xs
xsm
sm
md
lg

คณะจัดการทรัพยากรชายฝั่งหนุนเครือข่ายปกป้องอันดามันจี้รัฐบาลยกเลิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กระบี่ - คณะทำงานการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด หนุนแถลงการณ์เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ขอให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากถ่านหิน และขอให้จริงจังต่อการดำเนินการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะทำงานการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง 6 จังหวัดอันดามัน นำโดย นายอาเหร็ม พระคง ประธานคณะทำงานการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด นายอาหลี ชาญน้ำ นายกสมาคมคนรักเลจังหวัดกระบี่ และกลุ่ม SAVE กระบี่ ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ฉบับที่ 5 หลังปิดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้และพัฒนากลุ่มผู้แทนเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตามหลักการ ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 พื้นที่ชายฝั่งทะเล จัดขึ้นที่โรงแรมเวียงทอง อ.เมือง จ.กระบี่ วันที่ 30-31 พ.ค.ที่ผ่านมา

นางปิยะดา เด็นเก คณะทำงานการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง 6 จังหวัดอันดามัน อ่านแถลงการณ์ว่า จากนโยบายที่รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานได้ประกาศให้พื้นที่จังหวัดกระบี่ เป็นพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และได้เร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คณะทำงานจัดการทรัพยากรชายฝั่ง 6 จังหวัด อันดามัน ซึ่งเป็นชาวประมงพื้นบ้าน และภาคีเครือข่ายที่อาศัย และใช้ชีวิตบริเวณชายฝั่งอันดามัน ตระหนักดีถึงความอ่อนไหวของระบบนิเวศ หากมีปัจจัยคุกคามจากกิจการอุตสาหกรรมมลพิษ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งทั้งโลกได้มีบทสรุปแล้วว่า เป็นต้นเหตุแห่งหายนะด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของมนุษย์ที่ร้ายแรง

การที่รัฐบาลกำหนดให้จังหวัดกระบี่เป็นพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาดกำลังการผลิต 800 เมกะวัตน์ จึงเป็นการแสดงเจตนาโดยตรงที่จะทำลายฐานการผลิตอาหาร ฐานระบบนิเวศชายฝั่ง โดยเฉพาะระบบนิเวศปะการัง หญ้าทะเล รวมทั้งสัตว์ทะเลหายาก ได้แก่ พะยูน โลมา และเต่าทะเล ตลอดจนทำลายชีวิตการทำประมง และท่องเที่ยว ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ผู้ใช้อำนาจรัฐมิพึงกระทำต่อประชาชน คณะทำงานจัดการทรัพยากรชายฝั่ง 6 จังหวัดอันดามัน ขอให้รัฐบาลประกาศยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ทันที

โดยมีเหตุผลที่รัฐบาลต้องประกาศยกเลิก ดังนี้ คือ 1.ความรุนแรงของสารพิษในถ่านหินจากงานวิจัยหลายประเทศบ่งชี้ว่า เกิดผลกระทบรุนแรงเมื่อถูกปล่อยสู่บรรยากาศ จะสามารถแพร่กระจายไปได้ในรัศมี 15-30 ไมล์ 2.ฐานอาชีพของคนอันดามัน คือ การท่องเที่ยว และการเกษตรเป็นหลัก ซึ่งทั้ง 2 อาชีพ ล้วนเกี่ยวเนื่องต่อการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี หากพิจารณาตัวเลขด้านการท่องเที่ยว จากสำนักงานสถิติ จังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต และตรัง จะพบว่า ในปี 2555 มีรายได้จากการท่องเที่ยว 2.95 แสนล้าน และภาคการเกษตร 1.11 แสนล้าน และการท่องเที่ยวของฝั่งอันดามันส่วนใหญ่ คือ การท่องเที่ยวทางทะเล และชายหาด หากท้องทะเลถูกปกคลุมไปด้วยถ่านหิน ควันพิษ การท่องเที่ยวก็หายนะ ขณะเดียวกัน พื้นที่ทำประมงทั้งอันดามันก็จะเกิดหายนะตามมาอย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร รวมทั้งสัตว์ทะเลหายาก เช่น พะยูน โลมา และเต่าทะเล

ทางออกของความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ก็คือ การส่งเสริมผลิตพลังงานหมุนเวียน ซึ่งภาคใต้ยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกมาก และหากพิจารณาในระดับโลก พบว่า ตั้งแต่ปี 2556 ประเทศมหาอำนาจของโลกหลายประเทศ เช่น อเมริกา เยอรมนี จีน อินเดีย หันมาสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนกันอย่างจริงจัง ปัญหาของพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องของศักยภาพการผลิต แต่เป็นเรื่องของการผูกขาด และกฎหมายไม่เอื้ออำนวย

คณะทำงานการจัดการทรัพยากรชายฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด ขอประกาศให้รัฐบาลรักษาระบบนิเวศของทะเลอันดามัน และความมั่นคงทางด้านอาหาร ด้วยการพิจารณายกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ และขอให้จริงจังต่อการดำเนินการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งจะได้รับความร่วมมือจากภาคประชาสังคมของจังหวัดอันดามันในการร่วมขับเคลื่อนกับรัฐบาลให้อันดามันเป็นพื้นที่พลังงานสะอาดของโลกในอนาคตอันใกล้ และจะร่วมมือกับเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น