xs
xsm
sm
md
lg

“กฟผ.” สุดมั่นพร้อมทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 แห่งตาม PDP ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กฟผ.” มั่นใจภายใต้แผน PDP ใหม่ที่เตรียมเสนอ “กพช.” ซึ่งกำหนดจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินบรรจุไว้ในแผนรวม 9 แห่ง กฟผ.พร้อมจะดำเนินการเองได้ทั้งหมดจากที่ชัดเจนแล้วในส่วนของทดแทนแม่เมาะ กระบี่ เทพา 1-2 พร้อมลุยลงทุน 5 ปี 6 แสนล้านบาท วางเป้าสู่องค์กรระดับโลก
 

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยในการแถลงข่าวครบรอบวันสถาปนา 46 ปีในวันที่ 1 พ.ค. 58 ว่า ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (PDP2015) ที่เตรียมจะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เร็วๆ นี้นั้น จะมีสัดส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินตลอดแผนทั้งหมด 9 แห่ง กำลังการผลิตรวม 7,365 เมกะวัตต์ กฟผ.ก็มั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทั้งหมด

“ตามแผน PDP ใหม่ก็จะต้องมีการปรับปรุงกันทุกปี และต้องติดตามเทคโนโลยีที่จะต้องดูองค์ประกอบจากหลายส่วน และที่สำคัญคือการกระจายเชื้อเพลิงด้วย ซึ่งตามแผนนี้ช่วง 10 ปีแรกก็ชัดเจนว่า กฟผ.จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดในส่วนของทดแทนแม่เมาะ 4-7 และแม่เมาะ 8-9 โรงไฟฟ้ากระบี่ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 1-2 ซึ่งหาก กฟผ.ดำเนินการได้ระยะถัดไป กฟผ.ก็จะทำได้โดยไม่มีปัญหา” นายสุนชัยกล่าว

สำหรับ 46 ปี กฟผ.จากเริ่มแรกมีกำลังผลิตติดตั้งไฟฟ้าเพียง 907 เมกะวัตต์ ถึงปัจจุบันไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 34,668 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าของ กฟผ. 15,482 เมกะวัตต์ คิดเป็น 45% ของกำลังผลิตรวมของประเทศ

อย่างไรก็ตาม แผนการลงทุนของ กฟผ. ระยะ 5 ปี (2558-2562) จะใช้เงินทั้งสิ้น 600,000 ล้านบาท ซึ่งจะประกอบด้วย 1. โครงการที่เป็นเงินลงทุนต่อเนื่อง 2. โครงการใหม่ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้ว และ 3. โครงการที่กำลังจะขออนุมัติการลงทุนเพิ่มเติม โดยอนาคต กฟผ.จะเดินหน้าสู่เป้าหมายองค์กรระดับโลก (Global Top Quartile Utility)

นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กล่าวว่า โรงไฟ้ฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีกภายใต้ PDP ในช่วงปี 2575-78 นั้นควรจะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ติดทะเลเพื่อการขนส่งถ่านหินซึ่งก็คงจะเป็นภาคใต้ หรือภาคตะวันออก ซึ่งเหตุที่ไทยจะต้องมีถ่านหินไม่ใช่เพียงเพราะราคาค่าไฟถูก แต่หลักสำคัญคือก๊าซธรรมชาติในอนาคตจะทยอยหมดลงและต้องไปพึ่งพิงการนำเข้าที่มีราคาแพง ถ่านหินจึงเป็นเรื่องของทั้งราคาและความมั่นคงไปพร้อมๆ กัน

นอกจากนี้ หากพิจารณาโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในส่วของแม่เมาะแม้จะมีการสร้างมาทดแทนตามแผน PDP ที่กำหนดไว้ชัดเจน แต่ด้วยปริมาณถ่านหินสำรองที่จะรองรับการใช้ก็จะอยู่ได้อีกประมาณ 30 ปีเท่านั้นหรือจะหมดลงอย่างช้าสุดปี 2592 ไทยจึงต้องสร้างสมดุลด้านพลังงานไว้หลายๆ ด้านเพื่อความมั่นคงและความมีเสถียรภาพของค่าไฟฟ้า

“โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ขนาดกำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ และโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วได้จัดรับฟังความคิดเห็นรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา ส่วนโรงไฟฟ้าเทพา 1,000 เมกะวัตต์อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นครั้งที่ 3 ซึ่งมั่นใจว่าการดำเนินงานจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้” นายรัตนชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น