“ชาวตรังใจกว้าง สร้างแต่ความดี” คือคำขวัญของ จ.ตรัง ซึ่งเป็นอีกจังหวัดบนชายฝั่งทะเลอันดามันที่ทีมแบ๊คแพ็ค เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินเดินสายสะพายเป้ไปเยี่ยมเยือนพร้อมเปิดเวทีให้ความรู้กับภาคประชาชน บริเวณถนนคนเดินหน้าสถานีรถไฟตรัง เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา
จ.ตรัง มีเมืองท่าที่สำคัญอยู่ที่ อ.กันตัง เมืองเก่าที่มีบทบาทสำคัญต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของ จ.ตรัง มานับตั้งแต่อดีต ปัจจุบันท่าเรือกันตังถูกใช้เป็นท่าเรือรองรับการขนส่งสินค้าประเภทแร่ธาตุและผลิตผลทางการเกษตร หลายสิบปีก่อนหน้านี้เคยมีการขนถ่ายถ่านหินจากต่างประเทศขึ้นที่ท่าเรือกันตังเพื่อส่งต่อไปยังโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ ด้านหนึ่งช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับแรงงานขนถ่านหินประจำท่าเรือ
แต่อีกด้านหนึ่งพบว่าการดำเนินการเคลื่อนย้ายถ่านหินที่ท่าเรือกันตังส่งผลให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองสีดำจากถ่านหินกระจายทั่วชุมชนในเมืองกันตัง ชาวบ้านรายหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ฝั่งถนนตรงข้ามกับท่าเรือ เปิดเผยว่า ฝุ่นจากถ่านหินจะกระจายตัวเข้าสู่บ้านเรือนชาวบ้าน บางบ้านต้องปิดประตูหน้าต่างอย่างมิดชิดเพื่อป้องกันฝุ่นละออง
“คนที่เจ็บป่วยส่วนใหญ่จะเป็นคนงานขนถ่านหินที่ท่าเรือ ส่วนมากป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจเพราะทำงานใกล้ชิดอยู่กับถ่านหิน ส่วนชาวบ้านทั่วไปที่สุขภาพไม่แข็งแรงก็อาจป่วยเป็นโรคภูมิแพ้เพราะมีฝุ่นละอองเยอะมาก”
นายศักดิ์กมล แสงดารา ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า จ.ตรัง ยังถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงระดับโลก ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวใน ต.ตรัง ปีละกว่า 1 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านบาทต่อปี รายได้ส่วนนี้กระจายไปสู่ผู้ประกอบการทุกระดับ
“ขณะที่รายได้เข้าประเทศที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือการเกษตรและการทำประมงซึ่งมีสูงถึงกว่า 48 เปอร์เซ็นต์ สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่หล่อเลี้ยงการดำเนินชีวิตของประชาชนและมีความยั่งยืน นอกจากนี้ จ.ตรัง ยังมีเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านที่เข้มแข็ง มีการรวมตัวกันปกป้องทรัพยากรทางทะเล เช่น การอนุรักษ์พะยูน การอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเลและแนวปะการัง ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้นักท่องเที่ยวอยากเข้ามาเยี่ยมชมทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์เหล่านี้”
นายศักดิ์กมล กล่าวและว่า ก่อนหน้านี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.กำหนดจะมาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ ต.วังวน อ.กันตัง จ.ตรัง แต่เครือข่ายภาคประชาชนใน จ.ตรัง ได้เคลื่อนไหวคัดค้าน เพราะไม่อยากเสี่ยงนำทรัพยากรที่มีคุณค่าของจังหวัดไปแลกกับอุตสาหกรรมที่จะส่งผลกระทบในระยะยาว
“ตอนนี้ จ.กระบี่ กำลังถูกรุกหนักจากผู้สนับสนุนและต้องการให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ถามว่าหากเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ จะส่งผลกระทบต่อ จ.ตรัง อย่างไร ในด้านการท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใน จ.ตรัง กับ จ.กระบี่ เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มเดียวกัน หากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ไม่มาเที่ยวกระบี่ก็หมายถึงไม่มา จ.ตรังด้วย การท่องเที่ยวก็จะได้รับผลกระทบ ส่วนผลกระทบทางน้ำและทางอากาศมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าไฟไหม้ป่าที่อินโดนีเซียแต่กระแสลมได้พัดพาหมอกควันมาถึง จ.ตรัง ทุกปี แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินมีมลพิษมากกว่าหมอกควัน มีสารโละหนักที่อันตรายมากกว่า 5 ชนิด หากแพร่กระจายไปในทะเลชาวเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ชาวประมงก็จะได้รับผลกระทบในที่สุด”
ด้านตัวแทนเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง ซึ่งเข้าร่วมเวทีความรู้ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน สะท้อนว่าทรัพยากรทางทะเลของ จ.ตรัง อุดมสมบูรณ์มาจนถึงทุกวันนี้เพราะภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง ทำให้ทรัพยากรสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศปีละมหาศาล ภาครัฐจึงควรตระหนักและฟังเสียงประชาชนว่าสิ่งใดควรทำและสิ่งใดควรหลีกเลี่ยง
ทั้งนี้เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านและภาคประชาชนอีกหลายองค์กรใน จ.ตรัง ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมาขอให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยระบุว่าจากนโยบายที่รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานได้ประกาศให้พื้นที่จังหวัดกระบี่เป็นพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและได้เร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้
คณะทำงานการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอันดามันหกจังหวัดซึ่งเป็นชาวประมงพื้นบ้านและภาคีเครือข่ายที่อาศัยและใช้ชีวิตในบริเวณชายฝั่งอันดามันมานาน ตระหนักดีถึงความอ่อนไหวของระบบนิเวศน์หากมีปัจจัยคุกคามจากกิจการอุตสาหกรรมมลพิษโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งทั้งโลกได้มีบทสรุปแล้วว่าเป็นต้นเหตุแห่งหายนะด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ที่ร้ายแรง
การที่รัฐบาลกำหนดให้พื้นที่จังหวัดกระบี่เป็นพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงเป็นการแสดงเจตนาโดยตรงที่จะทำลายฐานการผลิตอาหาร ฐานระบบนิเวศน์ ชาวประมงและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ผู้ใช้อำนาจรัฐมิพึงกระทำต่อประชาชน คณะทำงานการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอันดามันหกจังหวัดจึงขอให้รัฐบาลประกาศยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ในทันที
โดยมีเหตุผลที่รัฐบาลต้องประกาศยกเลิกดังนี้ 1.ความรุนแรงของสารพิษในถ่านหินจากงานวิจัยหลายประเทศบ่งชี้ว่าเกิดผลกระทบรุนแรง เมื่อถูกปล่อยสู่บรรยากาศจะสามารถแพร่กระจายไปได้ในรัศมี 15-30 ไมล์ และยิ่งไปกว่านั้นหากระยะเวลาผ่านไปนานขึ้น มลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายสามารถแพร่กระจายไปในระยะทางจาก 100 ถึง 1,000 ไมล์ ระยะทางดังกล่าวจะเกิดขึ้นครอบคลุมทั้งในพื้นที่อันดามันและทั้งภาคใต้อย่างแน่นอน
2.ฐานอาชีพของคนอันดามันคือการท่องเที่ยวและการเกษตรเป็นหลัก ซึ่งทั้งสองอาชีพล้วนเกี่ยวเนื่องกับการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี หากเราพิจารณาตัวเลขด้านการท่องเที่ยว จากสำนักงานสถิติจังหวัด ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง จะพบว่าในปี 2555 เศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันขึ้นอยู่กับภาคการ ท่องเที่ยวและภาคเกษตรกรรมโดยมีขนาดเศรษฐกิจ 3.31 แสนล้านบาท โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 2.95 แสนล้านบาท สาขาเกษตร 1.11 แสนล้านบาท และการท่องเที่ยวของอันดามันส่วนใหญ่คือการท่องเที่ยวทะเลและชายหาด ซึ่งต้องอาศัยความสวยงามของธรรมชาติเป็นหลัก หากพื้นที่การท่องเที่ยวปกคลุมด้วยควันถ่านหินและมลพิษทางน้ำ การท่องเที่ยวก็จะหายนะ รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งอาหาร ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ความทุกข์ยากของคนอันดามัน
3.พื้นที่ทำการประมงทั้งอันดามันจะเกิดหายนะตามมาอย่างแน่นอนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความ
มั่นคงด้านอาหารโดยเฉพาะในกิจการท่องเที่ยวซึ่งต้องอาศัยอาหารจากชาวประมงในฝั่งอันดามัน และผลกระทบทางระบบนิเวศน์จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์น้ำ ปะการังและสิ่งมีชีวิตทั้งหมดในทะเล อาชีพประมงจะต้องสูญสิ้นลงพร้อมกับระบบนิเวศน์ที่เสื่อมโทรม ทั้งหมดนี้จะก่อผลกระทบวงกว้างเกี่ยวพันถึงผู้คนจำนวนมากซึ่งรัฐในฐานะผู้ใช้อำนาจเพื่อความผาสุกของส่วนรวมมิพึงกระทำ
4.ทางออกของความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าหากกระทรวงพลังงานยกเลิกมาตรการและข้อจำกัดในการผลิตพลังงานหมุนเวียน ภาคใต้จะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อีกจำนวนมาก และหากพิจารณาในระดับโลกพบตัวเลขที่น่าสนใจว่าตั้งแต่ ปีพ.ศ.2556โลกผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้มากกว่าพลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน นิวเคลียร์ อีกทั้งในประเทศอเมริกา เยอรมนี จีน อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกได้หันมาสร้างไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกันอย่างจริงจัง ปัญหาของพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยจึงไม่ใช่เรื่องของศักยภาพการผลิตแต่เป็นเรื่องของการผูกขาดและกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวย
คณะทำงานการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอันดามันหกจังหวัดขอประกาศให้รัฐบาลรักษาระบบนิเวศน์ของทะเลอันดามันและความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการพิจารณายกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ และขอให้จริงจังกับการดำเนินการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งจะได้รับความร่วมมือจากภาคสังคมของจังหวัดอันดามันในการร่วมขับเคลื่อนกับรัฐบาลให้อันดามันเป็นพื้นที่พลังงานสะอาดของโลกต่อไปในอนาคตอันใกล้