xs
xsm
sm
md
lg

คนกระบี่ต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน หวั่นเอื้อทุนพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กฟผ.ผวาขนกำลังทหาร-ตำรวจกว่า 300 นาย ปิดประตูเวที ค. 3 โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ขณะเครือข่ายคัดค้านออกแถลงการณ์ตั้งข้อสงสัย "สหรัฐ-ยุโรป-พม่า"ประกาศหยุดใช้ถ่านหิน ทำไมไทยเดินหน้าสร้าง ชี้แฝงนัยยะรับใช้ทุนพลังงาน ลั่นEHIAผ่านความเห็นชอบก็เดินหน้าค้านต่อ ข้องใจ"ประยุทธ์"การันตีถ่านหินสะอาด-ปลอดภัย แต่ไม่มีข้อสรุปทางวิชาการรองรับ ถามจะคืนความสุขให้คนไทยหรือกลุ่มทุน "กรีนพีซ"เตือนจับตาแก้ผังเมืองใหม่เป็นกรณีพิเศษบางจังหวัด เปลี่ยนสีให้สร้างโรงงานอุตสาหกรรมได้

เมื่อเวลา 13.30 น. วานนี้(12 ต.ค.)ที่ศาลาประชาคม อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังการผลิต 800 เมกะวัต เพื่อทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(Public Review)ครั้งที่ 3 (ค. 3) มีนายเผ่าพงษ์ เต็มสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ(ชพฟช.) บุคลากรกฟผ. และประชาชนเข้าร่วมกว่า 1,500 คน

โดยกฟผ.ได้นำคลิปวิดีโอที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พูดเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเด็นที่ว่ารัฐบาลสนับสนุนให้มีการก่อสร้าง มาเปิดให้ชาวบ้านที่ได้เข้าไปร่วมเวทีชมหลายสิบรอบ

ขณะที่กลุ่มชาวบ้านเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน และเครือข่ายปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำโลกประมาณ 500 คน ถือธงสีเขียวข้อความว่าปกป้องกระบี่จากถ่านหิน และมีรูปพะยูนติดอยู่บนธง รวมตัวนั่งปักหลักอยู่ด้านหน้าห้องประชุมด้วยความสงบ โดยมีตำรวจควบคุมฝูงชนภ.จว.กระบี่ ประมาณ 300 นาย ยืนตั้งแถวป้องกันไการก่อเหตุวุ่นวาย

จากนั้นกลุ่มชาวบ้านได้อ่านแถลงการณ์ สรุปว่าขณะนี้หลายประเทศกำลังยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมถึงพม่า โดยต่างมีแนวโน้มตรงกันในการประกาศหยุดใช้ถ่านหินผลิตกระแสไฟฟ้า และสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดประเทศไทยจึงประกาศสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายโรง รวมถึงที่จ.กระบี่ ทั้งที่สามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้ การสร้างโรงไฟฟ้าครั้งนี้จึงแฝงนัยยะของการรับใช้ทุนพลังงาน

โดยรัฐพยายามผลักดันสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ในภาคใต้ เนื่องจากกลุ่มทุนได้ทำสัมปทานเหมืองถ่านหินไว้แล้วในต่างประเทศ ทำให้ประชาชนต้องตกเป็นทาสการผูกขาดของกลุ่มทุนพลังงาน ต้องเป็นผู้รับกรรมจากผลกระทบที่ไม่อาจเยียวยาได้ การวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจ.กระบี่ เชื่อว่าประชาชนก็ต้องตกเป็นเหยื่อของกลุ่มทุนพลังงาน สิ่งที่เกิดขึ้นตามกระบวนการการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) เป็นเพียงการเล่นละครเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มทุนพลังงานเท่านั้น จึงไม่สามารถยอมรับได้

แถลงการณ์ระบุว่า กระบวนการ ค. 3 เป็นไปเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับกระทรวงพลังงานและกฟผ.ซึ่งไม่ตรงกับยุทธศาสตร์ของจังหวัด ที่ต้องการพลังงานสะอาด แม้ว่ากระบวนการ ค. 3 จะผ่านไปได้ แต่ชาวกระบี่ไม่อาจยอมรับให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน และจะร่วมกันปกป้องให้พ้นจากหายนะโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ถึงที่สุด หลังจากนั้นได้เดินออกจากที่จัดประชุม และไปเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อในตัวเมืองกระบี่

ทางด้านเวที ค. 3 นายเผ่าพงษ์ กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งที่ 3 เพื่อทบทวนร่างEHIAให้ครบถ้วนและสมบูรณ์มากที่สุด เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะเต็มที่

นายสมศักดิ์ นบนอบ ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มพิทักษ์ปกาสัย กล่าวว่า การเปิดเวทีของกฟผ. ยังคงนำกำลังทหาร ตำรวจ อาสาสมัคร และชุดควบคุมฝูงชนร่วม 1,000 นายมาควบคุมสถานการณ์ ซึ่งเป็นการใช้กำลังเกินความจำเป็น แม้จะอ้างว่าเพื่อรักษาความปลอดภัยก็ตามไม่สมควร เพราะเจ้าหน้าที่บางคนพกพาอาวุธสงครามเข้ามาในพื้นที่ชุมนุม

"แม้ว่าจะผ่านขบวนการ ค.3 ไปแล้ว พวกเราก็จะคัดค้านตามช่องทางที่มีอยู่ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นสิทธิของชาวบ้านที่พึงทำได้ และขอฝากไปยังกฟผ.อย่ายัดเยียดโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ชาวกระบี่ โดยการทำเวทีประชาพิจารณ์ เพราะที่ผ่านมากฟผ.หมกเม็ดข้อมูลมาตลอด และไม่เป็นไปตามกฎหมาย"

นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายกองค์การยริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)กระบี่ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากสวนทางกับวิสัยทัศน์ของจังหวัด ที่กำหนดไว้ว่า "กระบี่เมืองสีเขียว" ซึ่งกำหนดโดยทุกภาคส่วน กฟผ.หรือรัฐบาลควรจะฟังประชาชนด้วย เมื่อชาวบ้านไม่เอาก็อย่ายัดเยียดให้ เพราะเมื่อเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมน้ำที่สำคัญของจังหวัดและของโลก ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะถูกตัดออกจากบัญชีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดเวทีครั้งนี้กฟผ.ได้จัดแสดงการเลี้ยงปลาในตู้ที่มีถ่านหินวางอยู่ในน้ำ เพื่อโฆษณาให้เห็นว่าถ่านหินไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยชาวบ้านหลายรายระบุว่าชาวบ้านกังวลผลกระทบจากการเผาไหม้ถ่านหิน ไม่ใช่ถ่านหินที่เป็นก้อนปกติ รวมทั้งถ่านหินที่รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติขณะขนส่ง ขณะที่การแสดงความคิดเห็นจำกัดเวลาคนละ 3 นาที จากที่ก่อนหน้านี้เวทีค. 3 โครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว อ.เหนือคลอง เมื่อวันที่ 28 กันยายน ให้เวลาคนละ 5 นาที

ทั้งนี้ ผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกตถึงการจัดทำEHIA โดยเฉพาะการก่อมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ในรายงานระบุถึงสารพิษ 4 ชนิดที่ควบคุมได้ แต่ยังมีสารพิษอีกหลายชนิดที่ไม่พูดถึง และในทางวิชาการยังไม่มีวิธีใดที่ควบคุมได้ เช่น สารปรอท เป็นต้น

นายทวีเดช วงศ์ประดิษฐ์ ชาวบ้านที่ร่วมลงชื่อแสดงความคิดเห็น กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะจะมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง แต่ชาวบ้านกลับมีเวลาพูดจำกัดมาก ซึ่งหากกระบวนการตรงนี้ไม่น่าเชื่อถือ กระบวนการต่อไปและกระบวนการทั้งหมดที่กฟผ.ทำ จะน่าเชื่อถือได้อย่างไรในสายตาของชาวบ้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเคลื่อนไหวปกป้องกระบี่จากถ่านหิน มีเครือข่ายนักธุรกิจการท่องเที่ยว พ่อค้า ประชาชนให้การสนับสนุน ร่วมกับกลุ่มเครือข่ายชาวประมงได้รับผลกระทบจากถ่านหิน ร่วมกันเคลื่อนไหวรณรงค์ไม่ให้มีการก่อสร้าง และเรียกร้องให้ภาครัฐพัฒนาพื้นที่ตามศักยภาพของการเป็นเมืองท่องเที่ยว การเกษตร และการประมงแทน

ข่าวแจ้งว่า เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินและเครือข่ายปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ยังเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ใจความว่า จากการรับฟังรายการคืนความสุขเมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้ชาวกระบี่รู้สึกทุกข์ใจกับความคิดและความเข้าใจของพล.อ.ประยุทธ์ และนโยบายของรัฐบาล ต่อการผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจ.กระบี่ ที่ยังมีปัญหหลายด้าน

การทำรัฐประหารครั้งนี้อ้างว่าเป็นไปเพื่อความปรองดอง สมานฉันท์ และคืนความสุขให้กับประชาชน แต่ขณะนี้นโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล ทำให้มีข้อสงสัยว่าทำเพื่อประชาชนหรือเพื่อกลุ่มทุน ทั้งการประกาศเดินหน้าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน การผลักดันสัมปทานรอบ 21 การประกาศขึ้นราคาพลังงาน การปิดปากประชาชนที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมด้านพลังงาน ทั้งหมดนี้เป็นการคืนความสุขให้ประชาชนด้านพลังงานใช่หรือไม่

การพูดถึงถ่านหินว่าสะอาดและปลอดภัยของพล.อ.ประยุทธ์ ก่อให้เกิดข้อกังขาขึ้น เนื่องจากไม่มีข้อสรุปทางวิชาการใดมารองรับ การพูดเช่นนี้มีนัยยะเพื่อต้องการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน หรือเพื่อสนับสนุนกลุ่มทุนเหมืองถ่านหิน การสัมปทานรอบ 21 ที่ผลักดันโดยกระทรวงพลังงานนั้น ทำไมจึงไม่เปลี่ยนระบบให้ประเทศชาติได้รับประโยชน์สูงสุดก่อนการให้สัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียม ทั้งที่ประเทศรอบข้างได้เปลี่ยนระบบ เพื่อให้ประเทศได้อธิปไตยด้านพลังงานคืนมา สามารถจัดการปิโตรเลียมของตัวเองได้ แต่ประเทศไทยกลับดำเนินการตรงกันข้าม และนายกรัฐมนตรีก็ยังสนับสนุน จึงมีคำถามต่อพล.อ.ประยุทธ์ว่าดำเนินการเพื่อประโยชน์ของใคร

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 28 กันยายน ซึ่งมีการจัดเวที ค.3 โครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว อ.เหนือคลอง ยังเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า มีการใช้อำนาจปกป้องกลุ่มทุนพลังงาน ด้วยการใช้กำลังทหารจำนวนมาก ปกป้องกลุ่มทุนเพื่อให้การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในขั้นตอนการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ผ่านไปได้สะดวก ทั้งที่นานาประเทศมีทางออกความมั่นคงด้านพลังงานด้วยการใช้พลังงานสะอาด แต่ประเทศไทยกลับเลือกในสิ่งที่จะสร้างผลกระทบต่อมนุษยชาติ

ทั้งนี้ เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินและเครือข่ายปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ยังร่วมกันจุดเทียนแสดงสัญลักษณ์เป็นภาษาอังกฤษคำว่า NO COAL ที่หน้าศาลหลักเมืองกระบี่ เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 11 ตุลาคม เพื่อบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า วันนี้ไม่อาจพึ่งพาผู้ใช้อำนาจรัฐ ที่เลือกข้างอยู่กับกลุ่มทุนพลังงานเอาเปรียบประชาชน หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ ออกมาพูดถึงการผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่อีกด้วย

ด้านน.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้สัมภาษณ์"สำนักข่าวอิศรา"ว่าปัญหาขณะนี้ไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่ส่งผลถึงสุขภาพของคนในพื้นที่และใกล้เคียง เสียงประชาชนที่ดังขึ้นเพราะกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของกฟผ.เป็นการให้ข้อมูลด้านเดียว พูดถึงเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ สามารถจัดการได้ทุกอย่าง แต่ไม่อธิบายถึงผลกระทบที่ตามมา

"กฟผ.นำเสนอว่าจะไม่เห็นมลพิษเพราะจะดักจับได้หมด ซึ่งจริงๆแล้วไม่สามารถดักจับหมด ไม่ได้บอกว่าสารพิษก่อให้เกิดมะเร็งชนิดไหนบ้าง โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ คือ สารปรอท ที่ไม่มีมาตรการในการจัดการ มาตรการการตรวจสารปนเปื้อนก็ไม่มีอยู่ในEIA หรือ EHIA"

น.ส.จริยา กล่าวว่า ภาคใต้มีไฟฟ้าใช้เพียงพอ แต่ที่กฟผ.บอกไม่เพียงพอนั้น ไม่เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันยังมีความพยายามสร้างโรงไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคน โดยไม่พยายามใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานชีวมวล เป็นต้น ซึ่งจุดอ่อนของประเทศไทย คือ การมีนโยบายจากระดับบนว่าจะนำถ่านหินมาใช้ แต่ข้อเท็จจริงจะต้องสำรวจในแต่ละจังหวัด ว่ามีพลังงานอื่นทดแทนได้หรือไม่ กรณีของจ.กระบี่ มีข้อมูลจากการสำรวจระบุอย่างชัดเจนว่าสามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ได้ภายในเวลา 2 ปี แต่ไม่มีหน่วยงานไหนดำเนินการ

"สิ่งที่ต้องจับตา คือ เร็วๆนี้จะมีการทำผังเมืองใหม่บางจังหวัดเป็นกรณีพิเศษ มีทีมระดับนโยบายลงไปทำงานกับผังเมืองจังหวัด และเปลี่ยนสีผังเมืองของจังหวัดนั้นให้เป็นสีที่จะใช้ก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมได้".
กำลังโหลดความคิดเห็น