xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 17-23 ม.ค.2558

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.สนช.มีมติถอดถอน “ปู” 190 :18 ขณะที่ “นิคม-สมศักดิ์” รอด ด้าน อสส.สั่งฟ้องอาญา “ยิ่งลักษณ์” แล้ว!
(บน) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นายนิคม ไวยรัชพานิช (ล่าง) ผลการลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์
เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เพื่อแถลงปิดคดีถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.แถลงปิดคดีนายนิคมว่า นายนิคมกระทำการส่อว่าจงใจขัดต่อบทบัญญัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการทำหน้าที่ประธานการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. โดยตัดสิทธิสมาชิกในการอภิปราย ทั้งที่มีสมาชิกแปรญัตติและสงวนคำแปรญัตติจำนวนมาก รวบรัดในการลงคะแนนเสียง เอื้อประโยชน์ให้กับเสียงข้างมาก ซึ่งเป็นการกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ด้านนายนิคม แถลงปิดคดีโดยยืนยันว่า ตนปฏิบัติหน้าที่ประธานโดยสุจริต ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมทุกประการ พร้อมชี้ว่า การกระทำของตนไม่มีมูลความผิด เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว นายนิคม ยังขอความเป็นธรรมจาก สนช.ด้วย โดยบอกว่า “ชีวิตผมจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก เพราะ 1-2 ปีที่ผ่านมา เป็นความทุกข์ยากที่สุดในชีวิต ไม่เคยถูกใครด่า กลายเป็นคนเลว ทั้งๆ ที่ไม่เคยได้ชี้แจง ซึ่งคนจะเลวอยู่ที่การกระทำ”

จากนั้นได้มีการแถลงปิดคดีถอดถอนนายสมศักดิ์ ซึ่งนายสมศักดิ์ไม่ได้เดินทางมาแถลงปิดคดี ป.ป.ช.จึงแถลงปิดคดีฝ่ายเดียว โดยนายวิชา แถลงปิดคดีว่า นายสมศักดิ์มีพฤติการณ์ส่อขัดต่อตำแหน่งหน้าที่ ส่อขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดต่อ พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 ด้วย นอกจากนี้ยังบกพร่องอย่างร้ายแรงกรณีละเว้นไม่ตรวจสอบการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้รอบคอบ มีคำสั่งอนุญาตให้นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีการแก้ไขข้อความให้มีหลักการแตกต่างจากร่างเดิมเข้าสู่วาระการประชุม ถือว่าใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างชัดเจน

จากนั้นวันต่อมา(22 ม.ค.) สนช.ได้ประชุมแถลงปิดคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีละเลยไม่ระงับทุจริตโครงการรับจำนำข้าว โดยนายวิชา แถลงปิดคดีในส่วนของ ป.ป.ช.ว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในรูปแบบประชานิยมจนได้เป็นรัฐบาล โดยใช้กลเกมซื้อใจชาวนา ให้ราคาข้าวสูงกว่าท้องตลาดกว่าเท่าตัว จนมีข้าว 10 ล้านตันในโกดังและโรงสีที่เช่า ทำให้รัฐบาลกลายเป็นผู้ค้ารายใหญ่ ซึ่ง ป.ป.ช.ตรวจสอบพบว่า มีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง เล่นแร่แปรธาตุทำกันเป็นกระบวนการ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง เรียกได้ว่าเป็นการทุจริตเชิงนโยบายที่ชัดเจนที่สุด โดยการขายข้าวให้พวกพ้องในราคาถูก และนำไปขายในราคาแพงมหาศาล รวมทั้งอ้างว่าเป็นการขายแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งไม่เป็นความจริง แม้ ป.ป.ช. ,สตง.และอนุกรรมการปิดบัญชีฯ จะเคยเตือนถึงความเสี่ยงและความเสียหายหลายครั้ง แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์และผู้เกี่ยวข้องก็ยืนยันหัวเด็ดตีนขาดว่าจะทำต่อไป

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงปิดคดีโดยชี้ว่า รายงาน-สำนวน และการแถลงเปิดปิดคดีถอดถอนตนของ ป.ป.ช.มีพิรุธหลายข้อ เช่น 1.รัฐธรรมนูญ 2550 ยกเลิกไปแล้ว เหลือเพียง พ.ร.บ. ป.ป.ช.จึงไม่อาจนำมาใช้ในการถอดถอนได้ 2.การถอดถอนซ้ำซ้อน เพราะตนไม่เหลือตำแหน่งอะไรให้ถอดถอนแล้ว 3.ป.ป.ช.อ้างว่า ใช้เวลาดำเนินการคดีนี้ 1 ปี 10 เดือน ทั้งที่ความจริงแค่ 21 วัน 4.นายวิชากล่าวชี้นำให้สภาไขว้เขวและเข้าใจว่าตนทำผิด 5.ป.ป.ช.ตัดพยานที่สำคัญฝ่ายตนออกจาก 18 ราย เหลือ 6 ราย 6.ป.ป.ช.ใช้พยานที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลตน

ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการแถลงปิดคดีแล้ว นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.ได้นัดลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนนายนิคม-นายสมศักดิ์-น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 23 ม.ค.เวลา 10.00น.โดยการลงมติใช้วิธีขานชื่อและเข้าคูหาลงคะแนนลับ

ด้านสำนักงานอัยการสูงสุด ได้นัดแถลงคำสั่งคดีโครงการรับจำนำข้าวของอัยการสูงสุดในช่วงเช้าวันที่ 23 ม.ค.เช่นกันก่อนหน้าจะมีการประชุมลงมติถอดถอนของ สนช.1 ชั่วโมง โดยการแถลงครั้งนี้มีขึ้นหลังคณะทำงานร่วมฝ่ายอัยการสูงสุดและฝ่าย ป.ป.ช.ได้ประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 20 ม.ค.และได้ข้อยุติแล้วว่า ข้อไม่สมบูรณ์ที่มีก่อนหน้านี้ได้สอบเพิ่มจนครบถ้วนแล้ว จึงส่งให้อัยการสูงสุดสั่งคดี โดยอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) มาตรา 123/1

ขณะที่การประชุม สนช.เพื่อลงมติถอดถอนนายนิคม-นายสมศักดิ์-น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งการจะถอดถอนได้ต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมด หรือ 132 เสียงจาก 220 ผลปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกถอดถอนเพียงคนเดียว ด้วยคะแนน 190 :18 งดออกเสียง 8 บัตรเสีย 3 ขณะที่นายนิคม คะแนนถอดถอน 95 ไม่ถอดถอน 120 งดออกเสียง 4 ส่วนนายสมศักดิ์ คะแนนถอดถอน 100 ไม่ถอดถอน 115 งดออกเสียง 4 เป็นที่น่าสังเกตว่า มี สนช.ขาดประชุม 1 คน คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ โดยขอลาป่วย

หลังรู้ผลว่าถูกถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เตรียมเปิดแถลงข่าวที่โรงแรมเอสซีปาร์ค แต่มีรายงานว่า คสช.ขอความร่วมมือไม่ให้แถลงข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงออกคำแถลงผ่านเฟซบุ๊กแทน โดยยืนยันเหมือนเดิมว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ดี ไม่ได้สร้างความเสียหายแต่อย่างใด สำหรับตัวเลขความเสียหายที่พยายามยัดเยียดให้ตน เป็นเพราะความมีอคติกับตน และนำชาวนามาเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างทางการเมือง

ด้าน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง บุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และหลานสาวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านอินสตาแกรมว่า “...นี่ไม่ใช่ครั้งแรก...และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย...เจ็บจนชิน..ขอบคุณทุกกำลังใจค่ะ” ขณะที่นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ได้โพสต์ภาพลงในอินสตาแกรมเช่นกัน โดยมีข้อความว่า “พร้อมไหมพร้อม? พร้อมไหมคนไทย” พร้อมสัญลักษณ์ชูกำปั้น

2.ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด “บุญทรง-ภูมิ” กับพวกรวม 21 ราย คดีระบายข้าว เล็งฟันทั้งอาญา-แพ่ง ให้ชดใช้ไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้าน!

(ซ้าย) นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ (ขวา) นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์
เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้มีมติชี้มูลความผิดนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกรวม 21 ราย ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา ,พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ.2542 กรณีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ในโครงการรับจำนำข้าว

ทั้งนี้ ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์การทุจริตระบายข้าวว่า เมื่อมีการขายข้าวที่อ้างว่าเป็นการซื้อแบบรัฐต่อรัฐแล้ว มีผู้ประกอบการ 3 กลุ่มเข้ามาร่วมรับซื้อ โดยใช้แคชเชียร์เช็คจ่ายให้กรมการค้าต่างประเทศ มีผู้เกี่ยวข้องคือ พ.ต.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายนิมนต์ รักดี หรือนายโจ จากบริษัท สยามอินดิก้า เข้าไปเกี่ยวข้องกับการซื้อขาย สุดท้ายเป็นการรับซื้อต่อภายในประเทศ ไม่ได้มีการส่งออกนอกประเทศแต่อย่างใด เป็นการบริหารจัดการโดยบริษัท สยามอินดิก้า ที่มีนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง เป็นเจ้าของ โดยมีผู้ถือหุ้นหลายคน

ผลการไต่สวนรับฟังได้ว่า นายบุญทรง และนายภูมิ กับพวก ได้ร่วมกันกระทำความผิด โดยแบ่งหน้าที่กันทำงาน ด้วยการช่วยเหลือ และเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท Guangdong stationery & sporting goods imp.& exp.Corp. และ Hainan grain and oil industrial company ซึ่งไม่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนให้เข้ามาทำสัญญาซื้อขายข้าวจากไทย ให้มีสิทธิเข้าทำสัญญาซื้อ โดยอ้างว่าเป็นการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ โดยไม่ต้องแข่งราคากับผู้เสนอราคารายอื่น แล้วนำข้าวที่ซื้อได้ในราคาต่ำกว่าราคาขายในประเทศหรือต่ำกว่าราคาที่ฝ่ายไทยเสนอหรือต่ำกว่าราคาที่รับจำนำ นำไปขายต่อให้กับผู้ค้าข้าวในประเทศ หรือนำไปให้บริษัท สยามอินดิก้า นำไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมการค้าต่างประเทศและประเทศชาติอย่างร้ายแรง

ป.ป.ช.จีงมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ,พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ และ พ.ร.บ. ป.ป.ช. ทั้งนี้ ป.ป.ช.จะส่งรายงานพร้อมความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหา สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ป.ป.ช.จะส่งรายงานพร้อมความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหา เพื่อลงโทษทางวินัย ส่วนผู้ถูกกล่าวหารายอื่นที่เป็นบริษัทค้าข้าวอีก 100 กว่าราย ป.ป.ช.ให้คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงโดยเร็วต่อไป โดย ป.ป.ช.ได้กันบริษัทค้าข้าวบางรายไว้เป็นพยานด้วย

ผู้สื่อข่าวถาม นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ว่า ค่าเสียหายในการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวที่กระทรวงการคลังเสนอให้ฟ้องร้องคือเท่าไหร่ นายวิชา กล่าวว่า ตัวเลขยังไม่นิ่ง แต่ตัวเลขที่ได้จากการปิดบัญชีและที่มีการแถลงคิดว่าเกิน 6 แสนล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังจะทำตัวเลขให้แน่นอนต่อไป

ด้านนายบุญทรง กล่าวหลังทราบว่าถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด โดยยืนยันว่า ตนไม่ได้กระทำผิดตามที่กล่าวหา และว่า การชี้มูลของ ป.ป.ช.มีวาระซ่อนเร้น เพราะเป็นการชี้มูลคดีก่อนที่จะมีการแถลงปิดคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

3.“ปานเทพ” พร้อมเครือข่ายผู้บริโภค ยื่น “บิ๊กตู่” ชะลอเปิดสัมปทานปิโตรเลียม เตือนเดินหน้าเท่ากับตระบัดสัตย์-เสี่ยงถูกขับไล่!

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตแกนนำพันธมิตรฯ รุ่น 2 พร้อมเครือข่ายผู้บริโภค ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้ชะลอเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21
ความคืบหน้ากรณีที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) มีมติ 130 ต่อ 79 ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 แต่กระทรวงพลังงานยืนยันเดินหน้าเปิดสัมปทาน ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ยืนยันว่า ยังไงก็ต้องเดินหน้า พร้อมสั่งไม่ให้มีการออกมาชุมนุมประท้วงนั้น

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช.ยืนยันว่า สปช.ไม่ได้คัดค้านเรื่องเปิดสัมปทาน แต่อยากให้เปลี่ยนวิธีการและแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เพราะยังมีจุดอ่อนหลายเรื่อง เช่น เรื่องสิทธิการสำรวจและขุดเจาะ ที่มอบให้เอกชนถึง 29-39 ปี ซึ่งระบบสัมปทานใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียมทำให้รัฐไม่สามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงได้ ที่สำคัญเป็นการให้สิทธิเอกชนขายต่อแปลงสัมปทานโดยรัฐบาลไทยไม่ได้ประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น แหล่งนงเยาว์และแหล่งมโนราห์ ซึ่งเป็นสัมปทานของบริษัท เพิร์ลออย ถูกบริษัท มูบาดาลา เทกโอเวอร์ในตลาดหุ้น ทำให้เพิร์ลออยได้กำไรไปถึง 5,000 ล้านบาท น.ส.รสนา ยังแนะด้วยว่า การเปิดสัมปทานสำรวจและขุดเจาะ ควรแยกกัน ไม่ควรให้เอกสิทธิแก่เอกชนนานถึง 30 ปี อยากให้หน่วยงานรัฐของไทยลงทุนสำรวจเอง เพราะการสำรวจใช้เงินไม่มากเพียง 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อแปลง แต่ปิโตรเลียมมีมูลค่ามากถึง 5 แสนล้านบาท

ด้านชมรมแพทย์ชนบท ได้ออกแถลงการณ์ในวันเดียวกัน(18 ม.ค.) โดยขอให้นายกฯ ทบทวนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมที่ยังไม่ได้ศึกษาอย่างถี่ถ้วน พร้อมหนุนให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต เพราะรัฐยังเป็นเจ้าของทรัพยากร จึงมีความเชื่อมั่นลึกๆ ว่า นายกฯ จะหันกลับมาทบทวนจุดยืนของตนเองและรัฐบาล หาไม่แล้วรัฐบาลจะสูญเสียความชอบธรรมในการปกครองประเทศอย่างไม่อาจเรียกคืนได้

ขณะที่นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน และ สปช.ด้านพลังงาน ยืนยันว่า การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ยังเดินหน้าต่อไป โดยวันที่ 18 ก.พ.นี้ จะครบ 120 วันที่ให้ผู้สนใจยื่นขอสัมปทาน ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีเอกชนรายใดยื่นขอเข้ามา ตามปกติจะยื่นในวันสุดท้าย และว่า หลังปิดรับซองแล้ว กระทรวงพลังงานจะใช้เวลาอย่างเร็วที่สุด 4 เดือน พิจารณาว่าจะให้สัมปทานแต่ละแปลงใน 29 แปลงแก่รายใด เมื่อพิจารณาเสร็จ จะเสนอ ครม.พิจารณาอีกครั้ง โดยรัฐบาลอาจยกเลิกสัมปทานหรือไม่ให้สัมปทานในรอบนี้แก่เอกชนรายใดก็ได้ หากมีข้อมูลใหม่และมีเหตุผลเพียงพอว่าไม่ควรให้สัมปทาน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ภาคประชาชน นำโดย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระ และอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่น 2 ,นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ,น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เพื่อขอให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และเปลี่ยนระบบสัมทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต พร้อมให้ข้อมูลปริมาณปิโตรเลียมเบื้องต้นก่อนการให้สิทธิการผลิตแก่เอกชน ให้ศึกษาการปฏิรูปพลังงานที่เป็นอิสระ ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อออกกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมฉบับใหม่ที่มุ่งรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดยมีหัวหน้าฝ่ายประสานมวลชนมารับหนังสือดังกล่าว

นายปานเทพ กล่าวว่า นายกฯ เคยลั่นวาจาไว้เมื่อวันที่ 28 ต.ค.57 ว่า จะรับฟังความเห็นและมติของ สปช. ซึ่งมติ สปช.ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับสัมปทานรอบที่ 21 หากนายกฯ เดินหน้าเปิดสัมปทาน เท่ากับนายกฯ ตระบัดสัตย์ต่อคำพูดตัวเอง ไม่ฟังเสียงประชาชน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ และในอดีต ประชาชนเคยขับไล่นายกฯ ที่ตระบัดสัตย์มาแล้ว จึงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเหตุการณ์ครั้งนั้นอีก หากนายกฯ ยังดันทุรังเปิดสัมปทานต่อไป จะเป็นอันตรายต่อประเทศ

นายปานเทพ ยังได้เชิญชวนให้ประชาชนร่วมลงชื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ยกเลิกประกาศเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มแล้วส่งกลับมาที่ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย เลขที่ 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

4.สจล.ออกแถลงการณ์เลิกฝากเงินแบงก์ไทยพาณิชย์ ด้าน ตร. ประสาน อสส.ขอตัว “กิตติศักดิ์” ผู้ร้ายข้ามแดน!

(ล่าง) นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ผู้ต้องหาคดียักยอกเงิน สจล.ที่ยังหลบหนี (บน) นางระดม มัทธุจัด แม่ของนายกิตติศักดิ์
ความคืบหน้าคดีลักเงินสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) จำนวน 1,474 ล้านบาท โดยออกหมายจับผู้ต้องหารวม 10 ราย เข้ามอบตัวและจับกุมแล้ว 7 ราย อีก 3 รายยังหลบหนี คือ นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ,นายสมพงษ์ สหพรอุดมการ และนายธวัชชัย ยิ้มเจริญ นอกจากนี้มีรายงานว่า ตำรวจเตรียมเรียกนายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี สจล.มาชี้แจงที่มาของทรัพย์สิน 86 ล้านบาทที่นายถวิลระบุว่าเคยรายงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แล้วนั้น

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. นายถวิล ให้สัมภาษณ์ข้ามประเทศว่า ขณะนี้ตนอยู่ประเทศกรีซ จะกลับถึงไทยในวันที่ 25 ม.ค. และจะเข้าพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 26 ม.ค. พร้อมยืนยันว่า สามารถบอกถึงที่มาของเงินดังกล่าวได้อย่างแน่นอน

วันต่อมา(19 ม.ค.) น.ส.วรรวรรณ สุวรรณกูฏ ผู้อำนวยการส่วนนิติการ สจล.ได้เข้าพบตำรวจกองปราบปราม เพื่อแจ้งว่า สจล.ตรวจสอบพบว่ามีเงินหายจากบัญชีเงินฝากประจำธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา สจล.อีก 100 ล้านบาท เมื่อปี 2555 จึงขอให้ตำรวจตรวจสอบว่าหายไปได้อย่างไร เข้าบัญชีของใคร

ทั้งนี้ วันเดียวกัน(19 ม.ค.) นางระดม มัทธุจัด และ น.ส.จุฑารัตน์ ปัดภัย มารดาและน้องสาวของนายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ผู้ต้องหา ได้เข้าพบตำรวจตามหมายเรียก โดยทั้งสองยืนยันว่า ไม่มีส่วนรู้เห็นการลักเงิน สจล. นางระดม เผยด้วยว่า ตั้งแต่เป็นข่าว พยายามติดต่อนายกิตติศักดิ์ แต่ก็ติดต่อไม่ได้ อย่างไรก็ตาม นางระดม ยอมรับว่า ได้นำเงินที่ได้จากนายกิตติศักดิ์ไปซื้อที่ดิน แต่ซื้อตามที่ลูกชายบอกเท่านั้น ไม่ได้รู้เรื่องด้วย โดยคิดว่าลูกทำธุรกิจส่วนตัว เปิดบริษัท คงมีเงินมาซื้อที่ดิน

ด้าน พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข รองผู้บังคับการปราบปราม เผยว่า จากการตรวจสอบพบว่า นางระดมมีส่วนในการยักย่ายถ่ายเทเงินให้กับนายกิตติศักดิ์หลายครั้ง มีการนำเงินที่ได้รับโอนจากนายกิตติศักดิ์ไปฟอกเงินด้วยการซื้อที่ดิน ซื้อข้าวของตั้งแต่ปี 2554-2555 ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ตำรวจจึงได้แจ้งข้อหา ฐานร่วมกันสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐลักทัพย์ และร่วมกันฟอกเงิน ก่อนนำตัวไปขอศาลฝากขังในเวลาต่อมา ส่วนนางจุฑารัตน์ น้องสาวนายกิตติศักดิ์ และสามีนางจุฑารัตน์นั้น ยังไม่พบหลักฐานว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง

ด้าน พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยความคืบหน้าคดียักยอกเงิน สจล.เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ว่า หลักฐานต่างๆ ส่วนใหญ่อยู่ที่ธนาคาร ถ้าเจ้าหน้าที่ธนาคารเข้าให้การหรือส่งมอบหลักฐาน เชื่อว่าน่าจะได้หลักฐานเพิ่มเติมจนออกหมายจับผู้ที่อยู่เบื้องหลังได้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. คณาจารย์ นักศึกษา และศิษย์เก่า สจล.ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ธนาคารไทยพาณิชย์ชี้แจงจุดยืนและแนวทางปฏิบัติของธนาคารต่อเหตุการณ์ทุจริตเงินของ สจล. เนื่องจากเป็นธนาคารที่ให้บริการบัญชีเงินเดือนหลักของบุคลากรทั้งหมดของ สจล. และมีจำนวนเงินในบัญชีที่พัวพันการทุจริตมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบใดๆ กับความเสียหายที่เกิดขึ้น ด้านธนาคารไทยพาณิขย์ออกแถลงการณ์ว่า ธนาคารได้ให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวนและ สจล.อย่างเต็มที่ และได้ร่วมกับตำรวจตรวจสอบการทำธุรกรรมและติดตามเส้นทางการเงินของกลุ่มผู้ทุจริต ทั้งยังได้ส่งข้อมูลทางบัญชี ตลอดจนเอกสารการประกอบธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องให้ตำรวจ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนของตำรวจ

อย่างไรก็ตาม 2 วันต่อมา(22 ม.ค.) สจล.ได้ออกแถลงการณ์อีกครั้ง เรียกร้องให้ธนาคารไทยพาณิชย์มอบเอกสารหลักฐานการเบิกจ่ายเงินและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีทั้งหมดแก่ตำรวจ เพราะยังขาดเอกสารสำคัญบางอย่าง เช่น สลิปถอนเงิน สำเนาการสอบสวนนายทรงกลดขณะเป็นผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ นอกจากนี้ สจล.ยังประกาศยุติการฝากเงินทุกประเภทกับธนาคารไทยพาณิชย์ เนื่องจากทางธนาคารมีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง คือการให้นายทรงกลดลาออกเอง หลังคณะกรรมการของธนาคารตรวจสอบพบนายทรงกลดทำผิดขั้นตอนการเบิกเงินของ สจล. โดยไม่มีลายมือชื่อของผู้บริหาร สจล.กำกับหรืออาจไม่มีใบถอนเงิน ซึ่งเป็นการทำผิดวินัยร้ายแรงด้านการเงิน แทนที่ธนาคารจะไล่นายทรงกลดออกหรือดำเนินดำเนินคดีนายทรงกลด กลับให้นายทรงกลดยื่นใบลาออกเอง ทำให้นายทรงกลดมีโอกาสไปเป็นผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยาและทุจริตเงินของ สจล.ได้อีก การดำเนินการของธนาคารไทยพาณิชย์ทำให้ สจล.ขาดความเชื่อมั่นในมาตรฐานการบริหารจัดการเงินฝากและหลักธรรมาภิบาลของธนาคาร สจล.จึงทบทวนการทำธุรกรรมทางการเงินทุกประเภทกับธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของ สจล. และเพื่อความปลอดภัยทางการเงินของบุคลากรและนักศึกษาของ สจล.

ส่วนกรณีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) มีมติอายัดทรัพย์ของนายกิตติศักดิ์ ซึ่งรวมถึงรถหรูลัมโบร์กินีที่นายกิตติศักดิ์ขายต่อให้นายปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ หรือบอย ดาราชื่อดัง พร้อมสั่งให้นายปกรณ์นำรถคันดังกล่าวมาส่งมอบให้ ปปง.เพื่อตรวจสอบ ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 21 ม.ค. นายปกรณ์ พร้อมทนายความได้เข้าพบ พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. เพื่อชี้แจงที่มาของการซื้อรถดังกล่าวจากนายกิตติศักดิ์แล้ว หลังการชี้แจง พ.ต.อ.สีหนาท เผยว่า นายปกรณ์ยังไม่ได้นำรถมาส่งมอบให้ ปปง.ตามคำสั่งอายัด เนื่องจากต้องตรวจสอบสภาพรถร่วมกับเจ้าหน้าที่เพราะรถราคาแพง แต่ได้นำเอกสารซื้อขายรถ และที่มาของเงินที่นำมาซื้อรถให้ ปปง.สอบแล้ว หลังจากนี้จะรวบรวมเอกสารประกอบคำชี้แจงของนายปกรณ์เสนอต่อคณะกรรมการธุรกรรม(บอร์ด ปปง.) ที่จะประชุมวันที่ 11 ก.พ. เพื่อพิจารณาว่าจะมีคำสั่งยึดรถหรือเพิกถอนการอายัด

พ.ต.อ.สีหนาท เผยด้วยว่า ตามกฎหมายฟอกเงิน รถลัมโบร์กินีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดฐานฟอกเงิน เพราะนายกิตติศักดิ์นำเงินจาก สจล.ไปซื้อ แต่ในกรณีที่เจ้าของทรัพย์สามารถพิสูจน์ได้ว่าซื้อขายโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนถูกต้อง ก็ต้องคืนทรัพย์ให้ผู้ซื้อ ถือเป็นหลักในการคุ้มครองบุคคลภายนอกที่สุจริต

ด้าน พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เผยความคืบหน้าการติดตามตัวนายกิตติศักดิ์ที่หลบหนีอยู่ที่ประเทศอังกฤษว่า เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ได้ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อขอให้ดำเนินการตามสนธิสัญญาผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว รวมทั้งจะเร่งขอหมายแดงไปยังตำรวจสากล ให้ช่วยติดตามตัวนายกิตติศักดิ์โดยเร็วที่สุด

5.ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนยกฟ้อง “สนธิ” พร้อมอดีตแกนนำ พธม.กรณีออกปฏิญญาปี ’51 ชี้ ไม่หมิ่น “ทักษิณ”!

นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ (20 ม.ค.)
เมื่อวันที่ 20 ม.ค. ศาลจังหวัดมีนบุรี ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นโจทก์ฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับพวกรวม 6 คน เป็นจำเลย ฐานหมิ่นประมาทด้วยการประกาศปฏิญญากล่าวหาโจทก์เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2551 ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า จำเลยได้ร่วมกันออกประกาศ และให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้อ่าน โดยมีข้อความทำให้เข้าใจได้ว่า นายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคง มีอุดมการณ์ไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทุจริต ฉ้อฉล ปล้นฆ่า-หลอกลวงประชาชน มีเป้าหมายจะล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ซึ่งล้วนเป็นความเท็จ จำเลยมีเจตนาทำลาย และโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ขณะที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยและประชาชนประมาณ 2,000 คน ที่ร่วมชุมนุมที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อกล่าวคำปฏิญญาตามสิทธิของประชาชนที่พึงกระทำ เพื่อพิทักษ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 70 และเพื่อเตือนสติรัฐบาลหุ่นเชิดของโจทก์ไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 237 และ 309 เพื่อช่วยเหลือโจทก์และพวกพ้อง ,ไม่ให้แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและสื่อมวลชน เพื่อให้บริหารราชการอย่างถูกต้องชอบธรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่เพื่อใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ,ไม่ให้ออกกฎหมายหรือแก้กฎหมายเพื่อลบล้างความผิดของโจทก์และพวกพ้อง และว่า แม้โจทก์จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่โจทก์ก็ยังยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอยู่ตลอด โจทก์พยายามปลุกระดมคนเสื้อแดงให้สนับสนุนตนเองและพยายามล้มคดีที่อยู่ระหว่างดำเนินคดี ทั้งยังกระทำการมิบังควรต่อสถาบันกษัตริย์หลายครั้ง รวมทั้งโจมตีกระบวนการยุติธรรม

สำหรับคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 ให้ยกฟ้องจำเลย เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการนำจุดบกพร่องในการบริหารราชการแผ่นดินของโจทก์มาวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ประชาชนสามารถทำได้ เนื่องจากโจทก์เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ย่อมเป็นบุคคลสาธารณะ และการติชมด้วยความเป็นธรรม อยู่ในวิสัยของประชาชนที่กระทำได้

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า หลักฐานของจำเลยที่ 1-6 สามารถนำสืบต่อสู้ข้อกล่าวหาของโจทก์ได้อย่างสมเหตุสมผล และมีน้ำหนักเพียงพอให้สามารถรับฟังหักล้างพยานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คำกล่าวปฏิญญา คำประกาศของประชาชนผู้พิทักษ์รักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แม้จะมีถ้อยคำและข้อความที่เกินเลยความถูกต้องสมควรไปบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในขอบเขตที่พอจะถือได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อติชมด้วยความเป็นธรรม เป็นวิสัยที่ประชาชนพึงกระทำ จำเลยที่ 1-4 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ขณะที่จำเลยที่ 5-6 ก็ไม่มีความผิดฐานสนับสนุนหรือร่วมกันหมิ่นประมาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น