ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กฟผ.ระดมกำลังทั้งทหาร ตำรวจ และ อส.กว่า 700 นาย คุมเวที ค.3 โครงการท่าเทียบเรือถ่านหิน จ.กระบี่ หวั่นถูกกลุ่มต้านล้มเหมือน 2 ครั้งที่ผ่านมา พร้อมขนบุคลากร และฝ่ายหนุนกว่า 1,500 คนเข้าร่วมพิธีกรรมปิดประตูตีแมว ด้านเครือข่ายคัดค้านได้แค่แสดงอารยะขัดขืนนั่งชูสัญลักษณ์กลางแดด ประกาศย้ำเจตนารมณ์เดิมปกป้องกระบี่จากถ่านหินจนสุดชีวิต
เมื่อเวลา 13.30 น. วันนี้ (28 ก.ย.) นายกริช รังสิเสนา ณ อยุธยา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Public Review) ครั้งที่ 3 หรือเวที ค.3 โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว จ.กระบี่ ณ ศาลาประชาคม อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ โดยมี นายเผ่าพงษ์ เต็มสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ (ชพฟช.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนเข้าร่วมเวทีกว่า 1,500 คน
นายเผ่าพงษ์ เต็มสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ กล่าวว่า การจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (Public Review) ครั้งที่ 3 (ค.3) ของโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วในครั้งนี้ เป็นการทบทวนร่างรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วให้ครบถ้วน และสมบูรณ์มากที่สุด โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสีย ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้การรับฟังความคิดเห็น และการทบทวนร่างรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพครบถ้วนมากที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศการจัดเวที ค.3 ได้มีการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งทหาร ตำรวจท้องที่ ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน และอาสาสมัครกว่า 700 นาย พร้อมอาวุธครบมือ วางกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณโดยรอบสถานที่จัดการประชุมอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งนำเครื่องสแกนวัตถุระเบิดมาทำการตรวจค้นสัมภาระของผู้เข้าร่วมประชุมอย่างเข้มงวด ขณะที่บริเวณทางเข้าห้องประชุมมีการติดป้ายห้ามไม่ให้มีการชูป้าย หรือพกพาอาวุธเข้ามาในที่ประชุมโดยเด็ดขาด
ขณะที่ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่นอกเหนือจากชาวบ้านจำนวนหนึ่งซึ่งสนับสนุนโครงการแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ และบุคลากรของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.เข้าร่วมเวทีด้วยจำนวนมาก ส่วนชาวบ้านเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน และเครือข่ายปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ซึ่งไม่เห็นด้วยต่อโครงการนี้ได้เดินทางมาร่วมที่เวทีจำนวนประมาณ 700 คน แต่ไม่สามารถเข้าถึงบริเวณที่ประชุมได้ เนื่องจากไม่มีพื้นที่ว่างในห้องประชุม
ชาวบ้านจึงใช้วิธีการอารยะขัดขืนด้วยการนั่งรวมตัวกันบริเวณปากทางเข้าเวที พร้อมถือป้ายสัญลักษณ์ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และใช้ผ้าสีขาว ซึ่งมีเครื่องหมายกากบาทปิดปาก เพื่อคัดค้านการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ค.3 ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนตั้งแถวกันไม่ให้ชาวบ้านบุกเข้าไปล้มเวที เหมือนกับการทำเวที ค.1 และ ค.2 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การแสดงออกของชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นไปอย่างสงบ
ส่วนภายในห้องประชุมมีการนำเสนอวิดีทัศน์เนื้อหาเกี่ยวกับข้อดีของโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินคลองรั้ว หลังจากนั้นจึงเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น โดยผู้แสดงความคิดเห็นจะต้องแจ้งรายชื่อล่วงหน้า ผู้ใดไม่ได้แจ้งรายชื่อจะไม่อนุญาตให้แสดงความคิดเห็น
ด้านนายพิบูลย์ สาระวารี ตัวแทนชาวบ้าน ที่คัดค้านโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว กล่าวว่า การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ของ กฟผ.ในครั้งนี้ ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ อาสาสมัคร และชุดควบคุมฝูงชน ร่วม 700 นาย มาควบคุมสถานการณ์ภายในเวที ค.3 และมีการตั้งด่านตรวจตามจุดต่างอีกหลายจุด และเปิดให้ประชาชนเข้าออกเพียงทางเดียว ซึ่งไม่เคยมีในประเทศนี้
“ดูแล้วคล้ายกับประเทศที่มีการทำสงคราม หรือการยึดอำนาจ และไม่ยอมให้กลุ่มชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยเข้าไปในเวทีเพื่อได้แสดงความคิดเห็น โดยให้ชาวบ้านที่เป็นคนของการไฟฟ้าเท่านั้นได้เข้าไปนั่งฟัง ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างเห็นได้ชัด” นายพิบูลย์ กล่าว
ด้านนายดนัย มาศโอสถ ตัวแทนชาวบ้านบ้านแหลมหิน ต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นภายใต้สิทธิตามกฎหมายของประชาชนเพื่อคัดค้านถ่านหินภายใต้การดำเนินงานของ กฟผ.ถูกเพิกเฉยมาโดยตลอด ชาวบ้านยืนยันอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ต้นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ วันนี้มีกระบวนการใช้กำลังผสม ทหาร ตำรวจ อปพร. เพื่อกำกับเวที ค.3 ให้เป็นไปตามที่ กฟผ.ต้องการ ซึ่งประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิการแสดงความเห็นได้ตามกฎหมาย อีกทั้งมีการกะเกณฑ์ประชาชนมาเพื่อการสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อยั่วยุให้เกิดความรุนแรงต่อกัน
“ลักษณะดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อตอบโจทย์การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน แต่เป็นการใช้อำนาจเพื่อให้ได้มาซึ่งสัดส่วนครอบครองโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง พวกเราจึงมานั่งปิดปากแสดงอารยะขัดขืนต่อกลไกอันไม่ชอบธรรมเพื่อสะท้อนให้เห็นว่า เราต้องการพื้นที่อันปลอดภัยต่อชีวิต สิ่งแวดล้อม และมูลค่าทางเศรษฐกิจของจังหวัดกระบี่ ทั้งนี้ เสียงของประชาชนที่ใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อปกป้องจังหวัดกระบี่ไม่มีใครฟัง แต่กลับเดินหน้าเร่งจัดเวที ค.3ให้เสร็จ สิ่งเหล่านี้คือความไม่ชอบธรรมที่ปิดปากประชาชน และละเมิดสิทธิของประชาชน” นายดนัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาทางกลุ่มคัดค้านได้อ่านแถลงการณ์เพื่อยืนยันไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และไม่เห็นด้วยต่อการนำกำลังผสม ทหาร ตำรวจ และ อส.ตร มากำกับเวทีให้เป็นไปตามที่ กฟผ.ต้องการ ทำให้ประชาชนไม่สามรถใช้สิทธิการแสดงความเห็นได้ตามกฎหมาย และมีการเกณฑ์ชาวบ้านเพื่อมาสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ลักษณะดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจให้ได้มาซึ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ.
โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า กระบวนการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบของโครงการ มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญหลายประเด็น ตั้งแต่ กฟผ.ระบุในเอกสารและนำเสนอในเวที ค.1 ต่อประชาชนว่าจะดำเนินการศึกษา และจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการท่าเทียบเรือถ่านหินกระบี่แต่ใน ค.3 กลับเป็นรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างเดียว
อีกทั้งได้เปลี่ยนแปลงขนาดเรือขนส่งถ่านหินจาก 3,000 เดทเวทตัน เป็น 10,000 เดทเวทตัน ซึ่งความสำคัญของตัวเลขเหล่านี้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง การบิดเบือนข้อมูลตั้งแต่ต้นทำให้เห็นการขาดธรรมาภิบาลของ กฟผ.ต่อโครงการฯ นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากอ่านแถลงการณ์เสร็จแล้วชาวบ้านเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน และเครือข่ายปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ได้ทยอยเดินทางออกจากที่ว่าการอำเภอเหนือคลอง เพื่อแยกย้ายกันกลับบ้าน ขณะที่การประชุมเวที ค.3 เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้นเหมือนการประชุมที่ผ่านมา 2 ครั้งก่อนหน้านี้