xs
xsm
sm
md
lg

พลังงานยันเดินหน้าชง PDP ใหม่เข้า กพช. 14 พ.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงพลังงานเดินหน้าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวใหม่ 20 ปี (PDP 2015) เสนอ กพช.เห็นชอบ 14 พ.ค.นี้ ยันหลักการสร้างสมดุลทุกด้านแล้ว พร้อมรับข้อเสนอทบทวนสัญญาซื้อไฟเอกชนใหม่เปิดทางรัฐยืดหยุ่นเจรจาเลื่อนจ่ายไฟได้

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2558-2579 (PDP-2015) ว่า จะนำเสนอแผน PDP ใหม่ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันที่ 14 พ.ค. 58 เห็นชอบ พร้อมกับจะมีการพิจารณาแนวทางปรับปรุงเงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า หรือ PPA ซึ่งเป็นข้อเสนอของหลายฝ่ายเพื่อให้สัญญามีความยืดหยุ่นไม่ผูกมัดรัฐจนเกินไป โดยคงจะต้องมีการหารือกับอัยการสูงสุดและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป

“มีข้อสังเกตจากหลายฝ่ายถึงกรณีที่สำรองไฟฟ้าในแผน PDP กรณีฐานช่วงปี ’66-67 ที่ผ่านมาสูงเกินไป ซึ่งการผลิตไฟเองมาจาก 2 ส่วน คือ จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และภาคเอกชน แต่กลับไม่สามารถเจรจาเลื่อนโรงไฟฟ้าเอกชนได้เพราะมี PPA แล้วถ้าจะให้เลื่อนก็ต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มทำให้ภาระตกอยู่ที่ประชาชน เราเองคงจะต้องไปดูว่าจะทำอย่างไรให้สัญญาเหล่านี้ต่อไปจะต้องยืดหยุ่นได้” นายอารีพงศ์กล่าว

สำหรับภาพรวม PDP ใหม่นี้จะมองระยะยาวที่จะสร้างสมดุลในเรื่องของอัตราค่าไฟฟ้าที่เฉลี่ยตลอดแผนที่ 4.587 บาทต่อหน่วย สิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์พลังงาน โดยลดการพึ่งพิงก๊าซฯ จาก 64% เหลือ 30-40% ถ่านหินเพิ่มจาก 20% เป็น 20-25% พลังน้ำจากต่างประเทศเพิ่มจาก 7% เป็น 15-20% พลังงานหมุนเวียนเพิ่มจาก 8% เป็น 15-20% นิวเคลียร์ 5%

นายเทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการผู้ร่วมจัดทำแผน PDP กล่าวว่า สำรองที่สูงมากเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเกินคาด ประกอบกับสัญญาการซื้อไฟฟ้าจากเอกชนที่ปัจจุบันมีกำลังผลิตเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ โดยยอมรับว่าเป็นสัญญาที่ไม่ยืดหยุ่น ทำให้เกิดปัญหาและควรต้องทบทวนสัญญาในอนาคต ซึ่งในอดีต กฟผ.เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเพียงรายเดียวจึงมีความยืดหยุ่นในเรื่องการเลื่อนจ่ายไฟ

นายศุภกิจ นันทะวรการ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายสาธารณะ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า ปี 66-67 สำรองไฟจะสูงเฉลี่ย 40% ซึ่งปกติควรอยู่ไม่เกิน 15% ซึ่งส่วนเกินนี้คิดเป็น 9,500 เมกะวัตต์หรือคิดเป็นมูลค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้ารวมระบบส่งในการรองรับสูงถึง 2.5 แสนล้านบาท ทำให้เป็นภาระค่าไฟกับประชาชนซึ่งส่วนหนึ่งรัฐได้ชี้แจงว่าไม่สามารถเลื่อนโรงไฟฟ้าออกไปเพื่อลดสำรองได้เพราะได้ทำ PPA ไปแล้วนั้น จึงเห็นควรว่าถึงเวลาในการปรับรูปแบบสัญญาได้หรือไม่

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แสดงความเป็นห่วงปริมาณสำรองพีดีพี 2015 ว่ามีค่อนข้างมาก ทำให้ค่าไฟฟ้ามีอัตราสูง สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ผู้ผลิตเอกชนไม่ยอมเลื่อนแผนการผลิตไฟฟ้าออกไป อาทิ บริษัท กัลฟ์ 5,000 เมกะวัตต์ ดังนั้นจึงต้องการให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจสั่งเลื่อนการผลิตเพื่อลดภาระประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น