ไชน่าเดลี่ - สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เผย (21 ต.ค.) อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่สาม ขยายตัวร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยเป็นอัตราเติบโตช้าสุดในรอบห้าปีครึ่ง
รายงานฯ ระบุว่า อัตราการขยายตัวล่าสุดนี้ นับว่าต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2552 อันเป็นช่วงเกิดวิกฤตการเงินโลก ขณะที่อัตราเติบโตฯ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ อยู่ที่ร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
สำนักงานสถิติกล่าวว่า การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ซึ่งเป็นภาคขับเคลื่อนหลักของการเติบโตเศรษฐกิจจีน โตขึ้นร้อยละ 16.1 ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ขณะที่ยอดค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 12 ในช่วงเวลาเดียวกัน
สำหรับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน ขยายตัวร้อยละ 8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.9 ของเดือนสิงหาคม
เซิง ไหล่หยุน โฆษกสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน กล่าวว่า แม้อัตราการขยายตัวจะชะลอลง แต่ก็ตระหนักได้ว่าเศรษฐกิจจีนได้ก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านสู่บรรทัดฐานใหม่ของการผลิต นั่นคือการเปลี่ยนไปสู่การผลิตเชิงคุณภาพเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตมากขึ้น
นายเซิง กล่าวว่า ข้อมูลสถิติมีตัวเลขการเติบโตในภาคอุตสาหกรรม่ใหม่อย่างรวดเร็ว สวนทางกับภาพรวมของเศรษฐกิจ ยิ่งเน้นย้ำถึงการเปลี่ยนโฉมของจีนไปสู่เศรษฐกิจใหม่
เหวิน ปู่กั่ว รองผู้อำนวยการสำนักงานวิจัย หน่วยงานในการกำกับดูแลของคณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน อันเป็นหน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจจีนระดับชั้นนำ กล่าวว่า ขนาดที่แท้จริงของเศรษฐกิจ ได้เข้าสู่จุดที่ว่าไม่ได้คำนึงเพียงอัตราเร่งของการขยายตัวอีกต่อไป ขณะเดียวกัน ภาคขับเคลื่อนของเศรษฐกิจยุคเดิม อาทิ การส่งออก และภาคการลงทุน ก็เริ่มคลายแรงขับดัน โดยเศรษฐกิจจีนเริ่มพัฒนาไปสู่การผลิตที่สะอาด ไม่ผลาญทรัพยากร ดังนั้น จึงมีความต้องการลดลงในด้านพลังงาน และวัตถุดิบ ปัจจัยเหล่านี้ย่อมมีผลต่ออัตราเร่งของเศรษฐกิจภาพรวมที่ชะลอตัวลง
เหวิน กล่าวว่าศักยภาพในการแข่งขันของจีนเวลานี้ ขึ้นอยู่กับนวัตกรรม เทคโนโลยี และตลาดการผลิตก็คงจะทรงระดับการขยายตัวไม่ให้เร่งเร็วแบบเน้นปริมาณเช่นเดิม และรัฐบาลก็จะใช้นโยบายกระตุ้นเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
จู ไห่ปิน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ จากเจพีมอร์แกน กล่าวคาดการณ์ว่า ในรอบหลายเดือนถัดจากนี้ นโยบายที่เกี่ยวกับการเติบโตเศรษฐกิจจีนคงจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก เช่นเดียวกับนโยบายการเงิน โดยการเติบโตของสินเชื่อจะยังคงมีเสถียรภาพฯ