xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจพลังงานมีผูกขาด ห่วงแยกท่อก๊าซรัฐเสียเปรียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“มาร์ค” ยอมรับปัญหาผูกขาดธุรกิจพลังงานมีจริง อ้างเป็นธรรมชาติของสาธารณูปโภค ห่วงแยกบริษัทท่อก๊าซทำคลังต้องซื้อหุ้นในราคาไม่เป็นธรรม ชี้สภาวะ “ค้างคาว” ทำ ปตท.ได้เปรียบ แต่เอื้อผู้ถือหุ้นมากกว่าภาครัฐ หนุนเดินหน้าปฏิรูปด่วน ขาหุ้นฯถือฤกษ์ "9:9:9-วันรับเปรต" เดินเข้าชุมพร ด้าน “หลวงปู่พุทธะอิสระ” นำทีมหวังเดินหน้าปฏิรูป เปิดเวทีเสวนาถาม-ตอบพลังงานรอบที่ 2 วันที่ 24 ก.ย.นี้ที่สโมสรทหารบก ภาค ปชช.เตรียมประเด็นเพียบ จี้กำหนดเป้าหมายผลิตไฟจากพลังงานหมุนเวียนให้ชัด

วานนี้ (9 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์ด้านพลังงานในประเทศไทยว่า ต้องยอมรับว่าปัญหาการผูกขาดธุรกิจจะมีอยู่ในบางส่วน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องพลังงาน แต่อะไรที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค ที่ต้องมีการผลิต แปรรูป และขนส่ง จะมีการผูกขาดโดยธรรมชาติ ดังนั้นอย่าไปสรุปว่าธุรกิจพลังงานทั้งหมดผูกขาด เพราะการผลิต หรือแปรรูป อาจจะแข่งกันได้ แต่ระบบที่เป็นเหมือนคอขวด คือระบบส่ง โดยธรรมชาติจะเป็นการผูกขาด

ส่วนปัญหาน้ำมันและแก๊สในประเทศไทยมีราคาแพงนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องการผูกขาดมีอยู่จริง แม้จะมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า หากจะมีการแปรรูปอะไรก็ตาม ต้องไม่ไปเกี่ยวข้องกับส่วนที่มีการผูกขาดโดยธรรมชาติ และต้องมีกฎหมาย กติกา หรือให้องค์กรอิสระ ที่มีความสามารถ เป็นผู้มาดูแล เรื่องการแข่งขัน แต่เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการแปรรูป ไม่มีการออกกฎหมายเรื่องการกำกับกิจการพลังงาน มีการเอาทุกอย่างไปขายในตลาด ยกการผูกขาดของรัฐให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งอาจจะมีกระทรวงการคลังอยู่ครึ่ง แต่เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชน เข้ามาร่วมผูกขาดมาถึงทุกวันนี้

ห่วงแยก บ.ท่อก๊าซทำรัฐเสียเปรียบ

สำหรับประเด็นการแยกธุรกิจท่อก๊าซออกจาก ปตท.เพื่อจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ดีหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แยกออกมาดีกว่าอยู่ในองค์กรที่อยู่ แต่หากแยกออกมาแล้ว ยังเป็นองค์กรเดิมก็จะไม่มีประโยชน์อะไร และสิ่งที่ตนเป็นห่วงคือที่ ปตท.ระบุว่า เมื่อแยกบริษัทท่อก๊าซออกมา แล้วจะให้กระทรวงการคลังมาถือหุ้น แล้วอะไรจะเป็นสิ่งที่รับประกันได้ว่ากระทรวงการคลังจะสามารถซื้อหุ้นได้ในราคาที่เป็นธรรม

“สภาวะเช่นนี้ ผมเรียกว่า ค้างคาว นกมีหู หนูมีปีก เพราะเมื่อเวลาจะใช้กฎหมายบางฉบับไปควบคุม เช่น กฎหมายทางการค้า ปตท.ก็จะได้รับการยกเว้น เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่เมื่อบอกว่า ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจ ตอบสนองนโยบายของรัฐได้หรือไม่ ปตท.ก็จะตอบว่าไม่ได้ เพราะต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ผมคิดว่าสภาพเช่นนี้ ต้องมีการปฏิรูปโดยเร็ว” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ส่วนนโยบายให้รัฐต้องถือหุ้น ปตท. เปอร์เซ็นต์นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ธุรกิจของ ปตท. มีหลากหลาย หากธุรกิจใดที่แข่งขันได้ ก็ไม่ต้องยึดมาเป็นของรัฐแต่หากคำว่ายึด หรือทวงคืนจะใช้วิธีใด หากใช้วิธีการซื้อหุ้นคืน จะเป็นการซื้อคืนที่แพงกว่าเดิมหรือไม่ หรือหากจะยึดมา ก็จะมีผู้เสียหาย ตนคิดว่ายังไม่มีความจำเป็นที่ต้องเอาคืน แต่หากอะไรซึ่งยังเป็นของรัฐ และทางกฎหมาย หากศาลบอกว่าเป็นของรัฐ ก็ต้องเอามาเป็นของรัฐ ก็อาจจะใช้วิธีโอนมาในราคาที่เป็นธรรม ก็น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

ถือฤกษ์ "วันรับเปรต" เดินเข้าชุมพร

วันเดียวกัน เมื่อเวลา 09.09 น. เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน อ.สวี จ.ชุมพร ถือฤกษ์งามยามดีวันที่ 9 เดือน 9 เวลา 09.09 น. มอบธงเครือข่ายขาหุ้นให้กับตัวแทน อ.เมือง เดินเท้าจาก อ.สวี มุ่งหน้าสู่ อ.เมือง ระยะทาง 30 กิโลเมตร โดยในวันนี้ยังตรงกับวันทำบุญแรกของประเพณีสารทเดือน 10 ของภาคใต้ ตามความเชื่อว่าดวงวิญญาณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ จะกลับจากนรกภูมิมารับส่วนบุญที่ลูกหลานทำให้ เรียกวันนี้ว่าวันรับเปรต และจะทำบุญอีกครั้งในช่วงครบ 1 เดือน หรือสิ้นสุดเดือน 10 เรียกว่าวันทำบุญส่งเปรต

สำหรับการเดินเข้าสู่ อ.เมือง มีตัวแทนเครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิตภาคใต้ คือ นายคมกฤษณ์ ภู่เงิน หรือ "เจ้าชายขนนก" ที่อยู่เบื้องหลังผลงานเพลง "โบ๋ไม่บาย" และอัลบั้ม "บอกรักทะเล ที่ใช้ในกิจกรรมรณรงค์ปกป้องทะเลอันดามันจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมทั้ง นายอัครเดช จักรจินดา นักกฎหมาย ตัวแทนกลุ่ม Save Krabi มาร่วมเดินรณรงค์ โดยเวลา 16.20 น. ขาหุ้นได้เดินถึงตัวเมืองชุมพร

เผยแหล่ง"นางนวล"ห่างชายฝั่งแค่25กม.

ทั้งนี้ จ.ชุมพร มีแหล่งน้ำมันดิบชื่อ "นางนวล" ข้อมูลจากบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)หรือปตท.สผ. ระบุว่าแหล่งน้ำมันดิบนางนวลมีพื้นที่ 1,302 ตารางกิโลเมตร ห่างจากฝั่งจ.ชุมพร ประมาณ 25 กิโลเมตร ผู้ร่วมทุนในแหล่งน้ำมันดิบนี้ คือ บริษัท ปตท.สผ. สยาม จำกัด บริษัทลูกของปตท.สผ. 60% และ JX Nippon Oil & Gas Exploration Corporation จำนวน 40% ซึ่งหากผลิตน้ำมันดิบขึ้นมจะเป็นของ 2 บริษัทนี้เท่านั้น ทำให้คนไทยผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรตัวจริง ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง

ขณะเดียวกัน ปตท.สผ. มีการทำกิจกรรมเพื่อชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง เช่น สนับสนุนงานประเพณีแห่พระ แข่งเรือขึ้นโขนชิงธง อ.หลังสวน โครงการปะการังเทียม อ.ทุ่งตะโก และอ.หลังสวน การมอบอุปกรณ์กู้เรือประมง สนับสนุนงบประมาณซ่อมแซมและปรับปรุงชุดอุปกรณ์การกีฬาในโรงเรียน และอื่นๆเป็นต้น

เปิดเวทีถาม-ตอบพลังงานรอบสอง24ก.ย.

อีกด้าน นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย เปิดเผยว่า หลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ได้นัดทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาคประชาชนและกระทรวงพลังงานเพื่อจัดเสวนาในเวที ถาม:ตอบปัญหาพลังงานชาติ” ในวันที่ 24 ก.ย.นี้ที่สโมสรทหารบกซึ่งเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งนี้จะเน้นหัวข้อพลังงานปิโตรเลียมและพลังงานหมุนเวียนซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าภาพรวมของประเทศ

นายอิฐบูรณ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนกำลังเตรียมประเด็นต่างๆ ในการตั้งคำถามโดยหลักการที่ต้องการเสนอคือ 1.ต้องการให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้เป็นพลังงานหลักส่วนพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานรองโดยมีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน 2.ควรให้สิทธิประชาชนเป็นผู้ผลิตให้มากที่สุด และ 3.รัฐควรมีมาตรการอุดหนุนระยะแรกและควรมีกลไกในการตรวจสอบต้นทุนการผลิตเพื่อไม่ให้การอุดหนุนตกไปอยู่กับกลุ่มผู้ผลิตจนกระทบต่อค่าไฟฟ้า

“ที่ผ่านมารัฐมักมีข้ออ้างว่าพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทนต้องอุดหนุนค่าไฟทำให้ไม่สามารถรับซื้อได้ในจำนวนมากเพราะจะเป็นภาระต่อประชาชนทั้งที่รัฐกำหนดการอุดหนุนในอัตราที่คงที่นานๆ และไม่มีการตรวจสอบต้นทุนการผลิตทั้งที่มีแนวโน้มลดลงและทำให้การกำหนดแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีถูกจัดทำขึ้นจึงให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงหลักที่มีการขยายตัวต่อเนื่องมากกว่า”นายอิฐบูรณ์กล่าว

กฟผ.ทำแผนพีดีพีใหม่คงสัดส่วนผลิตไฟ 50%

ขณะที่ นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(พีดีพี) ฉบับใหม่ 20 ปี(2559-2579) ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ ทาง กฟผ.เองได้เสนอให้ภาครัฐได้พิจารณาคงสัดส่วนการผลิตของ กฟผ.ไว้ที่ 50%ของการผลิตทั้งหมด เพื่อความมั่นคงเนื่องจากการให้ภาคเอกชนผลิตไฟฟ้ามากกว่า 50% หากเกิดปัญหารัฐไม่สามารถไปสั่งให้เอกชนดำเนินการผลิตได้ตลอดซึ่งปัญหานี้เคยเกิดขึ้นกับต่างประเทศมาแล้ว

“การดูแลความมั่นคงด้านไฟฟ้า ถือว่าเป็นหน้าที่ของ กฟผ.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ดังนั้น หากให้เอกชนผลิตไฟฟ้ามากเกินครึ่ง หากเกิดปัญหา รัฐเองอาจไม่สามารถเข้าไปสั่งเอกชนได้ อย่างไรก็ตามแม้ กฟผ.จะผลิตไฟฟ้าครึ่งหนึ่ง แต่การสั่งเดินเครื่องผลิตจะยังเป็นไปตามมาตรฐาน คือ จะเลือกเดินจากเครื่องที่มีต้นทุนต่ำที่สุด เพื่อให้ค่าไฟฟ้าที่ไปถึงผู้บริโภคมีราคาต่ำ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า กฟผ.จะเลือกเดินเครื่องจากโรงไฟฟ้าของ กฟผ.เป็นอันดับแรกแต่อย่างใด”นายสุนชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพีดีพีฉบับใหม่ โดยจะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ โดยในวันที่ 10 ก.ย.จะจัดรับฟังที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งตามแผนพีดีพีฉบับปัจจุบันคาดการณ์อัตราการขยายตัวของไฟฟ้าอยู่ที่ 4-5% แต่ฉบับใหม่คาดว่าจะลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน และตามแผนพีดีพีฉบับใหม่มีการตั้งเป้าหมายเบื้องต้นว่าจะลดสัดส่วนการใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเหลือ 30% จากปัจจุบันมี 65-70% การใช้ถ่านหินจะเพิ่มเป็น 30% การใช้พลังงานทดแทน 20% การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ 15% และนิวเคลียร์ 5%
กำลังโหลดความคิดเห็น