xs
xsm
sm
md
lg

อนุ กมธ.ไฟฟ้ายันพลังงานล้นไม่หมดตามที่อ้าง ชงรื้อสัญญาโรงไฟฟ้ายุค “ยิ่งลักษณ์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อนุ กมธ.กิจการไฟฟ้า เตรียมระดมความเห็นถกแผนพัฒนาผลิตไฟฟ้า ชี้อ้างพลังงานหมดทั้งที่ล้นเกินบริโภค ทำประชาชนแบกภาระ คาดปี 65-67 มีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงถึง 45-47% แฉเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ยุค “ยิ่งลักษณ์” เตรียมเสนอแก้ไข เหตุนำเข้าแอลเอ็นจีต้นทุนแพงแต่กลับไม่ระบุตัวเลข

นายชาลี เจริญสุข โฆษกอนุกรรมาธิการ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ และนายดุสิต เครืองาม อนุกรรมาธิการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าในคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงว่า อนุกรรมาธิการฯ จะมีการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนเกี่ยวกับแผนพัฒนาผลิตไฟฟ้าประเทศไทย 2015-2036 หรือ PDP ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2558 ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรกองทัพบก เนื่องจากแผนของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่ได้ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าช่วงปี 2558-2579 หรือ 21 ปี แต่ยังไม่เป็นที่ทราบเป็นการทั่วไป หรืออาจจะมีบางเรื่องที่ควรจะมีการปรับปรุง เพิ่มเติม จึงกำหนดให้มีเวทีสัมมนาเพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ผู้ลงทุน ผู้ใช้ไฟฟ้า ทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ โดย สปช.จะรวบรวมข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะและปัญหาต่างๆ บรรจุลงในข้อเสนอการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าของประเทศไทยเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป

นายหาญณรงค์กล่าวว่า เนื้อหาการสัมมนาจะครอบคลุมปัญหาการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ปัญหาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเชื้อเพลิงต่างๆ ปัญหากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่ล้นมากเกินไปจะทำอย่างไร การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสามารถรองรับการเติบโตของพลังงานหมุนเวียน การเปิดการผลิตซื้อขายไฟฟ้าเสรีจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และความโปร่งใสและการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพของเงินในกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากโรงไฟฟ้า ในส่วน สปช.เห็นว่าแผนไฟฟ้าอาจต้องกำหนดใหม่ให้ละเอียดว่า การพยากรณ์การใช้พลังงานน่าจะมีข้อเสนอแนะที่ให้ข้อมูลครบถ้วน เพราะการรับฟังความเห็นของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติยังไม่เพียงพอ

“อย่างการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในช่วง 21 ปี ที่กำหนดว่าปริมาณสูงว่าตรงหรือไม่ ใช้หลักอะไร เพราะใช้แต่หลักการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น คิดว่าพยากรณ์เกินความจริง เพราะไฟฟ้าสำรองมีถึง 30% ทั้งที่ไม่ควรเกิน 15% ปี 65-67 มากกว่า 45-47% ซึ่งเกิดจากสัญญาที่เคยเซ็นไว้แล้วและประกาศรับซื้อไฟฟ้าบางประเภทไว้แล้ว ถ้าไฟฟ้าสำรองมากขึ้นผู้บริโภคจะเป็นผู้รับภาระ จึงต้องพิจารณาว่าจะแก้ไขปรับปรุงอย่างไรได้บ้าง”

นายดุสิตกล่าวถึงประเด็นการสร้างโรงไฟฟ้าที่มีการทำสัญญาไปแล้วว่า ผูกพันประเทศไทยทั้งภาครัฐและผู้ลงทุนรวมทั้งประชาชนที่ใช้ไฟฟ้า เช่น ปริมาณสำรองที่จะมีเหลือล้นเกินความจำเป็นในอีก 5 ปีข้างหน้าอาจขึ้นถึง 40% ต้องแก้ไข ส่วนการทำสัญญาโรงไฟฟ้า IPP ตั้งแต่ปี 55-56 ที่คาดว่าจีดีพีจะมีค่าเฉลี่ยประมาณ 4.4-4.5% แต่ในปัจจุบันสภาพัฒน์ฯแจ้งค่าเฉลี่ยลดลงเหลือแค่ 3% กว่า ทำให้มีไฟฟ้าเหลือเกินความจำเป็น

ทั้งนี้ เห็นว่าการเซ็นสัญญาของรัฐต้องมีหมายเหตุ เช่น รัฐสามารถชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าได้ตามการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในสัญญาเดิมไม่มีเรื่องเหล่านี้ ในการปฏิรูปจะดูว่าทำอย่างไรไม่ให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นเพราะมีผลทางนิติกรรมไปแล้ว เช่น การนำเอาแอลเอ็นจีเข้ามายังไม่ทราบต้นทุนและสัดส่วนปริมาณก๊าซเหลวมากกว่าที่ใช้อยู่ โดยไม่พบตัวเลขว่าเป็นจำนวนเท่าใดนอกจากทราบว่าจะแพงกว่าในปัจจุบันแน่นอน

“ในเรื่องข้อมูลการวางแผนผลิตสำรองมีส่วนเกินจะแก้ไขสัญญาได้หรือไม่ ทำอย่างไรไม่ให้รัฐเสียค่าปรับใช้ไฟฟ้าส่วนเกินให้เป็นประโยชน์ การตีกรอบโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใน 20 ปีข้างหน้า 15-20% ทำไมจึงไม่ขึ้นเป็น 40-50% เหมือนต่างประเทศ รวมทั้งการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าต้องปรับโครงสร้างอะไรหรือไม่การไฟฟ้าควรจะต้องไปอยู่กับกระทรวงพลังงานหรือไม่”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในขณะที่ สปช.ระบุว่าไฟฟ้าสำรองจะมีปริมาณเกินความจำเป็นถึงกว่า 40% ในอนาคตแต่กระทรวงพลังงานและการไฟฟ้าโฆษณาตลอดว่าไฟฟ้ากำลังจะหมด ข้อมูลใดเป็นข้อมูลเท็จและข้อมูลใดเป็นข้อมูลจริง นายดุสิตกล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ไม่มีเจตนาที่จะโจมตีใคร แต่ สปช.มีหน้าที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อประชาชน และรักษาผลประโยชน์ของประชาชนให้ได้มากที่สุด ด้วยการเสนอแนวทางที่เหมาะสมเกี่ยวกับแผนพัฒนาผลิตไฟฟ้า


กำลังโหลดความคิดเห็น