ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ย้อนเส้นทางทีมแบ็กแพก เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เดินสายสะพายเป้ให้ความรู้แก่ชาวบ้านเรื่องพิษภัยจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน เผยแผนพัฒนาภาคใต้กำหนดให้ท่าเรือน้ำลึกปากบารา และโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างขึ้นมารองรับศูนย์กลางพลังงานข้ามโลก ขณะเครือข่ายภาคประชาชนใน จ.สตูล ร่วมเคลื่อนไหวใหญ่ ลั่นถ่านหินสะอาดไม่มีในโลก
หลังเดินสายสะพายเป้รณรงค์ให้ข้อมูลความรู้แก่เครือข่ายภาคประชาชน และภาคธุรกิจฝั่งอันดามันในช่วงโค้งสุดท้าย ในที่สุดทีมแบ็กแพก เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ก็ได้เปิดเผยวันเวลานัดหมายเคลื่อนพลชุมนุมแสดงเจตนารมณ์ครั้งใหญ่ร่วมกันกับภาคธุรกิจ และภาคประชาชน หน้าศาลากลางจังหวัดกระบี่ ในวันที่ 6 มิ.ย.นี้
เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน มี นายอมฤต ศิริพรจุฑากุล หรือ “โกเลี้ยง” นักธุรกิจรุ่นใหญ่ใน จ.กระบี่ นำขบวนเป็นประธานเครือข่ายฯ ประสานภาคธุรกิจรุ่นใหญ่ในฝั่งอันดามันให้เข้าใจถึงเหตุผลที่จะต้องผลึกกำลังกันปกป้องอันดามันจากถ่านหิน
โดยมี “โอ” หรือ นายอัครเดช ฉากจินดา ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายฯ โดยนายอัครเดช เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวกระบี่ มีดีกรีเป็นนักกฎหมาย อดีตเคยเป็นเจ้าหน้าที่สหประชาชาติประจำสำนักงานประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะลาออกมาทำงานเคลื่อนไหวภาคประชาชนในนามกลุ่ม “Save Krabi” รณรงค์ปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของ จ.กระบี่ มาเป็นระยะเวลาร่วม 10 ปี นายอัครเดช พร้อมกับเพื่อนๆ ร่วมเครือข่ายฯ ได้ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐโดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากภาคประชาชนที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันอย่างต่อเนื่องในโซเชียลมีเดีย
นอกจากนี้ เครือข่ายปกป้องดันดามันจากถ่านหิน ยังมีผู้ประสานงานอีกคนที่เป็นคนหนุ่มไฟแรงมีความสนใจในประเด็นปัญหา และเชี่ยวชาญเรื่องพลังงาน คือ “ชัย” หรือประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน ซึ่งประเด็นการเรียกร้องให้รัฐบาลถอดโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินออกจากแผน PDP เป็นประเด็นที่เครือข่ายขาหุ้นฯ เคลื่อนไหวเรียกร้องมาโดยตลอดก่อนหน้านี้ ควบคู่กับประเด็นการเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายจากการให้สัมปทานปิโตรเลียม มาเป็นระบบการแบ่งปันผลผลิต ที่ประเทศชาติจะได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ถูกเอาเปรียบอีกต่อไป
ในเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ยังมีนักพัฒนาเอกชน เครือข่ายชุมชน ภาคธุรกิจ สื่อมวลชน และเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านทั้งฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย เครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสงขลา-สตูล ฯลฯ ซึ่งเกาะติดความเคลื่อนไหวของแผนพัฒนาภาคใต้มาอย่างยาวนานทุกรัฐบาลร่วมเคลื่อนไหวอยู่ในเครือข่ายด้วยจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังมีศิลปินในนาม “เครือข่ายศิลปินรักษ์ทะเล” นำโดยศิลปิน เช่น “หงา คาราวาน” วง “ซูซู” “แสงธรรมดา” “ตุดนาคอน” “วงใต้สวรรค์” “วงเซาท์พาราไดซ์ “วงภู-เล” “วงกัวลาบารา” และศิลปินอีกจำนวนมากร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานเพลงเพื่อใช้ในการรณรงค์ปกป้องทรัพยากรทางทะเลทั้ง 23 จังหวัดของประเทศไทยไม่ให้ถูกทำลายจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่กำลังจะลงมาสร้างฐานแห่งใหม่ในภาคใต้ทั้งสองฝั่งทะเล
และยังมีศิลปินกวี นักเขียน ช่างภาพ ศิลปินพื้นบ้าน จิตกร เช่น “วสันต์ สิทธิเขตต์” “ตู่” ประสาท นิรันดรประเสริฐ” ทำหน้าที่สื่อสารปากเสียง และวิถีชีวิตของชาวบ้านผ่านภาพเขียน และภาพพิมพ์มาอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินจึงประกอบไปด้วยภาคประชาชนทุกกลุ่มสาขาอาชีพร่วมกันรณรงค์ปกป้องทรัพยากรทางทะเลของไทยให้รอดพ้นจากความล่มสลายจากการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
ขณะเดียวกัน ได้เสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานทรัพยากรด้านการประมง ท่องเที่ยว และการเกษตร ที่สร้างรายได้เข้าประเทศปีละหลายแสนล้านบาท ให้เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาภาคใต้ โดยคำนึงถึงการปกป้องทรัพยากรให้ยั่งยืนสู่ลูกหลานสืบไปในอนาคต
การเคลื่อนไหวของทีมแบ็กแพก เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เริ่มต้นที่บ้านปากบารา อ.ละงู จ.สตูล เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนเครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล-สงขลา ร่วมรับมอบธงตราสัญลักษณ์ “Save Andaman from coal” พร้อมร่วมปราศรัยแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
โดย นายหุดดีน อุสมา ประธานเครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล-สงขลา กล่าวว่า ประชาชนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันล้วนแล้วแต่มีเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกัน มีหัวใจที่รักในทรัพยากรทางทะเล เพราะพึ่งพาอาศัยทรัพยากรจากทะเลเป็นหลักในการดำรงชีวิต จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนในฝั่งอันดามันทุกคนที่จะต้องร่วมกันปกป้องทรัพยากรที่มีค่านี้
“หากภาครัฐมาสร้างท่าเรือน้ำลึก หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน มลพิษที่ตามมาจะทำลายทรัพยากรทั้งหมดในท้องทะเล ทะเลอันดามันเป็นแหล่องที่เที่ยวระดับโลก ถ้าเมื่อไหร่ที่ถ่านหินมันกระจายไปในอากาศแล้วจะเป็นสารก่อโรคอันตรายทั้งภูมิแพ้ และโรคมะเร็ง เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลกรับรู้กันหมดแล้ว แต่รัฐยังขืนพูดว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด เป็นวาทกรรมที่น่ากลัวมาก มันเข้าทฤษฎีที่ว่าโกหกสักพันครั้งแล้วคนจะเชื่อ เขาจึงพยายามโฆษณา ออกข่าวต่างๆ ว่าถ่านหินสะอาด ไม่มีถ่านหินสะอาดครับในโลกนี้”
ด้าน นางเจ๊ะนะ วัฒนพันธุ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล-สงขลา กล่าวว่า ท่าทีของรัฐบาลขณะนี้ไม่สามารถทำให้ชาวบ้านไว้วางใจได้ว่ารัฐบาลจะคืนความสุขให้แก่ประชาชนได้จริง เพราะตามกฎหมายการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ระบุว่า หากรายงาน EHIA ยังไม่ผ่านการพิจารณา ห้ามมีการประชาสัมพันธ์โครงการอย่างเด็ดขาด
“แต่นี่กลับมีการประชาสัมพันธ์ว่าจะทำท่าเรือน้ำลึกปากบารา ทำโรงไฟฟ้าถ่านหิน แล้วไหนล่ะรายงานผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นคนสตูล หรือคนกระบี่ หรือที่ไหนๆ ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย รวมทั้งนายกฯ ด้วย แต่ที่เห็นตอนนี้ ไม่ใช่”
นางเจ๊ะนะ กล่าวและว่า รัฐบาลจะต้องฟังเสียงของประชาชน ไม่ใช่ฟังแต่เสียงนายทุน สำหรับปากบารา ถูกกำหนดให้เป็นท่าเรือน้ำลึกรองรับการขนส่งปิโตรเลียม มีพื้นที่สำหรับนิคมอุตสาหกรรม 150,000 ไร่ โรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะสร้างที่กระบี่จะมารองรับการเกิดขึ้นของนิคมอุตสาหกรรมนี้ หากเป็นเช่นนี้ ที่นี่ก็จะไม่เหลือชายหาดให้เห็นอีกต่อไป
นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า เรื่องท่าเรือน้ำลึกปากบารา และโรงไฟฟ้ากระบี่ ความจริงแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์เดียวกัน คือ ต้องการให้ภาคใต้เป็นศูนย์กลางพลังงานโลก ขณะที่ทั่วโลกพบว่า จังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศแคนาดา ประกาศว่าจะไม่ให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่เด็ดขาด ส่วนประเทศเยอรมนีประกาศว่าจะเป็นประเทศพลังงานหมุนเวียน เป็นประเทศแรกของโลก คือ จะไม่ใช้พลังงานจากถ่านหิน หรือพลังงานนิวเคลียร์เป็นประเทศแรกของโลก
“ทั้งโลกประกาศปิดหมดเลย แม้กระทั่งจีนประกาศทำโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อินเดียประกาศว่าจะสร้างพลังงานโซลาร์เซลล์ขนาด 1 แสนเมกะวัตต์ ประเทศไทยทั้งประเทศใช้ไฟฟ้าทั้งหมดประมาณ 2 หมื่นเมกะวัตต์ เพราะฉะนั้น ชัดเจนว่าทั่วโลกล้วนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งนั้น ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีงานวิจัยที่บอกว่า เด็กที่อยู่ในท้องเป็นโรคปัญญาอ่อนปีละ 3 แสนคน เพราะได้รับสารปรอทจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน รัฐบาลประกาศห้ามกินสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติใน 39 รัฐ พองานวิจัยออกมารัฐบาลสหรัฐฯ จึงประกาศปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมด 150 โรง และต้องทำให้เสร็จภายใน 7 ปี เพราะว่าควบคุมไม่อยู่แล้ว”
นายประสิทธิชัย กล่าวและว่า สำหรับในประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ในเมืองหลวงปักกิ่ง มีการประกาศห้ามไม่ให้ใช้โรงไฟฟ้าอีกเลย มีคำถามว่าเกิดโรงไฟฟ้าที่ จ.กระบี่ แล้ว จ.สตูล จะได้รับกระทบอย่างไร มีรายงานของสหรัฐอเมริกา พบว่า การกระจายตัวของฝุ่นควันถ่านหินสามารถกระจายไปได้ไกลถึง 3 พันไมล์ เพราะฉะนั้น หากเปรียบเทียบเมื่อเกิดไฟป่าในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ห่างจาก จ.สตูล ประมาณ 1,500 ไมล์ แต่ควันไฟป่ายังลอยมาถึง ฉะนั้น ควันจากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ก็จะกระจายมาถึง จ.สตูล และส่งผลกระทบอย่างหนักแน่นอน
ทั้งนี้ หลังจากการพบปะปราศรัยระหว่างเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กับภาคประชาชนใน จ.สตูล เสร็จสิ้นลง ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนใน จ.สตูล ได้รับมอบธงตราสัญลักษณ์ปกป้องอันดามันจากถ่านหิน อันเป็นสัญญาประชาคมร่วมกันว่าเครือข่ายภาคประชาชน จ.สตูล จะร่วมเดินทางไปชุมนุมใหญ่ไล่โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ในวันที่ 6 มิ.ย.นี้อย่างแน่นอน