“เอชเอสบีซี” ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 58 โต 3.9% จากเดิม 4.5% ห่วงโครงการรัฐล่าช้า หนี้ครัวเรือน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำยังกดดันการบริโภค คาดแบงก์ชาติออกแรงช่วยดันเศรษฐกิจ ลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%ในไตรมาสแรก แรงกดดันด้านเงินเฟ้อต่ำ
น.ส.นลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากทิศทางเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2557 ที่ผ่านมา ยังมีอัตราการฟื้นตัวที่ต่ำมาก ถึงแม้จะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ซึ่งรวมถึงการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย และการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวอย่างจำกัดจากหนี้ครัวเรือนที่สูง และรายได้เกษตรกรที่ต่ำ รวมถึงการส่งออกยังไม่สดใส ความเชื่อมั่นภาคเอกชนที่ยังอ่อนแอ และความล่าช้าในการใช้มาตรการการคลังบางอย่างเพราะกรอบการอนุมัติที่ใช้เวลานาน
ดังนั้น ช่วงกลางเดือนธันวาคม เอชเอสบีซี ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 และปี 2558 เหลือร้อยละ 0.5 และร้อยละ 3.9 ตามลำดับ จากเดิมที่ร้อยละ 1.0 และร้อยละ 4.5 นอกจากนี้ ยังคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.75 ภายในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะยังอยู่ในระดับสูง และยังคงน่าเป็นห่วง แต่การเติบโตของสินเชื่อครัวเรือนที่ชะลอลงทำให้ผู้ดำเนินนโยบายการเงินคลายความกังวลลงบ้าง นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 1.0 ในครึ่งแรกของปี 2558 และเปิดโอกาสให้อัตราดอกเบี้ยสามารถปรับตัวลงได้อีก
“แม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจะเริ่มต้นปี 2558 จากระดับต่ำ แต่เศรษฐกิจน่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยมีปัจจัยหนุนหลักมาจากการลงทุนภายในประเทศ และการท่องเที่ยว ในขณะที่เราคาดว่าการส่งออกสินค้าจะเติบโตแข็งแกร่งขึ้นจากปีก่อน แต่ผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจะถูกลดทอนลงจากการนำเข้าที่น่าจะเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งเช่นกัน ซึ่งเป็นผลจากความต้องการลงทุนที่ฟื้นตัวกลับมา เราคาดว่าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐนอกจากจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ และการจ้างงานให้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น และส่งเสริมให้มีการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น เช่น การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวรถไฟฟ้าสายใหม่แถบใจกลางเมือง”
ด้านปัจจัยเสี่ยงขาลงที่มีต่อการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจของเอชเอสบีซี ส่วนใหญ่มาจากรายได้ของเกษตรกรที่เติบโตในระดับต่ำ และการลงทุนภาครัฐที่อาจมีความล่าช้า รายได้เกษตรกรที่เติบโตต่ำนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อการบริโภค และนำไปสู่การขาดดุลการคลังที่มากขึ้น ทั้งนี้ การที่หลายภาคส่วนฝากความหวังอย่างมากต่อแผนแม่บทด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเลื่อนเวลาดำเนินโครงการอาจทำให้ความเชื่อมั่นภาคเอกชนลดลง และส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนไปด้วย
นอกจากนี้ ภาคการส่งออกยังมีความเสี่ยงจากการไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ ESP ของสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 58 ตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ผลกระทบโดยตรงจากภาษีน่าจะต่ำกว่าร้อยละ 0.1 ของการส่งออกรวม แต่การสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดอาจจะมีมูลค่าสูงกว่านั้นมาก ขณะที่ความเสี่ยงด้านการเมืองยังคงมีอยู่ เมื่อพิจารณาระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้ง ล่าสุด รัฐบาลประเมินว่า การจัดการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วงต้นปี 2559 แต่การอภิปรายเรื่องการปฏิรูปทางการเมืองต่างๆ อาจจะทำให้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล่าช้าออกไป