กฟผ.เผยกรณีกระทรวงการคลังขอให้รัฐวิสาหกิจนำเงินส่งคลังเพิ่มนั้น กฟผ.ส่งได้เพิ่มอีกสูงสุด 5,000-6,000 ล้านบาทเท่านั้น เหตุต้องลงทุนเพิ่ม 400,000-500,000 ล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า ขณะที่การหยุดจ่ายก๊าซฯ จากพม่าเพื่อซ่อมบำรุงเป็นไปอย่างปกติ
นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่กระทรวงการคลังหารือกับ กฟผ.เพื่อขอให้พิจารณานำเงินส่งคลังเพิ่มขึ้นจากปกติจะนำเงินส่งรัฐ 45% ของผลกำไรหรือประมาณ 20,000 ล้านบาทนั้น กฟผ.คงจะนำส่งได้สูงสุดเพียง 5,000-6,000 ล้านบาทเท่านั้น เนื่องจาก กฟผ.จะต้องมีการลงทุนโรงไฟฟ้าและระบบส่งตามแผนลงทุนระยะเวลา 5 ปี เงินลงทุน 400,000-500,000 ล้านบาท
ส่วนการที่ กฟผ.กำลังจะออกกองทุนสาธารณูปโภค ขนาดกองทุน 20,000 ล้านบาท เป็นส่วนของ กฟผ. 25% หรือ 5,000 ล้านบาท โดยใช้ชื่อกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 กฟผ. (EGAT IF) ใช้โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ 1เป็นทรัพย์สินในการระดมทุน อายุ 20 ปี ซึ่งคาดผลตอบแทนจะมากกว่า 5% หรือสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20 ปีที่อัตรา 4-5% โดยเม็ดเงินจากการระดมทุนนี้จะลงทุนในการพัฒนาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และโครงการขยายระบบส่งของ กฟผ. ปี 2558-2559 โดย กฟผ.จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนปี 2558 กว่า 40,000 ล้านบาท
นายสุนชัยยังกล่าวถึงกรณีการหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา สหภาพพม่า ในวันที่ 10-19 เมษายน 2558 เพื่อทำงานซ่อมฐานรากของแท่นผลิตที่ทรุดตัว ทำให้ก๊าซฯ ที่ส่งให้หายไปทั้งหมดวันละประมาณ 980 ล้าน ลบ.ฟ. คิดเป็นกำลังผลิตประมาณ 5,700 เมกะวัตต์ และกรณีการหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งซอติก้า สหภาพพม่า ในวันที่ 20-27 เมษายน 2558 เพื่อหยุดทำงานตรวจสอบอุปกรณ์ และซ่อมบำรุงอุปกรณ์เพิ่มความดัน โดยลดการจ่ายก๊าซธรรมชาติ สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากปกติวันละประมาณ 980 ล้าน ลบ.ฟ. เหลือ 420 ล้าน ลบ.ฟ. คิดเป็นกำลังผลิตลดลงประมาณ 3,300 เมกะวัตต์ ซึ่งก๊าซธรรมชาติที่หายไปได้ส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าในฝั่งภาคตะวันตกทั้งหมด
โดยในช่วงที่มีการหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติดังกล่าวความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ Peak อยู่ที่ 27,139 เมกะวัตต์ ซึ่ง กฟผ.ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้ 3 ส่วนหลัก ทั้งด้านระบบผลิต ด้านระบบส่ง และด้านเชื้อเพลิงทดแทน โดยมีการใช้น้ำมันเตาประมาณ 112 ล้านลิตร ต่ำกว่าแผน 32 ล้านลิตร ใช้น้ำมันดีเซล 13 ล้านลิตร ต่ำกว่าแผน 31 ล้านลิตร รวมถึงการเปิด War room 24 ชั่วโมง เพื่อเตรียมพร้อมกรณีเกิดวิกฤตนั้น ปรากฏว่า 18 วันที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 10-27 เมษายน 2558 ผ่านพ้นไปด้วยความเรียบร้อยดีจากความร่วมมือของทุกฝ่าย