xs
xsm
sm
md
lg

“อุเทน” หนุนปัดฝุ่นเขื่อนท่าซาง ผันน้ำสาละวินเข้า ใช้งบ 2 แสนล้านแต่คุ้มค่า ผลิตไฟได้สูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย (แฟ้มภาพ)
หัวหน้าพรรคคนไทยหนุนรื้อโครงการเขื่อนท่าซางผันน้ำสาละวินสู่เขื่อนภูมิพล แนะสร้างอุโมงค์ 88 กม.ออกแม่ปิงด้วย รับใช้งบสูงถึง 2 แสนล้านแต่คุ้ม ผลิตไฟฟ้าได้สูง แต่ชี้ชนกลุ่มน้อยส่อเป็นอุปสรรคโครงการ ควรร่วมทุนระหว่างรัฐ หรือชวนจีนมาแจม

วันนี้ (20 ก.ค.) นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย และอดีตประธานคณะกรรมการผันน้ำลงทะเลฯ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กล่าวถึงแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของรัฐบาลที่มีการเสนอให้ผันน้ำจากแม่น้ำสาละวินเข้าสู่เขื่อนภูมิพลว่า ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด และสามารถนำน้ำที่ไหลผ่านรอยต่อพม่า-ไทย ไปลงทะเลมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล แต่ต้องมีการกำหนดแนวทางดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพราะในความเป็นจริงเรื่องการนำน้ำจากแม่น้ำสาละวินเข้ามาใช้ประโยชน์ในประเทศไทยนั้นมีการเสนอและพูดถึงตั้งแต่เมื่อช่วงปี 2547 และเป็นมติ ครม.ไปแล้วเมื่อปี 2548 ทั้งในแง่การป้องกันน้ำท่วม แก้ปัญหาน้ำแล้งและสามารถผลิตไฟฟ้า คือ โครงการเขื่อนท่าซางของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งก็ได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับหลักการในเบื้องต้นไปแล้ว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทำให้โครงการนี้ล้มเลิกไป

นายอุเทนกล่าวต่อว่า ในสมัยที่ตนเป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการน้ำในรัฐบาลที่แล้วก็เคยเสนอโครงการนี้ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย โดยเสนอให้สร้างเขื่อนและอุโมงค์ระยะทาง 88 กม. รับน้ำจากแม่น้ำสาละวินของพม่ามายังลำน้ำแม่แตง จ.เชียงใหม่ ก่อนที่จะออกสู่แม่น้ำปิง ไปยังแก้มลิง หรืออ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนภูมิพลที่ อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้เขื่อนภูมิพลเป็นอิสระในการกักเก็บน้ำ และปล่อยน้ำ และไม่ต้องกังวลกับปัญหาน้ำล้นเขื่อนภูมิพล หรือการระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก ขณะที่ในฤดูแล้งก็จะมีน้ำให้ใช้ประโยชน์มากขึ้น แต่โครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลที่แล้วก็ไม่ได้หยิบมาพิจารณา

“แม่น้ำสาละวินนั้นไหลมามาจากเทือกเขาหิมาลัยในทิเบต และไหลแรงตลอดทั้งปี ผมเคยเสนอให้สร้างเขื่อนที่แนวลุ่มน้ำแม่แตง บริเวณละติจูด ที่ 20 ที่มีระดับความลาดเอียงเหมาะที่จะดึงน้ำมา โดยผันน้ำเข้าสู่อุโมงค์ระยะทางที่สั้นที่สุดประมาณ 85-88 กม. และส่งผลกระทบกับแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยมาก ใช้งบประมาณสูงราว 2 แสนล้านบาท แต่ก็ถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะประเทศไทยจะสามารถทั้งป้องกันน้ำท่วมและแก้ปัญหาน้ำแล้งได้อย่างยั่งยืน” นายอุเทนระบุ

นายอุเทนกล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือโครงการดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ใกล้กับชายแดน ซึ่งมีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อาจเป็นอุปสรรคอยู่บ้าง และหากจะดำเนินการก็ต้องประสานงานกับทางรัฐบาลพม่าด้วย ดังนั้นจึงควรที่วางแผนโครงการให้เป็นในลักษณะร่วมทุนระหว่างรัฐบาล หรือเชิญชวนประเทศจีนเข้ามาร่วมลงทุนด้วยก็เชื่อว่าจะทำให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะเขื่อนที่จะสร้างขึ้นนั้นมีศักยภาพสูง โดย กฟผ.เคยประเมินเบื้องต้นว่า จะสามารถส่งน้ำมาได้ราว 3 พันลูกบาศก์เมตร/วินาที และจะผลิตไฟฟ้าได้ 7.5 พันเมกะวัตต์ มากกว่าโรงไฟฟ้าหงสา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดของ สปป.ลาว ที่มีกำลังผลิตเพียง 1.87 พันเมกะวัตต์ด้วย หากตีเป็นมูลค่าจะได้ถึงปีละกว่า 3 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาไม่ถึง 8 ปีก็จะคุ้มทุน อีกทั้งยังสามารถช่วยรองรับอัตราการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศที่ตกราว 2.2-2.3 หมื่นเมกะวัตต์ ทำให้ไทยไม่ต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่ปัจจุบันเราต้องซื้ออยู่กว่า 1 หมื่นเมกะวัตต์

“แน่นอนว่าโครงการในลักษณะนี้มักมีเสียงคัดค้าน แต่รัฐบาลต้องชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็น และความคุ้มค่าให้ชัดเจน โดยเน้นย้ำในเรื่องของการพัฒนา และประโยชน์ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่ยั่งยืน เราจะไม่ขาดแคลนน้ำ ไม่ต้องพะวงเรื่องไฟฟ้าที่เราต้องใช้ ขณะที่ประชาชนก็ต้องเข้าใจในมิติความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า เพื่อที่อนาคตเราจะไม่ต้องไปพึ่งพาหรือเป็นเบี้ยล่างประเทศอื่นอีก ในด้านพลังไฟฟ้า เพราะหากวันหนึ่ง มีประเทศหนึ่งเกิดเบี้ยวไม่ขายไฟฟ้าให้ประเทศไทย ก็จะมีปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าขึ้นมาได้ เช่น พม่าปิดซ่อมท่อส่งก๊าซ แค่ 3-4 วัน เรายังวุ่นวายมากพอดู” นายอุเทนกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น