xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 24-31 ม.ค.2558

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“บิ๊กตู่” เหน็บ “ยิ่งลักษณ์” โร่ฟ้องสหรัฐฯ น่าอาย ด้าน คสช.เรียกแกนนำเพื่อไทย-นปช.ปรับทัศนคติ!
(บน) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าพบนายแดเนียล รัสเซล ผช.รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ (ล่าง) นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ถูก คสช.เรียกปรับทัศนคติ
สถานการณ์การเมืองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีปฏิกิริยาจากฟากพรรคเพื่อไทยที่ไม่พอใจผลการลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 25 ม.ค. กล่าวหาว่าวัตถุประสงค์ของการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็เพื่อกำจัดตระกูลชินวัตรให้พ้นไปจากการเมืองและทำลายศักยภาพของพรรคเพื่อไทย

เป็นที่น่าสังเกตว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค ได้เดินทางมาประเทศไทย และพบปะผู้นำทางการเมืองและตัวแทนรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 26 ม.ค.

โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เดินทางมาเข้าพบนายรัสเซลที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ พร้อมด้วยอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เช่น นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ,นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ฯลฯ หลังเข้าพบ นายสุรพงษ์ เผยว่า ทางสหรัฐฯ ได้ถามถึงสถานการณ์การเมืองไทย รวมทั้งการที่ สนช.ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงได้เล่าให้ฟังว่า เรื่องนี้มีที่มาและมีขบวนการอย่างไร เพราะเรื่องนี้ยังหาตัวคนผิดไม่ได้ แต่ลงโทษคนกำกับนโยบายไปแล้ว และว่า ทางสหรัฐฯ เป็นห่วงสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะอดีตนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งต้องโดนถอดถอนจากคนที่มาจากการแต่งตั้งที่ไม่ได้มาตามครรลองประชาธิปไตย...

หลังหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์แล้ว นายรัสเซลและคณะ ได้เดินทางเข้าพบและพูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่พรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนี้ ยังได้เดินทางเข้าพบและหารือกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งสหรัฐฯ ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่พูดถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในกระบวนการปฏิรูปของไทย และขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ขณะที่ฝ่ายไทยยืนยันว่า กระบวนการปฏิรูปเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอยู่แล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงบ่ายวันเดียวกัน(26 ม.ค.) นายรัสเซล ได้ไปบรรยายพิเศษเรื่อง “บทบาทของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิคในปี 2015” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้กล่าวตอนหนึ่งว่า สหรัฐฯ ไม่ได้เลือกข้างในการเมืองไทย “ผมขอกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า เมื่อผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งถูกปลดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดถอนโดยผู้มีอำนาจที่ก่อรัฐประหาร และตกเป็นเป้าด้วยข้อหาอาญา ในขณะที่กระบวนการและสถาบันพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยต้องหยุดชะงักลง ประชาคมโลกจึงเกิดความรู้สึกว่า ขั้นตอนเหล่านี้อาจเกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง”

ทั้งนี้ คำพูดของนายรัสเซล ทำให้คนไทยจำนวนมากไม่พอใจ เพราะนอกจากสะท้อนถึงการเลือกข้างของนายรัสเซลแล้ว ยังเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทยด้วย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ออกมายืนยันว่า ในฐานะนายกฯ จะไม่ยอมให้ประเทศใดเข้ามาแทรกแซง ประเทศไทยมีศักดิ์ศรี พร้อมแสดงความเสียใจที่ทางสหรัฐฯ แสดงความเห็นในสิ่งที่ไม่ใช่ และแสดงความเห็นอย่างไม่เข้าใจ ทั้งที่ไทย-สหรัฐฯ เป็นมิตรกันมายาวนาน ส่วนเรื่องที่สหรัฐฯ ขอให้ยกเลิกกฎอัยการศึกนั้น พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า พล.อ.ธนะศักดิ์ ได้ถามกลับทางสหรัฐฯ ไปแล้วว่า ถ้ายกเลิกกฎอัยการศึก แล้วเกิดเหตุการณ์ในพื้นที่ต่างๆ หรือในประเทศสหรัฐฯ แล้วสหรัฐฯ จะทำอย่างไร ซึ่งทางสหรัฐฯ ตอบไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังพูดเหน็บ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผ่านรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” เมื่อคืนวันที่ 30 ม.ค.ด้วยทำนองว่า การเอาเรื่องไปฟ้องประเทศอื่นให้ช่วยแก้ไข ถือเป็นเรื่องน่าอาย

ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญนายแพทริค เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าทำความเข้าใจหลังนายรัสเซลวิจารณ์การเมืองไทย โดยบอกกับนายเมอร์ฟี่ตอนหนึ่งว่า “บางเรื่องที่เรามีความห่วงกังวล ต้องพูดคุยกัน... โดยความกังวลนี้ระคนกับความผิดหวัง อีกทั้งเป็นเสียงสะท้อนว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยเกิดบาดแผลขึ้นในใจ เป็นบาดแผลในใจจากการเยือน จึงอยากให้ทราบเรื่องเหล่านี้ คราวหน้าจะได้หาทางเยียวยาไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นอีก...”

เป็นที่น่าสังเกตว่า ได้มีคนไทยบางส่วน เดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายรัสเซลที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เรียกร้องให้สหรัฐฯ เคารพอธิปไตยของไทยและเลิกแทรกแซงกิจการภายในของไทย พร้อมชี้ว่า การทุจริตที่เกิดขึ้น รวมถึงการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของความมั่นคง และขอสนับสนุนการทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น

ขณะที่ฟากพรรคเพื่อไทยและแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) หลายคนได้ออกมาปกป้องนายรัสเซล เช่น นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และแกนนำ นปช. ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กทำนองว่า การที่นายรัสเซลไม่ตอบคำถามของฝ่ายไทยที่ว่า หากยกเลิกกฎอัยการศึก แล้วเกิดเหตุการณ์ขึ้น สหรัฐฯ จะทำอย่างไร คงไม่ใช่เพราะนายรัสเซลจนแต้ม แต่คงเป็นการเงียบตามมารยาททางการทูตมากกว่า ซึ่งถ้าเขาตอบ คงตอบว่า ไม่มีทางที่ประเทศเขาจะเป็นแบบนี้

ทั้งนี้ การออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่พาดพิง คสช.และการรัฐประหารของบรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. ส่งผลให้ คสช.ต้องเรียกตัวมาปรับทัศนคติ แต่ไม่มีการกักตัวไว้ในค่ายทหารแต่อย่างใด โดยบุคคลที่ถูกเรียกตัวมาปรับทัศนคติแล้ว ได้แก่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ,นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ,นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ,นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ขณะที่นายวรชัย เหมะ ถูกเรียกมาปรับทัศนคติเช่นกัน แต่เจ้าตัวอ้างติดธุระ ขอเลื่อนเป็นวันที่ 2 ก.พ.แทน

ส่วนนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ที่โพสต์ผ่านอินสตาแกรมหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูก สนช.ลงมติถอดถอน ระบุข้อความว่า “พร้อมไหมพร้อม พร้อมไหมคนไทย” โดยมีภาพชูกำปั้นประกอบนั้น พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก ได้มีการเตือนให้นายพานทองแท้แสดงความคิดเห็นอย่างพอเหมาะพอควร และอยู่ในกรอบแล้ว

2.ศาลพิพากษาจำคุก “จตุพร” 2 ปี ไม่รอลงอาญา คดีหมิ่น “อภิสิทธิ์” กล่าวหาสั่งฆ่าเสื้อแดง-ประวิงเวลาฎีกาขออภัยโทษให้ “ทักษิณ”!

นายจตุพร พรพมพันธุ์ แกนนำ นปช.
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจตุพร พรพมพันธุ์ แกนนำ นปช. เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2557 จำเลยได้ปราศรัยบนเวที นปช.ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กล่าวหานายอภิสิทธิ์ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทำนองว่า ประวิงเวลาการทำความเห็นเพื่อเสนอสำนักราชเลขาธิการพิจารณาผู้ที่ร่วมลงรายชื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นอกจากนี้จำเลยยังปราศรัยบนเวที นปช.ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2552 กล่าวหานายอภิสิทธิ์ว่า เป็นอาชญากรและฆาตกรสั่งฆ่าประชาชน โดยมีการเผยแพร่คำปราศรัยผ่านสถานีโทรทัศน์พีเพิลแชนแนล ซึ่งในชั้นพิจารณา จำเลยให้การปฏิเสธ

ด้านศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า การปราศรัยกล่าวหาโจทก์ว่าประวิงเวลาทำความเห็นขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น จำเลยไม่มีพยานมาเบิกความประกอบว่าโจทก์เจตนาประวิงเวลาดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้ล่าช้า อีกทั้งจำเลยก็เป็นอดีตนักการเมือง ย่อมทราบถึงขั้นตอนดำเนินการ แต่กลับกล่าวปราศรัยถึงโจทก์ในลักษณะว่าได้ปิดบังขั้นตอนดำเนินการ ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิด เชื่อว่าโจทก์ยึดพระราชอำนาจ ทั้งที่ไม่มีบุคคลใดจะกระทำเช่นนั้นได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การติชมเพื่อความเป็นธรรม แต่ทำให้โจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องได้รับความเสียหาย

ส่วนที่จำเลยปราศรัยกล่าวหาว่าโจทก์เป็นอาชญากรสั่งฆ่าประชาชนนั้น ศาลเห็นว่า โจทก์เบิกความยืนยันว่า ช่วงที่มีการชุมนุม ไม่ได้ใช้ความรุนแรงใดๆ และกำชับให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งมีสื่อต่างชาติให้การยอมรับในวิธีการที่โจทก์ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ขณะที่ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวปราศรัย ฟังได้ว่ามาจากการประมวลเหตุการณ์ต่างๆ โดยจำเลยไม่มีพยานหลักฐานยืนยัน ส่วนที่จำเลยระบุว่ามีผู้เสียชีวิต ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีคดีที่โจทก์ถูกศาลตัดสินจากการกระทำดังกล่าว และไม่ได้มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับถ้อยคำของจำเลย

สำหรับคลิปเสียงที่จำเลยอ้างว่าเป็นเสียงของโจทก์ที่กล่าวในช่วงที่มีการชุมนุมนั้น ได้มีการตรวจพิสูจน์แล้วโดย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระบุว่าเป็นคลิปเสียงตัดต่อ และเมื่อพิจารณาถ้อยคำที่จำเลยกล่าวแล้ว ก็มีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่นให้ประชาชนเข้าใจว่าโจทก์กระทำการดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การกล่าวเพื่อปกป้องสิทธิหรือประโยชน์ของตนตามสมควร แต่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงทั้งที่ยังไม่ปรากฏในขณะนั้นว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นใด จึงเป็นการกล่าวที่สร้างความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นตามมาตรา 328

พิพากษาให้จำคุกจำเลยฐานหมิ่นประมาท รวม 2 กระทงๆ ละ 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยแล้ว เห็นว่านอกจากเป็นการกระทำให้โจทก์เสียหายแล้ว ยังกระทบต่อสถาบันฯ ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ และให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาย่อในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เดลินิวส์ มติชน เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีที่ได้กล่าวหมิ่นประมาทโจทก์ ซึ่งศาลพิพากษาจำคุก 6 เดือนและปรับ 5 หมื่นบาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี

ทั้งนี้ หลังฟังคำพิพากษา นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความนายจตุพร ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด 2 แสนบาท ขอปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ ด้านศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกัน 2 แสนบาท

3.ศาลพิพากษาจำคุก “พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์-พล.ต.ต.โกวิทย์” 12 ปี คดีหมิ่นสถาบัน-บ่อนพนัน จำเลยสารภาพ ลดโทษเหลือ 6 ปี!
พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีต ผบช.ก.
เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ศาลอาญาได้สอบคำให้การจำเลยคดีที่อัยการฝ่ายคดีอาญาเป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(ผบช.ก.) กับพวกรวม 6 คนเป็นจำเลยรวม 3 คดี ที่อัยการได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยคดีที่ 1 อัยการฟ้อง พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ และ พล.ต.ต.โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ อดีตรอง ผบช.ก.เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นสถาบัน และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และจัดให้มีการเล่นการพนัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ,91 ,112 , พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478

โดยคำฟ้องสรุปว่า ระหว่างวันที่ 11 ม.ค.-30 ก.ค.2554 จำเลยทั้งสองกับพวกที่ยังหลบหนี ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ทำผิดหลายกรรม โดยจัดให้มีการเล่นการพนันที่บ่อนโคลอนเซ่ ย่านพระราม 9 เพื่อประโยชน์ของตนและผู้อื่นโดยทุจริต นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังหมิ่นสถาบันฯ ด้วยการประดับเครื่องหมาย ภปร.ซึ่งเป็นพระนามาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบนไหล่เสื้อ และติดเหรียญภาพของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติที่กระเป๋าเสื้อด้านซ้าย เพื่อให้บุคคลอื่นเข้าใจและเชื่อว่าบ่อนการพนันดังกล่าวได้รับการหนุนหลัง ซึ่งจำเลยทั้งสองรับสารภาพ

คดีที่ 2 เป็นคดีที่อัยการฝ่ายคดีอาญา 4 ฟ้อง พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ,พล.ต.ต.โกวิทย์ และ พล.ต.ต.บุญสืบ ไพรเถื่อน อดีตผู้บังคับการตำรวจน้ำ เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันเรียกรับทรัพย์สินโดยมิชอบ เป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และหมิ่นสถาบันฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ,149 และ 157

โดยคำฟ้องสรุปว่า ระหว่างเดือน ก.พ.2555-ก.ค.2557 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันเรียกรับทรัพย์สินเป็นเงินจากผู้ลักลอบค้าน้ำมันเถื่อนเป็นรายเดือนจำนวนหลายราย เพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกจับกุม รวมเป็นเงิน 147.4 ล้านบาท นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ยังหมิ่นประมาทองค์รัชทายาท โดยขณะที่เรียกรับเงินจากผู้ค้าน้ำมันเถื่อน จำเลยที่ 3 ซึ่งแต่งเครื่องแบบตำรวจโดยติดเหรียญพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติที่กระเป๋าด้านซ้าย ได้ใช้มือชี้ไปที่พระฉายาลักษณ์ พร้อมอ้างว่าส่วยที่เก็บไปนั้น ต้องนำไปมอบให้ผู้บังคับบัญชา เพื่อนำไปถวายให้องค์รัชทายาท ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง โดยในชั้นสอบสวน จำเลยทั้งสามรับสารภาพ

ส่วนคดีที่ 3 เป็นคดีที่อัยการฝ่ายคดีอาญา 9 ฟ้อง พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ,พล.ต.ต.โกวิทย์ ,พ.ต.อ.วุฒิชาติ เลื่อนสุคันธ์ อดีต ผกก.4 ปคบ. ,ด.ต.สุรศักดิ์ จันทร์เงา อดีต ผบ.หมู่ กก.2 ป. และ ด.ต.ฉัตรินทร์ หรือจักรินทร์ เหล่าทอง อดีต ผบ.หมู่ ปพ.ป. เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจให้บุคคลใดมอบหรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน เป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินโดยมิชอบ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

โดยคำฟ้องสรุปว่า ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2553-11 พ.ย.2557 จำเลยทั้งห้าและ พ.ต.อ.อัครวุฒิ์ หลิมรัตน์ อดีต ผกก.1 ป. (เสียชีวิตแล้ว) ได้ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ และ พล.ต.ต.โกวิทย์ เรียกรับค่าตอบแทนจาก พ.ต.ต.ชาตรี รุ่งดำรง สว.ทล.1 กก.1 ป.และบุคคลอื่นอีกหลายคน ในการช่วยบุคคลดังกล่าวให้ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งสำคัญใน บช.ก. โดยให้ พ.ต.ต.ชาตรีและพวกจัดส่งเงินให้เป็นรายเดือนๆ ละ 10,000-2,000,000 บาท ให้จำเลยทั้งห้า ซึ่งเป็นการใช้ตำแหน่งโดยมิชอบ โดยจำเลยที่ 1 และ 4 รับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ,3 และ 5 ปฏิเสธ

ทั้งนี้ ศาลได้อ่านคำฟ้องให้จำเลยทั้งหกฟัง ก่อนถามว่าจะสารภาพหรือปฏิเสธ ซึ่งจำเลยทั้งหมดรับสารภาพ ไม่ต่อสู้ทั้ง 3 คดี จากนั้นช่วงบ่ายวันเดียวกัน ศาลได้อ่านคำพิพากษาคดีที่ 1 ที่โจทก์ฟ้อง พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ และ พล.ต.ต.โกวิทย์ โดยพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดจริง พิพากษาจำคุกฐานหมิ่นสถาบัน คนละ 5 ปี ,จำคุกฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ คนละ 5 ปี และจำคุกฐานสนับสนุนให้มีการตั้งบ่อนการพนัน คนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 12 ปี แต่คำรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกคนละ 6 ปี ส่วนอีก 2 คดีนั้น ศาลนัดสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพในวันที่ 23 ก.พ. เวลา 09.00 น.

4.อัยการฟ้อง “สรยุทธ-บ.ไร่ส้ม” แล้ว คดียักยอกค่าโฆษณา อสมท 138 ล้าน ด้านศาล อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว!
นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดัง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไร่ส้ม
เมื่อวันที่ 30 ม.ค. นายมานพ เสือเหลือง อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดย น.ส.อังคนา วัฒนมงคลศิลป์ และ น.ส.สุกัญญา แซ่ลิ้ม ,นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดัง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไร่ส้ม และ น.ส.มณฑา ธีระเดช เจ้าหน้าที่บริษัท ไร่ส้ม เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานเป็นพนักงานเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ,86 และ 91 , พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6 ,8 และ 11

คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า ระหว่างวันที่ 4 ก.พ.2548-28 เม.ย.2549 นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด หรือนางชนาภา บุญโต เจ้าหน้าที่บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) ที่ทำหน้าที่จัดคิวโฆษณารวมในรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลา เพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณาเกินเวลาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งทำให้ อสมท ได้รับความเสียหายถึง 138,790,000 บาท และยังได้เรียกรับเอาเงินจำนวน 658,996 บาท จากจำเลยที่ 1-3 เพื่อตนเองโดยมิชอบ เพื่อเป็นการตอบแทนที่นางพิชชาภาไม่รายงานการโฆษณาข้างต้นโดยมีจำเลยที่ 1-3 เป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือ ให้ความสะดวกในการกระทำผิด

ด้านศาลได้ประทับรับฟ้องคดี พร้อมนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 27 เม.ย.เวลา 09.00 น. ทั้งนี้ หลังศาลรับฟ้อง นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 1 ล้านบาทเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาต โดยตีราคาประกันคนละ 2 แสนบาท นายสรยุทธ กล่าวด้วยว่า คดีนี้เพิ่งจะเริ่มต้นกระบวนการ ยืนยันว่า การจัดรายการดังกล่าวไม่ได้ทำความเสียหายให้ อสมท แต่อย่างใด

ขณะที่นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง โฆษกรองสำนักงานอัยการสูงสุด เผยว่า สำหรับนางพิชชาภานั้น ทาง ป.ป.ช.ยังไม่ได้ส่งตัวให้อัยการ ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดจะประสาน ป.ป.ช.เพื่อนำตัวนางพิชชาภามาฟ้องศาลต่อไป

5.“ถวิล” แจงทรัพย์สิน 86 ล้าน มาจากมรดก-ธุรกิจ ด้าน “วิชิต” ยัน ไทยพาณิชย์พร้อมชดใช้ สจล. ถ้า “ทรงกลด” ทุจริตขณะเป็น ผจก.!
(ซ้าย) นายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี สจล.หอบหลักฐานพบตำรวจแจงที่มาทรัพย์สิน 86 ล้าน (ขวา) นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์
ความคืบหน้าคดียักยอกเงินสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) 1,500 กว่าล้านบาท หลังตำรวจกองปราบฯ จับกุมนายทรงกลด ศรีประสงค์ อดีตผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาห้างบิ๊กซี ศรีนครินทร์ และ น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการส่วนการคลัง สจล. และออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องในขบวนการ โดยจับกุมได้แล้วบางส่วน ส่วนผู้ที่ยังหลบหนี คือ นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ตัวการใหญ่ ,นายสมพงษ์ สหพรอุดมการ และนายธวัชชัย ยิ้มเจริญ ด้านตำรวจได้เรียกนายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี สจล.ให้เข้าชี้แจงถึงที่มาที่ไปของทรัพย์สิน 86 ล้านบาทที่ระบุว่าเคยยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มาแล้ว

ซึ่งนายถวิลได้เข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกเมื่อวันที่ 27 ม.ค. ซึ่งถือเป็นการเข้าพบครั้งที่ 3 แล้ว โดยนำเอกสารทางการเงินมามอบให้ตำรวจด้วย พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข รองผู้บังคับการปราบปราม ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน เผยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ทรัพย์สินนายถวิลประมาณ 80 ล้านบาทได้มาก่อนดำรงตำแหน่งอธิการบดี สจล. โดยได้มาจากมรดก การประกอบกิจการอพาร์ตเมนต์ และเงินที่ได้จากการเป็นบอร์ดบริหาร

ด้านนายถวิล เผยว่า ได้นำหลักฐานข้อมูลทรัพย์สินส่วนตัวตั้งแต่ปี 2553 มาประกอบการชี้แจง และว่า ปกติแล้ว ในบัญชีธนาคารของตนมีเงินไม่ถึง 1 ล้านบาท แต่หลังจากเกษียณอายุราชการ ได้รับเงินค่าตอบแทนจากมหาวิทยาลัยประมาณ 1.2 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินที่มีอยู่เดิม จึงมียอดเงินในบัญชีกว่า 2 ล้านบาท ส่วนเงินประมาณ 80 ล้านบาทนั้น ได้มาจากการขายที่ดินที่เป็นมรดกของมารดา 20 ล้านบาท และเงินค่าตอบแทนจากการเป็นบอร์ด อสมท พร้อมยอมรับว่า สมัยดำรงตำแหน่งอธิการบดี ได้ลงนามปิดบัญชีธนาคารของ สจล. แต่ทุกครั้งจะมีการเปิดบัญชีธนาคารในคราวเดียวกัน “ผมยืนยันว่าไม่เคยเซ็นชื่อย้อนหลังเกี่ยวกับการปิดบัญชีธนาคาร หลังจากพ้นตำแหน่งแล้ว”

ทั้งนี้ วันเดียวกัน(27 ม.ค.) นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เปิดแถลงข่าวยืนยันว่า ธนาคารได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเต็มที่ในการส่งเอกสารที่จำเป็นให้ ส่วนสาเหตุที่ส่งช้า เนื่องจากธนาคารมีฐานลูกค้ามากกว่า 10 ล้านราย และมีเอกสารจำนวนมาก จึงต้องคัดเอกสารที่เป็นประโยชน์ ไม่มีนโยบายหรือเจตนาช่วยเหลือผู้กระทำผิด

นายวิชิต ยังประกาศด้วยว่า หากพบว่านายทรงกลด ศรีประสงค์ อดีตผู้จัดการของธนาคาร กระทำความผิด ทุจริต และทำให้เกิดความเสียหายระหว่างที่อยู่ในตำแหน่ง ธนาคารก็พร้อมรับผิดชอบตามกฎหมาย

วันต่อมา(28 ม.ค.) ได้มีการประชุมสภา สจล. โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และนายกสภา สจล.เป็นประธาน โดยมีรายงานว่า ระหว่างประชุม ได้มีบุคลากรของ สจล.ประมาณ 30 คนแต่งชุดดำ ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ โดยเสนอมาตรการที่จะกอบกู้ชื่อเสียงของ สจล. เช่น ขอให้มีการตรวจสอบกลไกการบริหารงานของ สจล.ทั้งหมด ด้าน พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า การกอบกู้ชื่อเสียง สจล.ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ทำตามอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยคือ ซื่อสัตย์ ใฝ่รู้ และสู้งาน ก็จะแก้ปัญหานี้ได้

ทั้งนี้ วันเดียวกัน(29 ม.ค.) พนักงานสอบสวนได้เดินทางไปที่เรือนจำมีนบุรี เพื่อสอบปากคำผู้ต้องหาเพิ่มเติม ประกอบด้วย น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ ,นายทรงกลด ศรีประสงค์ และนายพูลศักดิ์ บุญสวัสดิ์ ซึ่งผู้ต้องหายังให้การไม่ต่างจากเดิม คือโยนความผิดกันไปมา ระหว่าง น.ส.อำพร และนายทรงกลด โดย น.ส.อำพร พูดทำนองเหมือนถูกนายทรงกลดหลอก ขณะที่นายพูลศักดิ์บอกว่า ไม่รู้จักนายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี สจล. แต่รู้จักนายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ผู้ต้องหาที่ยังหลบหนี

ด้าน พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข รองผู้บังคับการปราบปราม เผยว่า ตำรวจได้เอกสารการโอนเงินจากธนาคารไทยพาณิชย์เพิ่มเติมแล้ว โดยมีแคชเชียร์เช็คที่สั่งจ่ายตรงเข้าไปที่นายกิตติศักดิ์และนายพูลศักดิ์หลายร้อยล้านบาท ซึ่งตำรวจต้องการรู้ว่าใครเป็นคนสั่งซื้อแคชเชียร์เช็ค เพราะตัวแคชเชียร์เช็คจะไม่มีลายเซ็นอยู่ ดังนั้นต้องหาเอกสารการซื้อแคชเชียร์เช็คให้ได้ เพราะจะมีลายเซ็นคนสั่งซื้ออยู่ในเอกสารทั้งหมด

6.กสทช.เคาะค่ายมือถือออกแพ็กเกจใหม่คิดค่าโทร.เป็นวินาที ดีเดย์ 16 ก.พ.นี้ พร้อมยอมให้เอกชนคิดมินิมั่มชาร์จ 30 วินาทีแรก!

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ได้ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส ,บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือดีแทค ,บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ,บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) เพื่อหาแนวทางการคิดค่าใช้บริการโทรศัพท์ตามจริงเป็นวินาที

หลังประชุม นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เผยว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปตรงกันทุกเรื่อง คือการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที จะดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.นี้ หรือช้าสุด ทุกแพ็คเกจต้องคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีในวันที่ 1 มี.ค. โดย กสทช.อนุญาตให้ผู้ประกอบการคิดค่าบริการเริ่มต้นกรณีโทร.ไม่ถึง 30 วินาที ให้สามารถปัดเศษเป็น 30 วินาที(มินิมั่มชาร์จ)ได้ หลังจากนั้นตั้งแต่วินาทีที่ 31 เป็นต้นไป คิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาที เนื่องจากผู้ประกอบการมีต้นทุนจากอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่าย หากผู้ประกอบการจะคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีตั้งแต่วินาทีแรกก็ได้ แต่ค่าบริการเฉลี่ยต่อนาทีต้องไม่เกินที่กำหนด โดยคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ ต้องไม่เกิน 84 สตางค์ต่อนาที ส่วนคลื่นความถี่อื่นๆ ต้องไม่เกิน 99 สตางค์ต่อนาที

สำหรับประชาชนที่ใช้บริการแพ็คเกจแบบคิดค่าบริการขั้นต่ำเป็นนาทีอยู่ สามารถเปลี่ยนแพ็คเกจเป็นแบบคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่กรณีที่ใช้แพ็คเกจค่าบริการที่อยู่ภายใต้สัญญาพ่วงกับสินค้าต่างๆ ต้องชำระหนี้ให้ครบก่อนจึงจะสามารถเปลี่ยนมาใช้แพคเกจใหม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น