หัวหน้าประชาธิปัตย์ขอบคุณนายกฯ ชะลอเปิดสัมปทานปิโตรเลียม หวังคณะทำงานร่วมจะก้าวข้ามความขัดแย้งประเด็นนี้่ได้ รับไม่นั่งกรรมการเพราะเป็นนักการเมือง แนะปิดจุดอ่อนของระบบ เพิ่มอำนาจต่อรองให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด ต้องจัดสรรให้เป็นธรรม คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบ และเพิ่มทางเลือกอื่นนอกจากสัมปทาน มั่นใจจะแก้ได้ในไม่กี่เดือน แต่รับแปลงนี้มีพลังงานไม่มาก
วันนี้ (25 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้ชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่21 จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมาย พร้อมระบุว่าเป็นการยอมรับฟังความเห็นประชาชน และหาทางออกที่ตอบโจทย์ทุกด้าน คือ แก้จุดอ่อนของกฎหมายเพื่อไม่ให้มีการกระทบต่อความมั่นคง ต่อจากนี้เป็นเรื่องที่รัฐจะทำงานร่วมกับภาคประชาชนเพื่อผลักดันให้การแก้ออกมาดีและเร็ว โดยหวังว่าจะสามารถรักษาบรรยากาศที่ดีต่อกันได้ซึ่งจะทำให้ก้าวพ้นความขัดแย้งในประเด็นเรื่องนี้ได้ และเป็นก้าวสำคัญไปสู่การปฏิรูปด้วย แต่ต้องมีความต่อเนื่องซึ่งตนจะติดตาม แต่ที่ไม่ร่วมเป็นกรรมการเพราะทราบดีว่าไม่เหมาะสมเนื่องจากตนเป็นนักการเมือง
สำหรับประเด็นที่ควรแก้ไขในกฎหมาย นายอภิสิทธิ์เห็นว่า หลายประเด็นภาคราชการไม่ปฏิเสธ และบางเรื่องระบุชัดว่า เป็นนโยบายของรัฐบาล สิ่งที่ควรทำคือ 1. ปิดจุดอ่อนของระบบปัจจุบัน ด้วยการเพิ่มอำนาจต่อรองภาครัฐ ทำให้การจัดการพลังงาน รัฐได้ประโยชน์สูงสุด 2. ประโยชน์ที่ได้มาต้องจัดสรรให้เป็นธรรมต่อประชาชน 3. ดูแลคุ้มครองสิทธิประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 4. เพิ่มทางเลือกให้รัฐ สามารถใช้ระบบอื่นนอกจากสัมปทานได้ อย่างน้อยในปี 2565 ที่จะต้องมีการเปิดสัมปทานอีกก็จะทำให้ประเทศมีทางเลือกเพิ่มขึ้น โดยไม่ใช่ตั้งต้น ให้สัมปทานอย่างเดียว
“ผมยืนยันว่าทุกคนที่ทักท้วงเรื่องนี้ มีเจตนาดี บนสมมติฐานที่เป็นเหตุเป็นผล จึงมั่นใจว่าถ้านายกฯ แก้ไขกฎหมายได้ในเวลาไม่กี่เดือน ไม่กระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน แต่ต้องบริหารจัดการและกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานที่แท้จริง ด้วยการให้ข้อเท็จจริงกับประชาชนด้วยว่า แปลงที่จะเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ว่าไม่ได้มีปริมาณมากและปัจจุบันมีการนำเข้าพลังงานอยู่แล้ว การเปิดสัมปทานรอบนี้แม้แต่ราชการก็คาดการณ์ว่าจะได้ปริมาณไม่มาก เพราะในรอบ 19-20 ได้ค่อนข้างน้อย อีกทั้งแปลงที่จะทำในรอบที่ 21 คือแปลงที่เอกชนเคยสำรวจแล้ว และคืนกลับมาเพราะเห็นว่าไม่คุ้ม หรือไม่พบแหล่งปิโตรเลียม แต่วันนี้อาจมีเทคโนโลยีใหม่และต้นทุนที่เปลี่ยนจึงต้องการสำรวจซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่าแปลงนี้จะไม่ได้พลังงานที่มากอยู่แล้วหลังจากนี้อยากให้ราชการร่วมกับขับเคลื่อนร่วมกับประชาชน โดยผมพร้อมให้ข้อมูลกับสังคม และให้คำปรึกษากับทุกฝ่าย” นายอภิสิทธิ์กล่าว