xs
xsm
sm
md
lg

“เอชเอสบีซี” หั่นเป้าจีดีพีไทยปี 58 เหลือ 3.1% คาดปี 59 ดีขึ้น “เอสเอ็มอีแบงก์” คงเป้าสินเชื่อ 4 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักเศรษฐศาสตร์ “ธ.เอชเอสบีซี” ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือ 3.1% จากเดิม 3.6% แต่ปรับเพิ่มการเติบโตเศรษฐกิจปี 59 เล็กน้อยอยู่ที่ 3.3% จากที่มองไว้ 3.1% ขณะที่ “เอสเอ็มอีแบงก์” เดินหน้าปล่อยกู้ผู้ประกอบการ คงเป้าหมายสินเชื่อ 40,000 ล้านบาท สู้ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวหลังคลังเพิ่มทุนให้ 1,000 ล้านบาท

น.ส.นลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตร้อยละ 3 ไตรมาส 1/2558 เมื่อเทียบกับปีก่อน และเติบโตลักษณะเร่งขึ้นในช่วง 4 ไตรมาสติดต่อกัน ในช่วงไตรมาส 1-4 ปี 2557 อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังอยู่ระดับต่ำ และขยายตัวช้าลงไตรมาส 1/2558 เหลือแค่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เมื่อปรับผลกระทบจากปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว โดยไตรมาส 4/2557 ขยายตัวร้อยละ 1.1 ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าที่แท้จริงยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดการเติบโตเศรษฐกิจ เป็นผลจากอุปสงค์ที่ต่ำในเอเชียตะวันออก นอกจากนี้ การบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนยังซบเซา แม้ว่าจะมีแรงหนุนจากราคาพลังงานที่ต่ำลง ซึ่งเป็นผลจากบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ไม่สดใส ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูง และการเติบโตของรายได้ที่ต่ำ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และความเสี่ยงเชิงลบที่มีต่อการส่งออกอย่างต่อเนื่อง เอชเอสบีซีจึงปรับลดคาดการณ์เติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงจากร้อยละ 3.6 เป็นร้อยละ 3.1 แต่ปรับเพิ่มการเติบโตเศรษฐกิจในปีหน้าขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ทีร้อยละ 3.3 จากร้อยละ 3.1 รวมทั้งปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้อยู่ที่ติดลบร้อยละ 0.4 จากร้อยละ 0.0 เนื่องจากมีความกดดันด้านราคาสินค้ามีมากกว่าที่คาดไว้เดิมในช่วง 5 เดือนแรกของปี แต่ยังคาดว่าเงินเฟ้อจะกระเตื้องขึ้นปีหน้าเนื่องจากฐานที่ต่ำ จึงปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อลงมาเพียงเล็กน้อยเหลือที่ร้อยละ 2.3 จากร้อยละ 2.6 ผลจากปัจจัยทั้งหมดนี้ และความเสี่ยงขาลงต่อการเติบโตเศรษฐกิจ จึงทำให้คาดว่ามีโอกาสมากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เพื่อพยุงการเติบโตของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ภายในไตรมาส 3 และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.25 จนถึงปลายปี 2559 จากเดิมคาดว่าจะปรับขึ้นจากร้อยละ 1.50 สู่ร้อยละ 1.75 ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559

ทั้งนี้ เอชเอสบีซี คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้สู่ระดับร้อยละ 0.25-0.50 และปี 2559 จะมีการปรับขึ้นอีกร้อยละ 0.5 เป็น 0.75-1.00 ภายในสิ้นปี 2559 ซึ่งเป็นการปรับระดับที่น้อยกว่าการคาดการณ์ล่าสุดของเฟด โดยส่วนหนึ่งเนื่องจากอัตราค่าจ้างยังขยายตัวอัตราที่ต่ำกว่าแนวโน้มในอดีตค่อนข้างมาก ส่งผลให้การปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมายของเฟดที่ร้อยละ 2 เป็นไปอย่างช้า

ด้าน นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และนายสุพจน์ อาวาส กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอนุมัติการเพิ่มทุนให้แก่เอสเอ็มอีแบงก์ 1,000 ล้านบาท ทำให้สัดส่วน BIS เพิ่มจากร้อยละ 7.7 เป็นร้อยละ 8.7 จึงจัดสรรเงิน 500 ล้านบาท ตั้งกองทุนร่วมลงทุนใน Private Equity Trust Fund ของกระทรวงการคลัง ตามนโยบายของรัฐบาล กำหนดเปิดตัวโครงการวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ เพื่อร่วมลงทุนใน 17 กิจการที่มีศักยภาพ และนวัตกรรม เพื่อรองรับเอกชนขายกิจการ

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยลงนามขายให้บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) วงเงิน 1,150 ล้านบาท หลังจากก่อนหน้านี้ขายไปแล้ว 2,000 ล้านบาท ทั้งปีคาดว่าจะตัดขายหนี้เอ็นพีแอลประมาณ 7,000 ล้านบาท ทำให้เอ็นพีแอลทั้งปีลดเหลือ 20,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 20 จากปัจจุบันเอ็นพีแอลสิ้นเดือนพฤษภาคม 2558 อยู่ที่ 28,785 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 33.29 ลูกค้าของธนาคารได้รับผลกระทบสูงมากจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน และคาดว่าเดือนมิถุนายน เอ็นพีแอลจะลดลงอีก

สำหรับผลประกอบการตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม มีกำไรสุทธิรวม 5 เดือน 503 ล้านบาท มีการปล่อยสินเชื่อใหม่มกราคม-พฤษภาคม วงเงิน 13,623 ล้านบาท ทั้งนี้ สินเชื่อที่ปล่อยกู้เพิ่มปี 2558 มีวงเงินต่อรายไม่เกิน 15 ล้านบาท และจำนวน 6,061 ราย มีสินเชื่อคงค้าง 86,461 ล้านบาท ทั้งนี้ ยอมรับว่าเศรษฐกิจชะลอตัวเอสเอ็มอีแบงก์จะไม่ขอให้กระทรวงการคลังลดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อที่ตั้งไว้ 40,000 ล้านบาท เพื่อต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ส่วนการปล่อยกู้อนุมัติโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan) วงเงิน 15,000 ล้านบาท หลังจากคณะรัฐมนตรีปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็ก อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ที่เหลือกระทรวงการคลังชดเชยให้เอสเอ็มอีแบงก์อีกร้อยละ 3 และยังให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันโดยมีเพดานค้ำสูงสุดร้อยละ 18 ของยอดสินเชื่อ ด้วยการกำหนดเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอีรายย่อยที่ไม่มีหลักประกันจะให้กู้ยืมเงินได้ โดยให้ บสย.ค้ำประกันทั้งจำนวน การปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอี วงเงิน 1-5 ล้านบาท กรณีเป็นสมาชิกของภาคีของธนาคาร ซึ่งมีกลุ่ม หรือสมาคมช่วยคัดกรองคุณภาพให้เบื้องต้น จึงผ่อนปรนเรื่องหลักประกันได้ โดยให้ บสย.ค้ำประกันบางส่วน ขณะที่สินเชื่อวงเงิน 5-15 ล้านบาท จะพิจารณาเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคาร โดยพิจารณาเรื่องศักยภาพของลูกหนี้ และการกำหนดมูลค่าหลักประกันร้อยละ 60 โดยภาคีของธนาคาร ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาพันธ์เอสเอ็มอี กรมพัฒนาชุมชน และสมาคมการค้าต่างๆ ได้นำเอสเอ็มอีเข้าเป็นสมาชิกเข้ามายื่นขอกู้แล้ว เชื่อว่าสามารถปล่อยกู้ได้ครบ 15,000 ล้านบาท ภายในสิ้นปี 2558
กำลังโหลดความคิดเห็น