xs
xsm
sm
md
lg

“เครือข่ายปกป้องกระบี่ฯ” จรยุทธ์ในเมืองหลวง สร้างพลังหนุนปฏิรูป EHIA ยุติยุคถ่านหิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระบี่ - เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน ออกจรยุทธ์ในเมืองหลวง เดินรณรงค์หยุดถ่านหิน และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของประเทศไทยโดยทันที

โดยการเดินรณรงค์ในวันนี้ (3 มี.ค.) ตัวแทนเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน จะเข้าพบคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อหยิบยกความไม่ชอบธรรมของกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเทียบเรือคลองรั้ว จังหวัดกระบี่ ก่อนที่ คชก. จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ฉบับดังกล่าวในวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2558 นี้

 

 
การเดินรณรงค์เพื่อเข้าพบ คชก. ในวันนี้เป็นการเดินเท้าระยะทางกว่า 13 กิโลเมตร ไปยังหน่วยงานรัฐ และสถาบันอุดมศึกษาที่ คชก. แต่ละท่านสังกัดอยู่ โดยวันนี้วางแผนเข้าพบ คชก. ทั้งหมด 4 ท่าน และจะยื่นข้อเรียกร้องให้แก่ คชก. อีก 4 ท่านในวันที่ 5 มีนาคมที่จะถึงนี้ การเดินรณรงค์ในวันนี้เริ่มต้นที่กรมควบคุมมลพิษ ไปยังคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสิ้นสุดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
“ดุลพินิจ และความกล้าหาญทางจริยธรรมของ คชก. ทั้ง 8 ท่าน จะกำหนดอนาคตของกระบี่ว่าจะเป็นมรกตแห่งอันดามัน หรือตกอยู่ใต้เงามืดของถ่านหิน กระบวนการ EIA ของโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินที่คลองรั้วนี้ไร้ความชอบธรรมตั้งแต่ต้น นอกจากไม่คำนึงถึงข้อโต้เถียงของทุกฝ่าย ตลอดจนผลกระทบในด้านต่างๆ ที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงแล้ว ยังละเลยถึงความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ (Krabi river estuary) ในฐานะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ เป็นศูนย์กลางของความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นที่ทำมาหากิน การผลิตอาหาร และฐานทรัพยากรของชุมชนในพื้นที่ อีกทั้งเป็นฐานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ยั่งยืนที่ทำรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศอีกด้วย” นายสมนึก กรดเสือ ตัวแทนเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน กล่าว
 

 
โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว เป็นโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อขนถ่ายถ่านหินนำเข้าจากอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย หรือแอฟริกา มาเป็นเชื้อเพลิงในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังผลิตติดตั้ง 870 เมกะวัตต์ จุดของโครงการท่าเทียบเรือตั้งอยู่ ณ ตําบลตลิ่งชัน อําเภอคลองขนาน จังหวัดกระบี่ ในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่มีสถานะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ (Wetland of International Importance)

ช่วงปี 2557 ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในแต่ละครั้งสะท้อนชัดเจนถึงกระบวนการการจัดทำ (EHIA) ที่ล้มเหลว และขาดความชอบธรรม ยกตัวอย่างเช่น ในการรับฟังความคิดเห็นของและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2557 มีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน การข่มขู่ความปลอดภัยของแกนนำในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยต่อโครงการสร้างท่าเทียบเรือ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยการใช้ความรุนแรงทั้งทางวาจา และทางร่างกายในระหว่างการแสดงความคิดเห็น
 

 
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ประเทศไทยต้องเร่งปฏิรูประบบ (EHIA) ทั้งระบบอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอให้มีการกำกับดูแลจากหน่วยงานอิสระด้านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่แยกจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อให้กระบวนการจัดทำรายงาน (EHIA) เป็นไปตามหลักการทางวิชาการอย่างแท้จริง มีความยุติธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้

“ขณะเดียวกัน ผู้กำหนดนโยบายพลังงานระดับชาติต้องมีวิสัยทัศน์ และเจตจำนงทางการเมืองที่มุ่งมั่นต่อระบบพลังงานหมุนเวียนผสมผสาน และกระจายศูนย์ที่เป็นความมั่นคงด้านพลังงานที่แท้จริง มิใช่การเสพติด “ถ่านหิน” ซึ่งไม่มีอนาคตในสังคมที่ยั่งยืน และปลอดภัย ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องยุติยุคของถ่านหิน” นายธารา กล่าว
 

 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินประกอบด้วย 1.กลุ่มรักลันตา 2.กลุ่มพิทักษ์ปกาสัย 3.สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวลันตา 4.สมาคมผู้ประกอบการโรงแรมเกาะลันตา 5.มูลนิธิอันดามัน 6.ศูนย์สร้างเสริมจิตสานึกนิเวศวิทยา 7.กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 8.สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย 9.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพฒันาเอกชนภาคใต้ (กปอพช) 10.โครงการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารชายฝั่งภาคใต้ 11.กลุ่มรักตรังปกป้องตรัง 12.กลุ่มรักษ์อันดามัน 13.กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมปกาสัย จังหวัดกระบี่
 

 
14.กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดกระบี่ 15.เครือข่ายประมงพื้นบ้านจงัหวัดกระบี่ 16.องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน 17.เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านอ่าวพังงา อันดามัน 18.เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ 19.เครือข่ายติดตามผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตำบลเขาหินซ้อน 20.เครือข่ายถ่านหิน ประเทศไทย Thailand Coal Network 21.เครือข่ายถ่านหินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Southeast Asia Coal Network 22.มูลนิธินโยบายสุขภาวะ 23.เครือข่ายนักวิชาการ EIA EHIA Watch Thailand 24. สมาคมคนรักษ์เลกระบี่ 25.มูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้าไทย 26.กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านเกาะกลาง จ.กระบี่

โดยประชาชนทั่วไปสามารถร่วมส่งเสียงเพื่อแสดงพลังหยุดถ่านหินได้ที่ http://protectkrabi.org/apps/
 


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น