กระบี่ - ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา จ.กระบี่ พร้อมใจกันขึ้นเวทีอ่านคำแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อรักษาฐานทรัพยากรที่สร้างรายได้ร่วมปีละ 4 แสนล้านบาท เอาไว้ให้คนในพื้นที่ได้พึ่งพาเป็นแหล่งสร้างรายได้ สร้างความมั่นคงต่อไปในอนาคต
วันนี้ (26 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้จัดเวทีประกาศเจตนารมณ์ของภาคธุรกิจบนเกาะลันตา จ.กระบี่ เรื่องการคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเวทีจัดขึ้นที่หน้าท่าเรือท่องเที่ยว ต.ศาลาด่าน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายลงมาอย่างหนักในช่วงค่ำที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในช่วงกลางวันของวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการจัดขบวนรณรงค์ต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ไปรอบๆ เกาะลันตาใหญ่ โดยมีขบวนรถจักรยานยนต์ของภาคประชาชน และภาคธุรกิจในพื้นที่เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ในส่วนของการประกาศเจตนารมณ์ของภาคประชาชน และนักธุรกิจเกาะลันตา นายสุนทร เชาว์กิจค้า เป็นตัวแทนอ่านคำแถลงการณ์ โดยระบุว่า แถลงการณ์เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ฉบับที่ 4 ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลันตา ขอให้รัฐบาลมีคำสั่งยกเลิกการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
จากนโยบายที่รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน ได้ประกาศให้พื้นที่จังหวัดกระบี่ เป็นพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และได้เร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้ กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกาะลันตาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าจะเกิดวิกฤตต่อการท่องเที่ยว และถือเป็นการสร้างวิกฤตครั้งใหม่หลังภัยสึนามิ และมีแนวโน้มว่าภัยครั้งนี้จะรุนแรง และยาวนานเพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินจะปล่อยมลพิษทุกวัน กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกาะลันตาจึงไม่เห็นด้วยต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยเหตุผลต่อไปนี้
1.ความรุนแรงของสารพิษในถ่านหินจากงานวิจัยหลายประเทศบ่งชี้ว่า เกิดผลกระทบรุนแรง เมื่อถูกปล่อยสู่บรรยากาศจะสามารถแพร่กระจายไปได้ในรัศมี 15-30 ไมล์ และยิ่งไปกว่านั้นหากระยะเวลาผ่านไปนานขึ้น มลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายสามารถแพร่กระจายไปในระยะทางจาก 100 ถึง 1,000 ไมล์ ระยะทางดังกล่าวจะเกิดขึ้นครอบคลุมทั้งในพื้นที่อันดามัน และทั้งภาคใต้อย่างแน่นอน
2.ฐานอาชีพของคนอันดามันคือ การท่องเที่ยว และการเกษตรเป็นหลัก ซึ่งทั้งสองอาชีพล้วนเกี่ยวเนื่องต่อการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี หากเราพิจารณาตัวเลขด้านการท่องเที่ยว จากสำนักงานสถิติจังหวัด ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง จะพบว่า ในปี 2555 เศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยว และภาคเกษตรกรรม โดยมีขนาดเศรษฐกิจ 3.31 แสนล้านบาท โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 2.95 แสนล้านบาท สาขาเกษตร 1.11 แสนล้านบาท และการท่องเที่ยวของอันดามันส่วนใหญ่คือ การท่องเที่ยวทะเล และชายหาด ซึ่งต้องอาศัยความสวยงามของธรรมชาติเป็นหลัก หากพื้นที่การท่องเที่ยวปกคลุมด้วยควันถ่านหิน และมลพิษทางน้ำ การท่องเที่ยวก็จะหายนะ รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรม และแหล่งอาหาร ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ความทุกข์ยากของคนอันดามัน
3.ความเห็นของนักท่องเที่ยวต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจากกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพระดับชุมชน (CHIA) ซึ่งจัดทำที่เกาะลันตา จ.กระบี่ จากจำนวนนักท่องเที่ยว 624 คน จากทั้งหมด 77 ประเทศ พบว่า ร้อยละ 88 มีความเห็นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อถามว่าหากสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้วจะกลับมาเที่ยวหรือไม่ พบว่าร้อยละ 85 ตอบว่าจะไม่กลับมาเที่ยวที่ จ.กระบี่อีก ทั้งนี้ ในจำนวนนักท่องเที่ยวที่ตอบแบบสอบถามซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรป และอเมริกา จะมีจำนวนวันที่มาเที่ยวแต่ละครั้งยาวนานโดยเฉลี่ย 90 วันต่อการมาเที่ยว 1 ครั้ง และเมื่อถามถึงค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยแล้ว นักท่องเที่ยวที่ตอบแบบสอบถาม จำนวน 624 คน จะมีการใช้จ่ายทั้งหมด 148,072,400 บาท จากข้อมูลดังกล่าวสามารถเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าหากเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นนักท่องเที่ยวจะหายไป
4.ทางออกของความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า หากกระทรวงพลังงานยกเลิกมาตรการ และข้อจำกัดในการผลิตพลังงานหมุนเวียน ภาคใต้จะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อีกจำนวนมาก และหากพิจารณาในระดับโลกพบตัวเลขที่น่าสนใจว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 โลกผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้มากกว่าพลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน นิวเคลียร์ อีกทั้งในประเทศอเมริกา เยอรมนี จีน อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก ได้หันมาสร้างไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนกันอย่างจริงจัง ปัญหาของพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยจึงไม่ใช่เรื่องของศักยภาพการผลิต แต่เป็นเรื่องของการผูกขาด และกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวย
ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกาะลันตา ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจโรงแรม ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจอาหาร และอื่นๆ ขอประกาศว่า ให้รัฐบาลรักษากิจการท่องเที่ยวเพื่อให้เป็นรายได้หลักของประเทศ และเป็นฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของคนอันดามันต่อไป ด้วยการพิจารณายกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ และขอให้จริงจังต่อการดำเนินการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งจะได้รับความร่วมมือจากภาคสังคมของจังหวัดอันดามันในการร่วมขับเคลื่อนกับรัฐบาลให้อันดามันเป็นพื้นที่พลังงานสะอาดของโลกต่อไปในอนาคตอันใกล้