แย้มข่าวดีค่าเอฟทีงวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค.) จ่อลดกว่า 10 สตางค์ต่อหน่วย เปิดโต๊ะรับฟังความเห็นกลุ่มย่อยแผนผลิตไฟฟ้าใหม่ (ปี 58-79) “อารีพงศ์” มั่นใจค่าไฟเฉลี่ยตลอดแผนที่ 4.587 บาทต่อหน่วย ไทยจะสามารถแข่งขันได้ โดยแผนเน้นลดพึ่งพิงก๊าซฯ หันพึ่งถ่านหินเพิ่มขึ้นทั้งแผน 9 โรง ก๊าซฯ 15 โรง นิวเคลียร์ 2 โรง เป็นต้น
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย “ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 หรือพีดีพี 2015 ว่า แผนดังกล่าวจะมุ่งเน้นการบริหารเชื้อเพลิงผลิตไฟระยะยาวเพื่อให้เกิดความมั่นคง ราคาเป็นธรรม และสามารถดูแลภาคอุตสาหกรรมให้แข่งขันทางการค้าในเวทีโลกได้ รวมถึงการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วยการนำแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) และแผนอนุรักษ์พลังงาน (EE) มาประกอบการจัดทำ ซึ่งทำให้เฉลี่ยทั้งแผนค่าไฟจะอยู่ที่ 4.587 บาทต่อหน่วย
“ค่าไฟเฉลี่ยตลอด 20 ปีจะอยู่ที่ 4.587 บาทต่อหน่วย โดยท้ายแผนคือปี 2579 จะอยู่ที่ 5.55 บาทต่อหน่วย ซึ่งระดับราคาดังกล่าวมั่นใจว่าจะทำให้ศักยภาพของประเทศสามารถแข่งขันได้ ซึ่งหลังรับฟังความเห็นก็จะเปิดประชาพิจารณ์ทั่วไปในวันที่ 28 เม.ย. และนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือน พ.ค.เห็นชอบต่อไป” นายอารีพงศ์กล่าว
นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า พีดีพีใหม่กรณีฐานที่นำเอาแผนอนุรักษ์พลังงานมาพิจารณา 100% ภาพรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าสิ้นปี 2579 จะอยู่ที่ 70,410 เมกะวัตต์ แยกเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ 57,467 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตที่ปลดออก 24,669 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตสิ้นปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 37,612 เมกะวัตต์ โดยแยกเป็นกำลังการผลิตที่ผูกพันแล้วและมีผลต่อความมั่นคง ปี 2558-68 กำลังการผลิตรวม 26754 เมกะวัตต์
โครงการโรงไฟฟ้าใหม่ปี 2569-2579 กำลังการผลิตรวม 30,731 เมกะวัตต์ แยกเป็น โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด 3,000 เมกะวัตต์ (3 โรง) โรงไฟฟ้าจากก๊าซฯ 2,600 เมกะวัตต์ (2 โรง) โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2,000 เมกะวัตต์ ท้ายแผน 2 โรง โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ 1,250 เมกะวัตต์ (5 โรง) โคเจเนอเรชัน 357 เมกะวัตต์ พลังงานหมุนเวียน 12,205 เมกะวัตต์ พลังน้ำสูบกลับ 1,601 เมกะวัตต์ ซื้อไฟต่างประเทศ 7,700 เมกะวัตต์
แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft งวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค.) นี้มีแนวโน้มที่จะปรับลดลงเฉลี่ยอย่างต่ำ 10 สตางค์ต่อหน่วย จากภาวะอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าและราคาก๊าซธรรมชาติที่สะท้อนจากต้นทุนราคาน้ำมันย้อนหลัง 6 เดือนที่ราคาน้ำมันได้ลดต่ำลงต่อเนื่องทำให้ก๊าซฯ มีราคาลดลง อย่างไรก็ตาม คงจะต้องรอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) พิจารณาอย่างเป็นทางการภายใน เม.ย.นี้อีกครั้ง เนื่องจากอาจมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามา เช่น แผนการลงทุนของ 3 การไฟฟ้าว่าจะมีการนำมาเกลี่ยลดหรือไม่อย่างไร