมด้วยนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ซึ่งเป็นการเดินทางเข้ามอบตัว หลัง ปอท.ออกหมายจับ

ทั้งนี้ นายสุวัตร กล่าวว่า แถลงการณ์ปลอมดังกล่าว นายนิรันดร์รับมาจากกลุ่มนักข่าวสายกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงสาธารณสุข ที่ส่งมาเป็นประจำอยู่แล้ว จึงนำขึ้นเว็บไซต์โดยไม่มีเจตนาหมิ่นสถาบัน แต่หลังจากตรวจสอบไปทางสำนักพระราชวังทราบว่า ไม่ใช่แถลงการณ์จริง จึงลบข่าวดังกล่าวทิ้งและขึ้นคำกล่าวขอโทษในเว็บไซต์ รวมทั้งทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งนายนิรันดร์ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเต็มที่เกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ จึงคาดไม่ถึงว่าจะถูกออกหมายจับ ทั้งที่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เมื่อไม่สามารถถอนหมายจับได้ จึงให้นายนิรันดร์มอบตัว

จากนั้น ช่วงบ่ายวันเดียวกัน(10 ก.พ.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท.ได้นำตัวนายกฤษณ์ ที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกควบคุมตัวครบ 7 วัน และนายนิรันดร์ ไปยังศาลทหาร เพื่อขอฝากขังผัดแรก โดยนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ นปช. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหานายกฤษณ์ 2 ข้อหา คือหมิ่นสถาบันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 12 (2) (3) (5) เบื้องต้นนายกฤษณ์ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่ยอมรับว่าโพสต์แถลงการณ์ดังกล่าวจริง และเมื่อทราบว่าเป็นแถลงการณ์ปลอม ได้ลบออก

นายวิญญัติ ยังขู่จะฟ้องตำรวจด้วยที่เข้าควบคุมตัวนายกฤษณ์ทันที แทนที่จะออกหมายเรียกก่อนจะออกหมายจับ แม้จะอ้างกฎอัยการศึก แต่การดำเนินการต้องมีขอบเขต และว่า อยากฝากไปยังรัฐบาลและ คสช.ด้วยว่า ไม่อยากให้ดำเนินคดีคนที่แชร์แถลงการณ์ปลอม น่าจะเรียกตัวไปปรับทัศนคติ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะให้ละเว้นกฎหมาย แต่ขอให้องค์ประกอบในการกระทำผิดครบถ้วน

ทั้งนี้ หลังพนักงานสอบสวนขอศาลทหารฝากขังนายกฤษณ์และนายนิรันดร์ ปรากฏว่า นายวิญญัติ ยังไม่ยื่นขอประกันตัวนายกฤษณ์ เนื่องจากเอกสารการขอประกันตัวยังไม่พร้อม ขณะที่พนักงานสอบสวนให้เหตุผลในการขอศาลฝากขังนายกฤษณ์ว่า เนื่องจากต้องสอบสวนพยานอีก 12 ปาก และตรวจสอบด้านเทคนิค ซึ่งต้องใช้เวลา ด้านศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ฝากขังนายกฤษณ์ผัดแรกเป็นเวลา 12 วัน ระหว่างวันที่ 10-21 ก.พ. ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ขณะที่นายวิญญัติ เผยว่า เหตุที่ยังไม่ยื่นขอประกันตัวนายกฤษณ์ เนื่องจากเอกสารยังไม่พร้อม หากพร้อมเมื่อใด จะรีบดำเนินการโดยไม่ต้องรอฝากขังครบ 12 วัน

ด้านนายสุวัตร ในฐานะทนายความนายนิรันดร์ เผยเหตุผลที่พนักงานสอบสวนขอฝากขังนายนิรันดร์ว่า ต้องตรวจคอมพิวเตอร์ กระบวนการโพสต์ข้อความลงเว็บไซต์ และตรวจสอบโทรศัพท์มือถือว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ หลังจากยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวนายนิรันดร์ โดยให้เหตุผลว่าไม่มีพฤติกรรมหลบหนี และมีหลักประกันน่าเชื่อถือ ศาลจึงอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกัน 4 แสนบาท พร้อมให้นายนิรันดร์มารายงานตัวต่อศาลทุกๆ 12 วัน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ก.พ. นายศุภวัส ทักษิณ ทีมทนายของนายกฤษณ์ ได้นำหลักทรัพย์เป็นเงิน 4 แสนบาท ยื่นขอประกันตัวนายกฤษณ์ต่อศาลทหาร หลังจากเมื่อวันที่ 10 ก.พ. เอกสารไม่พร้อม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพนักงานสอบสวนไม่ได้เดินทางมาศาล ศาลจึงไม่สามารถสอบถามข้อมูลได้ ประกอบกับศาลเกรงว่า ผู้ต้องหาจะหลบหนี ศาลจึงยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายกฤษณ์

4.ปปง.มีมติยึดรถหรู “บอย ปกรณ์” ด้าน สจล.-ไทยพาณิชย์ ตั้งโต๊ะแถลงร่วมครั้งแรก แบงก์ลั่นพร้อมชดใช้ หาก พนง.ทำเสียหาย!

(บน) ผู้บริหาร สจล.-ไทยพาณิชย์ เปิดแถลงร่วมกันเมื่อ 13 ก.พ. (ล่าง) นายปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ หรือบอย กับรถหรูลัมโบร์กินี
ความคืบหน้าคดียักยอกเงินสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) กว่า 1,500 ล้านบาท และความคืบหน้าเหตุเพลิงไหม้ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่รัชโยธินเมื่อคืนวันที่ 7 ก.พ. ซึ่งต้นเพลิงอยู่ที่ชั้น 10 โดยเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว ส่งผลให้เจ้าหน้าที่อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน(อปพร.) หลักสี่ ที่เข้าไปควบคุมเพลิงเสียชีวิต 1 คน ทราบชื่อคือ นายเดชา ด้วงชนะ ซึ่งทางธนาคารไทยพาณิชย์ ได้มอบเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิต 2 ล้านบาท ขณะที่สังคมกังขาว่า เหตุเพลิงไหม้ธนาคารไทยพาณิชย์เกี่ยวข้องกับคดียักยอกเงิน สจล.หรือไม่ หรือจะส่งผลกระทบต่อเอกสารหลักฐานที่ธนาคารไทยพาณิชย์ต้องส่งให้ตำรวจกองปราบฯ หรือไม่

ปรากฏว่า วันรุ่งขึ้น(8 ก.พ.) นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ ได้แถลงข่าวยืนยันว่า ต้นเพลิงเป็นพื้นที่เก็บเอกสารสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการอนุมัติแล้ว ไม่ใช่เอกสารสำคัญ และไม่เกี่ยวข้องกับเอกสารในคดียักยอกเงิน สจล. และว่า ธนาคารฯ ได้ส่งเอกสารให้ตำรวจกองปราบฯ หมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม มีคำยืนยันจากผู้บริหาร สจล.ว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ยังส่งเอกสารให้ตำรวจกองปราบฯ และส่งให้ สจล.ไม่ครบ ยังขาดเอกสารสำคัญจำนวนมาก ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดี สจล. และ รศ.ดร.จำรูญ เล้าสินวัฒนา รักษาการแทนรองอธิการบดี สจล. ได้เปิดแถลงข่าวร่วมกับผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ นำโดยนายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์

โดย รศ.ดร.จำรูญ กล่าวว่า จากการตรวจสอบ พบบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีการทุจริตทั้งหมด 8 บัญชี รวม 68 รายการ จึงได้ขอเอกสารทั้ง 68 รายการ เพื่อจะได้ทราบว่าใครเป็นผู้ถอนเงิน หรือซื้อแคชเชียร์เช็ค สำหรับรายการที่ สจล.ขอเอกสารไปมี 29 รายการ ใน 3 บัญชีหลักของธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาบิ๊กซี สุวินทวงศ์ ทางธนาคารได้จัดส่งมาแล้ว 21 รายการ ยังขาดอีก 8 รายการ ซึ่งทางธนาคารยืนยันว่าจะทยอยส่งให้ครบภายในวันที่ 18 ก.พ. ส่วนที่เหลืออีก 5 บัญชี สจล. ขอไป 39 รายการ ทางธนาคารจัดส่งมาแล้ว 8 รายการ ยังขาดอีก 31 รายการ โดยทางธนาคารจะทยอยส่งให้ครบทุกรายการภายในวันที่ 23 ก.พ.

ด้านนายวิชิต กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นถือเป็นปัญหาในองค์กร ไม่ใช่ข้อพิพาทระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์กับ สจล. ยืนยันว่า ทางธนาคารไม่มีนโยบายที่จะปกป้องคนผิด แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมาขั้นตอนการส่งเอกสารอาจมีความล่าช้าไปบ้าง จนทำให้ทาง สจล.ไม่สบายใจ ซึ่งทางธนาคารต้องขออภัย ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการรวดเร็วและโปร่งใส จึงได้แต่งตั้งนางวัลลยา แก้วรุ่งเรือง รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกฎหมาย ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงที่มีความอาวุโสและมีอำนาจในการตัดสินใจและเปลี่ยนทีมค้นหาเอกสารชุดใหม่ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบประสานงานในการค้นและจัดส่งเอกสารให้กับทาง สจล. และกองปราบฯ "ถ้าพบว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากพนักงานของธนาคารไทยพาณิชย์ ทางธนาคารก็จะรับผิดชอบเท่ากับจำนวนความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง...” นายวิชิต ยังกล่าวด้วยว่า ธนาคารไทยพาณิชย์จะยกมาตรฐานการทำงานโดยจะมีการตรวจสอบภายในอย่างเข้มข้น รวมทั้งทบทวนมาตรการการเบิกถอนและการเซ็นย้อนหลังให้มีความเข้มงวดมากขึ้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังการแถลงข่าวเสร็จสิ้น สื่อมวลชนได้ขอให้ผู้บริหาร สจล.และธนาคารไทยพาณิชย์ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันและขอให้จับมือกัน แต่ได้รับการปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ขัดแย้งกัน จึงไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น แต่อนุญาตให้ถ่ายภาพตามปกติได้

ส่วนความคืบหน้าการยึดและอายัดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดในคดียักยอกเงิน สจล.นั้น เมื่อวันที่ 12 ก.พ. พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) แถลงว่า ที่ผ่านมา ปปง.ได้ออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินแล้ว 182 รายการ ล่าสุด ปปง.ได้ตรวจสอบพบทรัพย์สินอีก 22 รายการ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด จึงมีมติยึดและอายัดเพิ่ม เช่น กิจการของบริษัท มัทธุจัด ซึ่งเป็นของนายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ผู้ต้องหาในคดีนี้ ,กิจการของสตรีทผับ แอนด์ เรสเตอรองท์ ,รถยนต์นั่งสามตอน ,รถโดยสาร 2 ชั้นปรับอากาศ ของบริษัท มัทธุจัด ,บัญชีเงินฝากของนายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ฯลฯ

ส่วนรถยนต์ลัมโบร์กินีของนายปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ หรือบอย ดารานักแสดงชื่อดัง ที่ซื้อต่อจากนายกิตติศักดิ์นั้น ที่ประชุมคณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ยึดรถไว้ เนื่องจากเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้นายปกรณ์สามารถยื่นคำร้องก่อนศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์นั้นตกเป็นของแผ่นดินได้ โดยแสดงให้ศาลเห็นว่า เป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน

5.ศาล ปค.สูงสุด สั่ง กฟผ.ฟื้นฟูแม่เมาะ พร้อมทำม่านน้ำกันฝุ่น ด้านชาวบ้านพอใจ แต่ผิดหวังไม่ได้ค่าชดเชย!
ชาวบ้านแม่เมาะ นั่งฟังคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ศาลปกครองเชียงใหม่ (10 ก.พ.)
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ศาลปกครองเชียงใหม่ ได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีที่นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ กับพวกรวม 318 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ,กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 11 ราย กรณี กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ซึ่งเป็นผู้ถือประทานบัตรการทำเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ไม่ปฏิบัติตามวิธีการทำเหมืองแร่และเงื่อนไขท้ายประทานบัตร รวมทั้งเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมืองแร่ แผนผัง โครงการ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 กระทั่งก่อให้เกิดมลพิษ ทำให้ผู้ฟ้องได้รับผลกระทบทั้งต่อสุขภาพอนามัยและทรัพย์สิน ขณะที่ผู้ถูกฟ้องรายอื่น ก็เพิกเฉย ไม่ดำเนินการให้มีการควบคุมมลพิษ หรือเรียกค่าเสียหาย หรือให้ กฟผ.ยุติการกระทำดังกล่าวแต่อย่างใด

ผู้ฟ้องจึงขอให้ศาลปกครองสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 11 ราย เพิกถอนประทานบัตรของ กฟผ.และให้ผู้ถูกฟ้องที่ 8-11 แก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และให้ กฟผ.หยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษ รวมทั้งให้อธิบดีและกรมควบคุมมลพิษเรียกค่าเสียหายจาก กฟผ.และอุตสาหกรรม จ.ลำปาง โดยให้ กฟผ.ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องด้วย

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 52 ที่ให้ กฟผ.จ่ายค่าเสียหายให้ชาวบ้าน และเพิกถอนสนามกอล์ฟของโรงไฟฟ้าแม่เมาะออกไป เป็นให้ กฟผ.ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1.ติดตั้งม่านน้ำความยาว 800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านตะวันตกกับหมู่บ้านทางทิศใต้ เพื่อลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ 2.ให้จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อร่วมกันพิจารณาการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบให้ออกจากรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร

3.ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติให้มากที่สุดและปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่ กฟผ.นำพื้นที่ต้องฟื้นขุมเหมืองไปทำสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ 4.ให้นำพืชที่ปลูกในพื้นที่ชุ่มน้ำไปกำจัดและปลูกเสริมทุก 18 เดือน ขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำ 5.ให้ขนส่งเปลือกดินโดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน และวางแผนจุดปล่อยดินโดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดไปยังชุมชน ให้กำหนดพื้นที่บัฟเฟอร์โซน จุดปล่อยดินต้องห่างกันไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำเป็นบังเกอร์ โดยให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของบังเกอร์ และการปล่อยดินต้องทำเป็นตารางแน่นอนโดยใช้ฤดูเป็นเกณฑ์ตัดสินตำแหน่ง โดยต้องห่างจากชุมชนมากที่สุด

นอกจากนี้ให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ตรวจสอบกำกับดูแลการประกอบกิจการของ กฟผ.ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขประทานบัตร หาก กฟผ.ไม่ปฏิบัติตาม ให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.แร่ฯ โดยเคร่งครัด และให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ และ กฟผ.ดำเนินการตามคำพิพากษาภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

ด้านนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวว่า เบื้องต้นพอใจคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในระดับหนึ่ง แต่รู้สึกผิดหวังเล็กน้อยที่ กฟผ.ไม่ต้องจ่ายเงินเยียวยาชดเชยค่าเสียหายให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งทางเครือข่ายจะหาแนวทางเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อไป นางมะลิวรรณ เผยด้วยว่า ยังมีอีกคดีที่ศาลปกครองสูงสุดจะตัดสินในวันที่ 25 ก.พ.นี้ เป็นคดีที่ชาวบ้านเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ 131 คน ฟ้อง กฟผ.ดำเนินงานโรงไฟฟ้าแม่เมาะจนกระทบต่อชีวิตและทำให้ชาวบ้านป่วย โดยมั่นใจว่าศาลปกครองสูงสุดจะสั่งให้ กฟผ.ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นคือ จ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือแก่ชาวบ้าน 1,086 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น