xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ยันโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ไม่กระทบท่องเที่ยว-ดูแลมั่นคงไฟใต้รับมือปี 62

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กฟผ.” ยันโรงไฟฟ้าถ่านหินประสิทธิภาพสูง จ.กระบี่มีความจำเป็นต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าภาคใต้ เหตุปี 2562 การผลิตไฟฟ้าจะตึงตัวหนักไม่เกิดส่อไฟตก-ดับสูง ลั่นดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดีไม่กระทบการท่องเที่ยวแน่ แจง PDP ใหม่ผุดโรงไฟฟ้าถ่านหินรวม 9 แห่งจำเป็น ถ้าเกิดไม่ได้ค่าไฟเฉลี่ยตลอด 21 ปีจะเกิน 4.6บาท/หน่วยแน่

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กฟผ.ได้พยายามชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังผลิต 870 เมกะวัตต์ ที่จะให้ความสำคัญต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทุกมิติ ขณะเดียวกันก็มองความมั่นคงระบบไฟฟ้าที่ภาคใต้ซึ่งมีอัตราการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าปีละ 4% ตามการเติบโตของเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งตามแผนโรงไฟฟ้ากระบี่จะป้อนไฟเข้าระบบปี 2562 เพื่อให้มีกำลังการผลิตรองรับความต้องการที่สูงถึงในระดับ 4,477 เมกะวัตต์

“หากโรงไฟฟ้ากระบี่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามแผนก็จะเสี่ยงต่อความมั่นคงในเรื่องของไฟตกดับในพื้นที่ภาคใต้ เพราะคาดว่าความต้องการขณะนั้นจะสูงกว่ากำลังผลิตกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปกติภาคใต้ต้องอาศัยไฟฟ้าจากมาเลเซียประมาณ 300 เมกะวัตต์และส่งไฟฟ้าจากส่วนกลางป้อนอีก 650 เมกะวัตต์” นายสุนชัยกล่าว

ทั้งนี้ กฟผ.ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้วโดยขั้นตอนขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ก่อนที่จะเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและ ครม.เห็นชอบเพื่ออนุมัติก่อสร้างโครงการ โดย กฟผ.ก็ยังหวังว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดกระบี่จะยังคงเป็นไปตามกรอบและเป้าหมายที่วางไว้ และกรณีกลุ่มผู้คัดค้านเพราะเกรงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะหมู่เกาะลันตานั้นยืนยันว่าไม่มีผลกระทบแน่นอน และตรงกันข้ามไฟฟ้าก็มีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวด้วยการขนส่งถ่านหินต่างๆ นั้น กฟผ.ก็เป็นระบบปิด

“ทั่วโลกเขาก็มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อถ่วงดุลเชื้อเพลิงอื่นๆ และราคาค่าไฟทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี ฝรั่งเศส แต่กลับมาต่อต้านที่เมืองไทยมากไม่รู้ว่ากังวลกลัวคนไทยจะสร้างโรงไฟฟ้าแล้วไทยจะดีกว่าเขาหรือ แต่ก็เข้าใจเป็นเรื่องปกตินะที่จะมีบุคคลเข้าใจคลาดเคลื่อนก็ต้องชี้แจง แต่บางกลุ่มยังไงก็ไม่เอาก็ต้องไปถามเหตุผลจริงๆ” นายสุนชัยกล่าว

นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ.กล่าวว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ กฟผ.เลือกพื้นที่กระบี่เพราะมีพื้นที่ตั้งเดิมอยู่แล้วทำให้ไม่ต้องลงทุนสูงและไม่ต้องไปเวนคืนที่ดินจากประชาชน และกรณีการขนส่งถ่านหินนั้นมีการออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่ายและเป็นไปตามมาตรฐานสากล กรณีตัวอย่างการไปดูงานที่เยอรมนีและฝรั่งเศสจะเห็นว่าการขนส่งถ่านหินไปป้อนโรงไฟฟ้าก็ใช้แม่น้ำสายหลักและเป็นระบบเปิดก็ไม่ได้ส่งผลกระทบให้การท่องเที่ยวหายไปแต่อย่างใด และถ้าโรงไฟฟ้ากระบี่สร้างไม่ได้โอกาสไฟดับก็จะสูงในปี 2562

นายชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย รองผู้ว่าการนโยบายและแผน กฟผ. กล่าวว่า ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP 2015) ระยะเวลาปี 2558-79 นั้นได้คำนึงถึงความสมดุลเรื่องเชื้อเพลิงด้วยการลดสัดส่วนก๊าซฯ ที่สูงเกินไป และเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินรวมทั้งหมดในแผนเป็น 9 แห่ง กำลังผลิต 7,390 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันยังดูแลต้นทุนค่าไฟที่ให้ประเทศสามารถแข่งขันได้ ซึ่งตลอดแผน 21 ปีค่าไฟจะเฉลี่ยที่4.587 บาทต่อหน่วยหรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1.89% แต่หากโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นไม่ได้มากเท่าใดก็จะยิ่งผลักดันให้ค่าไฟเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าที่กำหนด เพราะจะต้องหันไปพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนการผลิตไฟแพงกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น