xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ยังผวาจัดกำลังทหาร-ตำรวจคุมเข้มเวทีฟังความเห็นสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กฟผ.ยังผวาไม่เลิก กลัวถูกล้มเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสีย โครงการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ครั้งที่ 3 (ค.3) ขนทหาร-ตำรวจควบคุมฝูงชน พร้อมอาวุธ รปภ.เข้ม ขณะที่ชาวบ้านกลุ่มปกป้องกระบี่จากถ่านหิน ปักหลักหน้าห้องประชุม



เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (12 ต.ค.) นายสมควร ขันเงิน ปลัดจังหวัดกระบี่ เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Review) ครั้งที่ 3 (ค.3) โครงการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ขนาดกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ จัดขึ้น ณ ศาลาประชาคม อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ โดยมี นายเผ่าพงษ์ เต็มสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ (ชพฟช.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนเข้าร่วมกว่า 1,500 คน

ต่อมา ได้มีกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงไฟฟ้ากระบี่ ประมาณ 500 คน รวมตัวกันเดินทางเข้ามาที่บริเวณหน้าห้องประชุม พร้อมถือธงสีเขียวมีข้อความ ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน และมีรูปปลาพะยูนติดอยู่บนธงด้วย พร้อมกับนั่งปักหลักอยู่ด้านหน้าห้องประชุมด้วยความสงบ โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยควบคุมฝูงชน ภ.จว.กระบี่ ประมาณ 300 นาย พร้อมโล่ กระบอง ครบมือ ยืนตั้งแถวกันไม่ให้กลุ่มชาวบ้านเข้าไปก่อกวนภายในห้องประชุม โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ทหารคอยสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ

จากนั้น กลุ่มชาวบ้านที่ใช้ชื่อว่า กลุ่มปกป้องกระบี่จากถ่านหิน ก็ได้อ่านแถลงการณ์โดยมีใจความบางส่วนว่า ขณะนี้หลายประเทศในโลกกำลังยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในยุโรป รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศพม่า ซึ่งทั่วโลกมีแนวโน้มที่ตรงกันในการประกาศหยุดใช้ถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้า และสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เหตุใดประเทศไทยจึงประกาศสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายโรงในประเทศ รวมถึงจังหวัดกระบี่ ทั้งที่สามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้ การสร้างโรงไฟฟ้าครั้งนี้จึงแฝงนัยของการรับใช้ทุนพลังงาน

รัฐพยายามเร่งผลักดันสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากมีกลุ่มทุนได้ทำการสัมปทานเหมืองถ่านหินไว้แล้วในต่างประเทศ ประชาชนต้องตกเป็นทาสของการผูกขาดของกลุ่มทุนพลังงาน และต้องเป็นผู้รับกรรมจากผลกระทบที่ไม่อาจเยียวยาได้ การวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดกระบี่ เชื่อว่าประชาชนก็ต้องตกเป็นเหยื่อของกลุ่มทุนพลังงาน และสิ่งที่เกิดขึ้นตามกระบวนการ EIA เป็นเพียงการเล่นละครเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่กลุ่มทุนพลังงานเท่านั้น พวกเราจึงไม่สามารถยอมรับกระบวนการดังกล่าวได้

กระบวนการ ค.3 จึงเป็นไปเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่ตรงกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดกระบี่ ที่ต้องการพลังงานสะอาด แม้ว่ากระบวนการ ค.3 จะผ่านไปได้ แต่ชาวกระบี่ไม่อาจยอมรับให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ของจังหวัดกระบี่ได้ และจะร่วมกันปกป้องให้พ้นจากหายนะโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ถึงที่สุด หลังจากนั้นทางกลุ่มก็ได้สลายตัวไป

นายเผ่าพงษ์ เต็มสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ กล่าวว่า การจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (Public Review) ครั้งที่ 3 (ค.3) ของโครงการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ เพื่อเป็นการทบทวนร่างรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการฯ ให้ครบถ้วน และสมบูรณ์มากที่สุด โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้การรับฟังความคิดเห็นและการทบทวนร่างรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพครบถ้วนมากที่สุด

ด้านนายสมศักดิ์ นบนอบ ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มพิทักษ์ปกาสัย กล่าวว่า การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของ กฟผ.ในครั้งนี้ ยังคงนำกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ อาสาสมัคร และชุดควบคุมฝูงชนร่วม 1,000 นาย มาควบคุมสถานการณ์ภายในเวที ค.3 ซึ่งเป็นการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เกินความจำเป็น ถึงแม้จะอ้างว่าการนำกำลังมาในครั้งนี้เพียงเพื่อรักษาความปลอดภัย และดูแลความสงบในพื้นที่ประชุมก็ตามไม่สมควร เพราะมีเจ้าหน้าที่บางคนติดอาวุธ พกพาอาวุธสงครามเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม

สำหรับจุดยืนของกลุ่มจะไม่หยุดนิ่ง ถึงแม้ว่าจะผ่านกระบวนการ ค.3 ไปแล้วก็ตาม โดยจะคัดค้านตามช่องทางที่มีอยู่ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นสิทธิของชาวบ้านที่พึงทำได้ และขอฝากไปยัง กฟผ.อย่ายัดเยียดโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ชาวกระบี่ โดยการทำเวทีประชาพิจารณ์ เพราะที่ผ่านมา กฟผ.หมกเม็ดข้อมูลมาตลอด และไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย

นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายก อบจ.กระบี่ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยต่อการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากสวนทางกับวิสัยทัศน์ของจังหวัด ที่กำหนดไว้ว่า “กระบี่เมืองสีเขียว” ซึ่งเป็นการกำหนดโดยทุกภาคส่วนของจังหวัด ซึ่งทาง กฟผ. หรือรัฐบาลควรจะฟังประชาชนในพื้นที่ด้วยในเมื่อชาวบ้านไม่เอาก็อย่ามายัดเยียดให้ และนอกจากนี้ จังหวัดกระบี่ก็ยังเชื่อว่าเมื่อเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมน้ำที่สำคัญของจังหวัดกระบี่ และของโลก ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะถูกตัดออกจากพื้นที่ชุ่มน้ำโลกหากว่าเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นที่กระบี่

กำลังโหลดความคิดเห็น