xs
xsm
sm
md
lg

พ้อโดนข้อหาลำเอียง พุทธะอิสระอ่วม โพสต์ยันทำประโยชน์เพื่อชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลวงปู่พุทธะอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก ยันรับเป็นผู้ดำเนินการเสวนาปฏิรูปพลังงาน เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ แต่ผิดหวังที่ผู้ที่เข้าร่วม ไม่ถามในสิ่งที่เป็นประโยชน์ มุ่งแต่เอาชนะคะคานกัน ด้าน "ศิริชัย ไม้งาม"ประธานสหภาพแรงงานกฟผ. ร่อนจดหมายเปิดผนึก ยันไม่เกี่ยวแถลงการณ์หนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ระบุถูกอ้างชื่อ ยันเจตนารมย์ร่วมต่อสู่กับประชาชน ด้านชาวบ้านอ.เหนือคลอง ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง กรณี"อีเอชไอเอ"ท่าเทียบเรือถ่านหิน ไม่เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเสวนาถาม-ตอบปฎิรูปพลังงานเพื่อทิศทางของประเทศ ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี โดยมีหลวงปู่พุทธะอิสระ แห่งวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม เป็นผู้ดำเนินรายการ มีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย ตัวแทนภาคประชาชน นำโดย นางสาวรสนา โตสิตระกูล, นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, นายวีระ สมความคิด ซักถามตัวแทนจาก ปตท. ทั้ง นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ประธานกรรมการบริษัท ปตท., นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้บริหาร ปตท. นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ หลังจบงานเสวนา หลวงปู่พุทธะอิสระ ได้กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับการเสวนา เพราะมีการพูดนอกประเด็นถามคนละเรื่องกับที่ส่งคำถามมา แต่ถือว่ายังไม่ล้มเหลว เพราะยังมีประเด็นที่สองฝ่ายพยายามชี้แจง และมีข้อมูลที่ดี แต่ผิดหวังฝ่ายที่ควรตั้งคำถาม เพราะถามได้ไม่ดี จนตนต้องมาตั้งตำถามเอง

ล่าสุดหลวงปู่ฯก็ได้โพสต์แสดงความเห็นเพิ่มเติม ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวานนี้ (25 ก.ย.) มีใจความดังนี้

ทำไมไม่ถาม ทำไมถึงถาม

ช่างน่าชื่นชมนัก กับบรรดานักสู้เพื่อพลังงานทุกท่าน ที่เสียสละเวลาและความสุขอุทิศให้แก่ชาติประชาชน มาช่วยกันตั้งประเด็นคำถาม เพื่อค้นหาคำตอบ แม้จะไม่ค่อยตรงใจฉันนัก ผิดหวังบ้าง แต่ก็ยังเป็นต้นแบบของผู้เสียสละ ทำเพื่อชาติประชาชน เป็นตัวอย่างที่คนรุ่นหลังจะได้เดินตาม เป็นความงดงามของสังคมไทย

ที่ฉันกล่าวว่า รู้สึกผิดหวังบ้างนั้น เพราะฉันหวังเอาไว้ก่อนออกจากวัด หวังเอาไว้ตอนรับปากว่าจะเป็นประธานในการถามตอบปัญหาพลังงาน ด้วยมุ่งหวังที่จะหาทิศทางพลังงานของชาติอย่างยั่งยืน เอาไว้ให้เป็นมรดกตกทอดแก่ลูกหลานชั้นหลังๆ แต่แล้วคำถามที่พรั่งพรูออกมาจากปากบรรดานักสู้ทั้งหลาย กลับไม่ตรงใจฉันเลย จะมีก็แต่คำถามของ คุณปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และ คุณรุ่งชัย จันทสิงห์ ที่พอจะพึ่งพาอาศัยได้ในอนาคต ฉันล่ะแปลกใจนักว่า

ผู้ถามทำไมไม่ถามว่า - เมื่อรัฐบาลมีนโยบายจะลอยตัวน้ำมันและก๊าซให้เป็นไปตามกลไกตลาด แล้วภาครัฐ จะมีการเยียวยาผู้มีรายได้น้อยอย่างไร ทำไมไม่ถาม

ทำไมไม่ถามว่า - ก๊าซ LPG และก๊าซ NGV เมื่อภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้ ทั้งที่รู้อยู่ว่าพลังงานฟอสซิลภายในประเทศมันจะหมดลงไม่อีกกี่ปีข้างหน้า รัฐควรจะบังคับให้ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ควักกระเป๋าจ่ายเงินอุดหนุนวิจัยค้นหาพลังงานทดแทน เพื่อลูกหลานไทยในอนาคตจะได้มีพลังงานใช้ได้อย่างยั่งยืน ทำไมไม่ถาม

ทำไมไม่ถามว่า - รัฐได้มีการลงทุนค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ มาทดแทนพลังงานภายในประเทศที่กำลังจะหมดไปหรือไม่ เพื่อเป็นรากฐานพลังงานของประเทศอย่างยั่งยืน ทำไมไม่ถาม

ทำไมไม่ถามว่า - รัฐเมื่อรู้ว่าพลังงานฟอสซิลภายในประเทศกำลังจะหมด รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการศึกษาค้นคว้าพลังงานใหม่ๆ มาทดแทน เป็นพลังงานทางเลือกอย่างยั่งยืน เพื่ออนาคตของลูกหลานหรือไม่ ทำไมไม่ถาม

ทำไมไม่ถามว่า -อุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ประโยชน์อย่างมหาศาลกับทรัพยากรใต้พื้นแผ่นดินไทย ควรจะต้องคืนผลประโยชน์ให้แก่แผ่นดินนี้ปีละเท่าไร อันนี้ต้องไม่เกี่ยวกับเงินภาษี เงินค่าสัมปทาน เงินส่วนแบ่ง แต่เป็นเงินกำไรล้วนๆ ที่ได้จากแผ่นดินที่บรรพบุรุษไทยปกป้องรักษาไว้ด้วยเลือดเนื้อ เพื่อส่งมอบต่อพวกเราลูกไทยหลายไทยทุกคน มิใช่ให้แก่บริษัทปิโตรเคมีใดๆ ทำไมไม่ถาม

ทำไมไม่ถามว่า -รัฐโดยกระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งประเทศไทย มีนโยบายเพื่อพลังงานของชาติอย่างไรบ้าง ทำไมไม่ถาม

ทำไมไม่ถามว่า -รัฐมีนโยบายปรับขึ้นราคาพลังงานแต่ละชนิดมีต้นทุนการผลิตจากต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และบวกค่าการตลาด บวกภาษีแล้ว เป็นเท่าไร ทำไมไม่ถาม

อาจจะมีคำถามที่เป็นประโยชน์ สามารถชี้นำทิศทางพลังงานของประเทศได้ในอนาคต น่าจะยังมีอีกมากมาย ตอนนี้ฉันยังคิดไม่ออก ใครคิดออกช่วยบอกด้วย และฉันเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า ฉันมีหลักคิดเสมอทุกครั้งที่เคลื่อนไหว หรือจะทำอะไร ว่าชาติประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุดอย่างไร ประโยชน์นั้นมีความยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน เมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์แท้จริงแล้ว ฉันจะไม่ลังเลที่จะทำ คิด พูด แต่หากไม่เกิดประโยชน์ต่อชาติประชาชนอย่างสูงสุด ฉันจะไม่ยอมเสียเวลาเด็ดขาด เพราะฉันถูกสอนมาแต่เด็กว่า สิ่งที่มีคุณค่าที่สุด คือ อย่าปล่อยให้เวลาสูญเสียไปโดยไร้ประโยชน์ นี่แหละคือสิ่งที่ทำไมฉันจึงถาม

ฉันสู้อุตส่าห์ยอมรับเป็นผู้ดำเนินรายการควบคุมเวทีเสวนา ชี้ทิศทางพลังงานประเทศไทย ด้วยหัวใจที่พองโต เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังว่า เป็นการดียิ่งที่ได้มีโอกาสทำงานเพื่อชาติเพื่อประชาชน โดยหวังว่าการจัดเสวนาในครั้งนี้

จะนำมาซึ่งพลังงานราคาถูกให้แก่คนทั้งแผ่นดิน
จะนำมาซึ่งทิศทางพลังงานของประเทศไทยที่ยั่งยืน
จะนำมาซึ่งความรู้ความเข้าใจถึงปริมาณพลังงานที่มีอยู่ในแผ่นดินไทยอย่างแท้จริง
จะนำมาซึ่งการลดความสูญเสียงบประมาณและพลังงานอย่างพร่ำเพรื่อ ซ้ำซ้อน
จะนำมาซึ่งการสงวนพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัด เอาไว้เป็นมรดกแก่ลูกหลานไทยในอนาคต

และสุดท้ายต้องการกระตุ้นเตือนให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้องมีส่วนรับผิดชอบค้นคว้าแสวงหาพลังงานทางเลือก เพื่อให้เป็นทางรอดของลูกไทยหลานไทยในอนาคต

ฉันจัดเวทีเสวนา มิได้ต้องการให้ใครมาใช้เวทีนี้เพื่อหาคนผิด ใครจะผิดใครจะถูก หากมีหลักฐาน ควรต้องไปว่ากันในชั้นศาลสถิตยุติธรรม อย่ามาใช้เวทีสาธารณะที่ฉันสู้อุตส่าห์จัดขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะ มาแสดงความรู้ความสามรถในการซักฟอก อภิปราย อวดภูมิ ให้ดูดี โดยชาติประชาชนแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไร หรืออาจจะได้ สำหรับฉันแล้วมันไม่คุ้มกับเวลาที่เสียไป ฉันคิดว่าประชาชนคนที่สู้อุตส่าห์เดินทางมาจากบ้านอย่างยากลำบาก เขาต้องการรับฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ ให้เกิดขึ้นแก่ชาติบ้านเมือง และหากเป็นผู้ไม่มีอคติในใจ ไม่ตั้งธงเอาไว้ว่าใครผิดใครถูก และพร้อมรับฟังทั้งสองฝ่าย เขาควรจะได้อะไรมากกว่าการมานั่งฟังคนทะเลาะกัน

หากฉันทำผิดอะไร ทำให้ใครไม่สบายใจ ฉันก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย แต่ฉันมั่นใจว่า ชั่วชีวิตฉันไม่เคยทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์แน่นอน

*** ศิริชัย ยันไม่เกี่ยวแถลงการณ์หนุนโรงไฟฟ้า

กรณีที่มีแถลงการณ์สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ลงนามโดยนายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. สนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจ.กระบี่ พร้อมเชิญชวนให้สมาชิกสหภาพร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น หรือเวที ค.3 วันที่ 28 กันยายนนี้ ที่อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ เผยแพร่ทางโซเชียล เน็ตเวิร์ค จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงจุดยืนของนายศิริชัยนั้น

วานนี้(25 ก.ย.) นายศิริชัยให้สัมภาษณ์ว่า เพิ่งเดินทางกลับจากประทศเกาหลีใต้เมื่อคืนที่ผ่านมา(24 ก.ย.) แต่ก่อนจะเดินทางกลับ ลูกสาวได้ส่งแถลงการณ์ให้ดู เมื่อได้อ่านก็รู้สึกตกใจเช่นกัน ที่มีเรื่องแบบนั้นเกิดขึ้น ขอยืนยันว่าตนไม่ได้เป็นผู้ร่างแถลงการณ์ และไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาแต่อย่างใด ซึ่งได้สอบถามคนในสหภาพแล้ว ได้รับคำตอบว่าคณะกรรมการทำหนังสือกันเอง และสแกนชื่อพร้อมลายเซ็นของตนใส่ลงไป เมื่อรุ่งเช้าเขาก็โทรศัพท์มาขอโทษตนแล้ว อย่างไรก็ตามในฐานะเป็นประธานต้องแสดงความรับผิดชอบ

"ยืนยันว่าผมไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับเนื้อหาในแถลงการณ์ โดยเฉพาะการที่จะนำมวลชนไปชนกันที่จ.กระบี่ มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น ซึ่งผมจะรีบออกแถลงการณ์ชี้แจงและขอโทษประชาชน รวมทั้งท่าทีต่อโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจ.กระบี่ เพื่อความกระจ่างแจ้งโดยเร็วที่สุด"

ต่อมา นายศิริชัยทำจดหมายเปิดผนึกชี้แจงข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 20 กันยายน ได้เดินทางไปประชุมเครือข่ายสหภาพแรงงานการไฟฟ้าเอเชีย-แปซิฟิก ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และกลับถึงประเทศไทยไทยเมื่อเช้าที่ผ่านมา(25 ก.ย.) จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการออกแถลงการณ์ดังกล่าว โดยยืนยันว่ามีความมุ่งมั่นที่จะสร้างจิตสำนึกให้สมาชิกสร.กฟผ.ร่วมต่อสู่กับประชาชน

นายเปล่งยศ สกลกิติวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจในกระบี่ กำลังปรับตัวเข้าสู่แผนยุทธศาสตร์กระบี่ โก กรีน : Krabi go green ที่ภาคเอกชน 10 องค์กรร่วมกันลงนามจะปฏิบัติตามยุทธศาสตร์นี้ เพื่อให้เมืองท่องเที่ยวปลอดจากมลพิษ ที่จะมาทำลายสภาพแวดล้อมแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของจ.กระบี่ ตอนนี้สถานประกอบการหลายแห่ง เริ่มเปลี่ยนมาใช้หลอดแอลอีดีประหยัดไฟฟ้า โดยที่โรงแรมอ่าวนาง วิลล่า รีสอร์ท ของตนมีห้องพัก 156 ห้อง เปลี่ยนมาใช้หลอดประหยัดทั้งหมด เพราะการใช้พลังงานสะอาด จะช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่กระบี่ตราบจนชั่วลูกชั่วหลาน

"ชาวกระบี่เห็นแล้วว่าการท่องเที่ยว การเกษตร และการประมง คือ สิ่งที่เลี้ยงดูให้อยู่ดีกินดีจนถึงวันนี้ ชาวกระบี่จึงต้องการรักษาศักยภาพเหล่านี้ไว้ เพื่อส่งมอบต่อให้ลูกหลาน แต่ภาครัฐยังพยายามนำอุตสาหกรรมก่อมลพิษมาให้ ควรถามคนกระบี่ทั้งจังหวัดว่าต้องการหรือไม่ เหตุใดทะเลอันดามันต้องปลอดจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและอุตสาหกรรมหนักทุกรูปแบบไ

ด้านนพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากมุมมองของคนในกฟผ. ที่มองในมุมของผู้ผลิตเพียงด้านเดียว แต่กฟผ.ควรเข้าใจความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่ก่อนตัดสินใจเดินหน้าโครงการ เพราะผลที่ได้อาจไม่คุ้มกับที่เสียไป เนื่องจากขณะนี้ชาวกระบี่รวมตัวกันอย่างเป็นเอกภาพ ทุกคนมีแนวทางและยุทธศาสตร์ชัดเจน ว่าจะมุ่งไปในทางเกษตรกรรม การท่องเที่ยว และการประมงเพื่อความยั่งยืน

"กฟผ.คิดสั้น หากคิดจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่อันดามัน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ ธรรมชาติของกระบี่ทุกวันนี้มีความบริสุทธิ์ ดึงดูดให้คนมาเที่ยว สร้างรายได้เข้ามาประเทศ และให้กับคนในชุมชน จึงขอชมเชยที่ชาวกระบี่ร่วมกันแสดงออกอย่างมีเอกภาพ ผมเห็นด้วยต่อข้อเสนอของประธานหอการค้าจังหวัดกระบี่ ที่ควรสอบถามประชาชนทั้งจังหวัด ไม่ใช่จัดทำประชาพิจารณ์แค่ในรัศมี 5 กิโลเมตร เช่น กรณีท่าเรือถ่านหินคลองรั้ว ทั้งที่โครงการนี้ส่งผลกระทบต่อคนกระบี่ทั้งจังหวัด

ด้านน.ส.สมฤดี ปานศุทธะ ผู้ประสานงานกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า วันที่ 26 กันยายน เวลา 11.00 น. กรีนพีซ พร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้านอ.เหนือคลอง จ.กระบี่ จะยื่นฟ้องคดีกฟผ.ในกระบวนการการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ) โครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว ต่อศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ

โดยท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว ต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง ของกฟผ.เพื่อขนถ่ายถ่านหินนำเข้าจากอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย หรือแอฟริกา มาเป็นเป็นเชื้อเพลิงใโรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังผลิต 870 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นและผู้มีส่วนได้เสียครั้งที่ 3 วันที่ 28 กันยายนนี้ ที่ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ โดยพบว่ากระบวนการจัดทำอีเอชไอเอ 2 ครั้งที่ผ่านมาไม่ชอบด้วยกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น