xs
xsm
sm
md
lg

สนพ.เตรียมรับฟังความเห็นแผนผลิตไฟฟ้าใหม่ภายใน มี.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนพ.เตรียมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น PDP 2015 แผนใหม่มุ่งลดสัดส่วนก๊าซฯ ผลิตไฟจาก 67% เหลือ 35-40% ในช่วง 10 ปีสุดท้ายของแผน เพิ่มถ่านหินเป็น 25% เพื่อความมั่นคงและเบรกค่าไฟแพงจากการใช้ LNG ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น

นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ภายในเดือน มี.ค.นี้ สนพ.เตรียมที่จะเปิดรับฟังความคิดเห็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือ PDP 2015 (ปี 2558-2579) โดยหลักการของแผนจะมุ่งเน้นการลดสัดส่วนก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าจากปัจจุบัน 67% จากเชื้อเพลิงรวม แบ่งเป็นระยะ 11 ปีแรกจะลดเหลือ 45-50% และ 10 ปีหลังของแผนจะลดเหลือ 35-40% ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงและรักษาระดับราคาค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงขึ้นมากในอนาคต

ทั้งนี้ แผน PDP เมื่อลดสัดส่วนการใช้ก๊าซฯ ลงจะหันมาเพิ่มสัดส่วนของถ่านหิน โดยช่วง 11 ปีแรกจะพึ่งพิงถ่านหินในสัดส่วน 20% และ 10 ปีสุดท้ายช่วงแผนฯ จะเพิ่มเป็น 25% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด พลังงานน้ำการซื้อไฟฟ้าต่างประเทศช่วง 11 ปีแรกจะมีสัดส่วนประมาณ 10-15% ช่วง 10 ปีหลังจะเพิ่มเป็น 20% พลังงานทดแทนระยะ 11 ปีแรกจะมีสัดส่วน 10-15% และ 10 ปีหลังจะมีสัดส่วน 15-20% ส่วนนิวเคลียร์จะอยู่ท้ายๆ แผนประมาณ 3-5%

“ขณะนี้การจัดทำใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยยอมรับว่าพีดีพีที่จัดทำไว้ก่อนหน้าที่จะมาปรับใหม่มีสำรองในช่วงปี 2566-68 สูงถึง 40% ซึ่งปัจจัยมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เดิมจากคาดการณ์เศรษฐกิจจะโต 4.5% โดยเฉลี่ยก็ปรับลดลง รัฐทำแผนลดการใช้พลังงานลงได้พอสมควร และมีโรงไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้าระบบเพิ่มขึ้นมาก ด้วยเหตุผลทั้งหมดจึงต้องมีการเจรจาเลื่อนการสร้างโรงไฟฟ้าบางส่วนออกไปเพื่อเกลี่ยการผลิตไฟฟ้าในแผนใหม่” นายชวลิตกล่าว

นายชวลิตกล่าวว่า ไทยมีความจำเป็นที่จะต้องถ่วงสมดุลของการผลิตไฟฟ้าในอนาคตเพราะการพึ่งพิงก๊าซฯ ที่มากเกินไปเป็นความเสี่ยงในระยะยาวเนื่องจากปริมาณก๊าซฯ จากอ่าวไทยเริ่มทยอยลดลง สัดส่วนการนำเข้าก๊าซจากเพื่อนบ้านโดยเฉพาะพม่าก็มีแนวโน้มที่ลดเช่นกัน ดังนั้น การนำเข้าจะต้องพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่จะต้องลงทุนสร้างคลังและการแปรสภาพให้ของเหลวมาเป็นก๊าซฯ ที่มีต้นทุนแพงกว่าการหาแหล่งก๊าซฯ ที่วางระบบท่อเข้ามาโดยตรง หากสัดส่วน LNG ยิ่งเพิ่มขึ้นในการผลิตไฟฟ้าย่อมหมายถึงค่าไฟฟ้าที่สูงจะตามมา

นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไทยมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้ระบบสัมปทานในการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในรอบที่ 21 เนื่องจากปริมาณก๊าซธรรมชาติได้ปรับลดลง และจะต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว LNG ที่มีราคาแพงเข้ามาเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากค่าไฟ จนส่งผลกระทบให้นักลงทุนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนต่ำกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น