ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กฟผ.เปิดคลิป “บิ๊กตู่” การันตีถ่านหินสะอาดกรอกหูชาวบ้านที่เข้าร่วมเวที ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านกระบี่ ขณะที่เครือข่ายต่อต้านบุกอ่านแถลงการณ์หน้าที่ประชุมก่อนเคลื่อนขบวนรณรงค์ทั่วเมือง พร้อมเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี จี้ยกเลิกโครงการ เซ็งเปิดโอกาสให้พูดแค่คนละ 3 นาที
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ร่างรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ครั้งที่ 3 หรือเวที ค.3 โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 800 เมกะวัตต์ ที่ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ วันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยก่อนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.จะมาจัดเวทีนี้ ในส่วนของภาคประชาชนเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน และเครือข่ายปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ยังคงติดตามความเคลื่อนไหว และจัดกิจกรรมคัดค้านของโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง
*** กลุ่มค้านเขียน จม.ถึงนายกฯ บอก “ถ่านหินไม่มีวันสะอาด”
โดยช่วงค่ำวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน และเครือข่ายปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ได้เดินทางไปสักการะศาลหลักเมือง บริเวณศาลากลางจังหวัดกระบี่ เพื่อขอพรให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระงับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะส่งผลกระทบต่อจังหวัดกระบี่ในระยะยาว พร้อมกันนี้ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ใจความว่า
จากการรับฟังรายการคืนความสุขเพื่อคนไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เราชาวกระบี่มีความรู้สึกทุกข์ใจต่อความคิด และความเข้าใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนโยบายของรัฐบาลต่อการผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดกระบี่ ที่ยังมีปัญหา และข้อห่วงใยในหลายด้าน
จดหมายดังกล่าวระบุอีกว่า การทำรัฐประหารในครั้งนี้ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่อ้างว่าเป็นไปเพื่อความปรองดองสมานฉันท์ และเพื่อคืนความสุขให้แก่ประชาชนชาวไทยนั้น ในขณะนี้การประกาศนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลทำให้มีข้อสงสัยว่า การคืนความสุขในด้านพลังงานนั้น ทำเพื่อประชาชน หรือเพื่อกลุ่มทุน ทั้งการประกาศเดินหน้าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน การผลักดันสัมปทานรอบ 21 การประกาศขึ้นราคาพลังงาน การปิดปากประชาชนที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมด้านพลังงาน ทั้งหมดนี้เป็นการคืนความสุขให้ประชาชนด้านพลังงานใช่หรือไม่
การพูดถึงถ่านหินว่าสะอาด และปลอดภัยของนายกรัฐมนตรีนั้น ก่อให้เกิดข้อกังขาขึ้น เนื่องจากไม่มีข้อสรุปทางวิชาการใดมารองรับได้ การที่นายกรัฐมนตรีพูดเช่นนี้มีนัยเพื่อต้องการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน หรือเพื่อสนับสนุนกลุ่มทุนเหมืองถ่านหิน การสัมปทานรอบ 21 ที่ผลักดันโดยกระทรวงพลังงานนั้น ทำไมจึงไม่เปลี่ยนระบบให้ประเทศชาติได้รับประโยชน์สูงสุดก่อนการให้สัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียม
ทั้งที่ประเทศรอบข้างได้เปลี่ยนระบบเพื่อให้ประเทศได้อธิปไตยด้านพลังงานสามารถจัดการกับปิโตรเลียมของตัวเองได้ แต่ประเทศไทยกลับดำเนินการตรงกันข้าม และนายกรัฐมนตรีก็ยังสนับสนุนการกระทำในทางตรงกันข้ามเช่นนี้ จึงมีคำถามต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของใคร
จดหมายดังกล่าวระบุด้วยว่า วันที่ 28 ก.ย. ซึ่งมีการจัดเวที ค.3 โครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ เป็นตัวอย่างที่ดี ที่แสดงให้เห็นว่ามีการใช้อำนาจปกป้องกลุ่มทุนพลังงาน ด้วยการใช้กองกำลังทหารจำนวนมากมาปกป้องกลุ่มทุนเพื่อให้การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในขั้นตอนการทำรายงาน EIA ผ่านไปได้สะดวก ทั้งที่นานาประเทศได้มีแนวทางและทางออกความมั่นคงด้านพลังงานด้วยการใช้พลังงานสะอาด แต่ประเทศไทยกลับเลือกในสิ่งที่จะสร้างผลกระทบต่อมนุษยชาติ
*** กฟผ.ผวาเกณฑ์กองกำลังปิดประตูตีแมวเวที ค.3 โรงไฟฟ้าถ่านหิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Review) ครั้งที่ 3 (ค.3) โครงการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ขนาดกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ จัดขึ้น ณ ศาลาประชาคม อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ วันนี้ (12 ต.ค.) มี นายเผ่าพงษ์ เต็มสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ (ชพฟช.) บุคลากร กฟผ.เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนเข้าร่วมกว่า 1,500 คน
โดยทาง กฟผ.ได้นำคลิปวิดีโอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้พูดเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในประเด็นว่ารัฐบาลสนับสนุนให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มาเปิดให้ชาวบ้านชมหลายสิบรอบ ก่อนเปิดโอกาสให้ผู้ต้องการแสดงความคิดเห็นได้พูด
ต่อมา ได้มีกลุ่มชาวบ้านเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินและเครือข่ายปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ประมาณ 500 คน รวมตัวกันเดินทางเข้ามาที่บริเวณหน้าห้องประชุม พร้อมถือธงสีเขียวมีข้อความว่าปกป้องกระบี่จากถ่านหิน และมีรูปปลาพะยูนติดอยู่บนธงด้วย ทั้งหมดได้นั่งปักหลักอยู่ด้านหน้าห้องประชุมด้วยความสงบ โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยควบคุมฝูงชน ภ.จว.กระบี่ ประมาณ 300 นาย พร้อมโล่ กระบอง ครบมือ ยืนตั้งแถวป้องกันไม่ให้มีการก่อเหตุวุ่นวายบริเวณหน้าห้องประชุม
*** ชาวบ้านอัด EHIA ละครสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มทุนพลังงาน
จากนั้นกลุ่มชาวบ้านได้อ่านแถลงการณ์โดยมีใจความบางส่วน ว่า ขณะนี้หลายประเทศในโลกกำลังยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในยุโรป รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศพม่า ซึ่งทั่วโลกมีแนวโน้มที่ตรงกันในการประกาศหยุดใช้ถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้า และสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดประเทศไทยจึงประกาศสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายโรงในประเทศ รวมถึงจังหวัดกระบี่ ทั้งที่สามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้ การสร้างโรงไฟฟ้าครั้งนี้จึงแฝงนัยของการรับใช้ทุนพลังงาน
รัฐพยายามเร่งผลักดันสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากมีกลุ่มทุนได้ทำการสัมปทานเหมืองถ่านหินไว้แล้วในต่างประเทศ ประชาชนต้องตกเป็นทาสของการผูกขาดของกลุ่มทุนพลังงาน และต้องเป็นผู้รับกรรมจากผลกระทบที่ไม่อาจเยียวยาได้ การวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดกระบี่ เชื่อว่าประชาชนก็ต้องตกเป็นเหยื่อของกลุ่มทุนพลังงาน และสิ่งที่เกิดขึ้นตามกระบวนการ EHIA เป็นเพียงการเล่นละครเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่กลุ่มทุนพลังงานเท่านั้น จึงไม่สามารถยอมรับกระบวนการดังกล่าวได้
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า กระบวนการ ค.3 จึงเป็นไปเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่ตรงกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดกระบี่ ที่ต้องการพลังงานสะอาด แม้ว่ากระบวนการ ค.3 จะผ่านไปได้ แต่ชาวกระบี่ไม่อาจยอมรับให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ของจังหวัดกระบี่ได้ และจะร่วมกันปกป้องให้พ้นจากหายนะโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ถึงที่สุด หลังจากนั้น ทางกลุ่มก็ได้สลายตัวไป
*** กฟผ.อ้างทำตามกติกา-รองนายก อบจ.กระบี่ ร่วมต้านถ่านหิน
นายเผ่าพงษ์ เต็มสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ กล่าวว่า การจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (Public Review) ครั้งที่ 3 (ค.3) ของโครงการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ เพื่อเป็นการทบทวนร่างรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการฯ ให้ครบถ้วน และสมบูรณ์มากที่สุด โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสีย ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้การรับฟังความคิดเห็นและการทบทวนร่างรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพครบถ้วนมากที่สุด
ด้านนายสมศักดิ์ นบนอบ ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มพิทักษ์ปกาสัย กล่าวว่า การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของ กฟผ.ในครั้งนี้ ยังคงนำกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ อาสาสมัคร และชุดควบคุมฝูงชน ร่วม 1,000 นาย มาควบคุมสถานการณ์ภายในเวที ค.3 ซึ่งเป็นการใช้กำลังเจ้าหน้าที่เกินความจำเป็น ถึงแม้จะอ้างว่าการนำกำลังมาในครั้งนี้เพียงเพื่อรักษาความปลอดภัยและดูแลความสงบในพื้นที่ประชุมก็ตามไม่สมควร เพราะมีเจ้าหน้าที่บางคนติดอาวุธ พกพาอาวุธสงครามเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม
สำหรับจุดยืนของกลุ่มจะไม่หยุดนิ่งถึงแม้ว่าจะผ่านขบวนการ ค.3 ไปแล้วก็ตาม โดยจะคัดค้านตามช่องทางที่มีอยู่ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นสิทธิของชาวบ้านที่พึงทำได้ และขอฝากไปยัง กฟผ.อย่ายัดเยียดโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ชาวกระบี่ โดยการทำเวทีประชาพิจารณ์ เพราะที่ผ่านมา กฟผ.หมกเม็ดข้อมูลมาตลอด และไม่ได้เป็นไปตามกฎหมาย
ด้าน นายกิตติชัย เอ่งฉ้วน รองนายก อบจ.กระบี่ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยต่อการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากสวนทางกับวิสัยทัศน์ของจังหวัด ที่กำหนดไว้ว่า “กระบี่เมืองสีเขียว” ซึ่งเป็นการกำหนดโดยทุกภาคส่วนของจังหวัด ซึ่งทาง กฟผ.หรือรัฐบาลควรจะฟังประชาชนในพื้นที่ด้วยในเมื่อชาวบ้านไม่เอาก็อย่ามายัดเยียดให้ และนอกจากนี้ จังหวัดกระบี่ ก็ยังเชื่อว่าเมื่อเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมน้ำที่สำคัญของจังหวัดกระบี่และของโลก ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจจะถูกตัดออกจากพื้นที่ชุ่มน้ำโลกหากว่าเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นที่กระบี่
*** อัด EHIA ข้อบกพร่องเพียบ-ชาวบ้านได้พูดแค่คนละ 3 นาที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Review) ครั้งที่ 3 ของโครงการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ ขนาดกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ ในครั้งนี้ บริเวณทางเข้าห้องประชุม ทาง กฟผ.ได้จัดแสดงการเลี้ยงปลาในตู้ปลาที่มีถ่านหินวางปะปนอยู่ในน้ำ เพื่อโฆษณาให้เห็นว่า ถ่านหินไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยชาวบ้านหลายรายระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวขัดแย้งต่อความเป็นจริง เนื่องจากชาวบ้านกังวลเรื่องผลกระทบจากถ่านหินที่ถูกเผาไฟเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งถ่านหินที่รั่วไหลลงสู่ธรรมชาติจากการขนส่ง ซึ่งเป็นถ่านหินที่นำมาจากต่างประเทศ ในขณะที่ถ่านหินที่ กฟผ.นำมาแสดงน่าจะเป็นถ่านหินที่พบในสภาพธรรมชาติทั่วไป
ขณะที่การแสดงความคิดเห็นของประชาชนในเวที ค.3 ครั้งนี้มีการจำกัดเวลาการพูด โดยให้เวลาประชาชนแสดงความเห็นได้คนละ 3 นาที จากที่ก่อนหน้านี้ เวที ค.3 โครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา มีการให้เวลาประชาชนแสดงความคิดเห็นได้คนละ 5 นาที
ขณะที่ผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ในวันนี้ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โครงการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ โดยเฉพาะประเด็นการก่อมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ในรายงานมีการระบุถึงสารพิษ 4 ชนิด ที่สามารถควบคุมได้ ขณะเดียวกัน ยังมีสารพิษจากถ่านหินอีกหลายชนิดที่ไม่ได้มีการพูดถึงในรายงาน และในทางวิชาการยังไม่มีวิธีใดที่สามารถควบคุมสารพิษเหล่านั้นได้ เช่น สารปรอท เป็นต้น
นายทวีเดช วงศ์ประดิษฐ์ ชาวบ้านใน จ.กระบี่ ที่ได้ร่วมลงชื่อแสดงความคิดเห็นในลำดับที่ 2 กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.กระบี่ เพราะจะมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง แต่ในการแสดงความคิดเห็นชาวบ้านกลับได้กล่าวถึงความเป็นห่วงต่อเรื่องทั้งหมด ในเวลาที่จำกัดมาก
“หากกระบวนการตรงนี้ไม่น่าเชื่อถือ กระบวนการต่อไป และกระบวนการทั้งหมดที่ กฟผ.ทำ จะน่าเชื่อถือได้อย่างไรในสายตาของชาวบ้าน” นายทวีเดช กล่าว
*** ชาวบ้านเคลื่อนต่อในเมืองปลุกคนกระบี่ต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ชาวบ้านเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินและเครือข่ายปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ได้อ่านแถลงการณ์เสร็จสิ้นแล้ว ทั้งหมดได้เดินทางออกจากที่จัดประชุมเวที ค.3 และได้ไปจัดขบวนเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อในตัวเมืองกระบี่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเคลื่อนไหวปกป้องกระบี่จากถ่านหินของภาคประชาชนในครั้งนี้ มีเครือข่ายนักธุรกิจการท่องเที่ยว และพ่อค้าประชาชนใน จ.กระบี่ ให้การสนับสนุนร่วมกับกลุ่มชาวบ้านเครือข่ายชาวประมงในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากถ่านหิน ร่วมกันเคลื่อนไหวรณรงค์ไม่ให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในจังหวัดกระบี่ และเรียกร้องให้ภาครัฐพัฒนาพื้นที่ตามศักยภาพการเป็นเมืองท่องเที่ยว การเกษตร และการประมงแทน