xs
xsm
sm
md
lg

โพลเผย ปชช.รู้สถานการณ์พลังงานน่าห่วง แนะภาครัฐ-เอกชนร่วมมือกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดุสิตโพลสำรวจพบประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าสถานการณ์พลังงานของประเทศน่าเป็นห่วง แนะภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน เพื่อทำให้ประเทศเกิดความมั่นคงด้านพลังงาน ขณะเดียวกันเสนอให้หาพลังงานอื่นทดแทนหากขาดพลังงาน ฝากกระทรวงพลังงาน นึกถึงผู้มีรายได้น้อย ลดราคาค่าพลังงานให้ถูกกว่านี้

จากสถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่จะช่วยกันทำให้ประเทศชาติเกิดความมั่นคงด้านพลังงาน อีกทั้งยังช่วยผลักดันประเทศชาติให้มีศักยภาพแบบยั่งยืน และเป็นฐานข้อมูลสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตจึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,737 คน ระหว่างวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ 2558

ผลสำรวจประชาชนคิดอย่างไรกับสถานการณ์พลังงานของประเทศ ณ วันนี้พบว่าประชาชนเห็นว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง 55.44% เป็นห่วงอย่างมาก 27.81% ยังไม่ค่อยเป็นห่วง 11.69% ไม่ห่วงเลย 1.66% ไม่แสดงความคิดเห็น 3.40%

ส่วนประชาชนรับรู้สถานการณ์พลังงานของประเทศ ณ วันนี้หรือไม่ ประเด็นใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามากที่สุด รู้ 68.11% ไม่รู้ 31.89% ประเด็น ประเทศไทยไม่ได้มีปิโตรเลียมเพียงพอ ทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รู้ 68.51% ไม่รู้ 31.49% ประเด็น รายได้ในการพัฒนาปิโตรเลียม ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ ไม่เกี่ยวกับระบบสัมปทาน (PSC) รู้ 33.56% ไม่รู้ 66.44% การเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 เป็นการหาแหล่งพลังงานภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศ รู้ 39.78% ไม่รู้ 60.22% และประเทศไทยมีแหล่งพลังงานใหญ่พอๆ กับซาอุดีอาระเบีย รู้ 29.88% ไม่รู้ 70.12%

เมื่อถามว่า ถ้าไม่มีพลังงานใช้ หรือขาดพลังงาน ประชาชนคิดว่าจะเป็นอย่างไร ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าต้องหาพลังงานอื่นมาทดแทน 33.36% ต้องซื้อในราคาแพงขึ้น 24.42% ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ 23.43% ไม่มีความสุข /ปัญหาทุกอย่างจะตามมา 10.98% และไฟฟ้าดับ/ไฟตก 7.81% และถ้าจะทำให้ประเทศเกิดความมั่นคงด้านพลังงาน ประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน 88.20% พัฒนาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์ 87.80% ปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้ได้มาตรฐาน 86.60% สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค 85.60% เร่งเปิดสัมปทานรอบที่ 21 เนื่องจากการผลิตในประเทศไม่พอ ต้องนำเข้า ค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้น 75.60%

สำหรับสิ่งที่ประชาชนอยากฝากถึงกระทรวงพลังงาน ผลสำรวจพบว่า อยากให้ลดราคาค่าพลังงานให้ถูกกว่านี้ ขอให้นึกถึงประชาชนที่มีรายได้น้อยเป็นสำคัญ 30.54% เร่งพัฒนา หาแหล่งพลังงานทดแทนโดยเร็ว และหันมาใช้ทรัพยากรหรือวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรที่มีอยู่ในประเทศ 24.55% ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมมือกัน เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน 17.96% เร่งรณรงค์ ประชาสัมพันธ์เรื่องการประหยัดพลังงาน ควบคุมการใช้พลังงานให้ถูกวิธี 13.77% การบริหารจัดการ ขั้นตอนการดำเนินงานเป็นไปด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม ตรวจสอบได้ 13.18%


กำลังโหลดความคิดเห็น