xs
xsm
sm
md
lg

"รสนา"บุกศาลปกครอง ร้องถอนคำสั่งคืนท่อก๊าซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน-"รสนา"ควง "สารี-บุญยืน" บุกยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ขอเพิกถอนคำสั่งวันที่ 26 ธ.ค.51 ที่ระบุว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินจาก ปตท. คืนให้คลังครบถ้วนแล้ว หลังไม่ได้รับการตรวจสอบและรับรองจาก สตง. ด้านอนุ กมธ.กิจการไฟฟ้า สปช. เตรียมระดมความเห็นถกแผนพัฒนาผลิตไฟฟ้า เหตุพบข้ออ้างพลังงานหมด ทั้งที่ล้นเกินบริโภค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (21 พ.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน พร้อมด้วย น.ส.สารี อ่องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฎิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค และนางบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคและดิฉัน ได้ไปยื่นคำร้องที่ศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 26ธ.ค2551ที่ระบุว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินจาก บมจ.ปตท. คืนให้กระทรวงการคลังครบถ้วนแล้ว

หลังจากนั้น น.ส.รสนา ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "รสนา โตสิตระกูล" มีเนื้อหาระบุว่า สืบเนื่องจากประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เปิดเผยผลการวินิจฉัยกรณีการคืนท่อส่งก๊าซเมื่อวันที่ 23เม.ย.2558ว่า "การรายงานผลการการดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 25ธ.ค.2551ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ได้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว และอ้างว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าข้อมูลการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ส่งคืนกระทรวงการคลังที่รายงานต่อศาลยังไม่ได้รับการตรวจสอบและรับรองจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน และเป็นการลัดขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญในการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจ และสิทธิดังกล่าวออกจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18ธ.ค 2550การกล่าวอ้างของบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) ในคำร้องที่ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25ธ.ค 2551จึงเป็นการรายงานข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุดที่ส่งผลต่อการพิจารณาการบังคับคดีของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้"

จากคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะของพวกเราที่เป็นผู้ติดตามการคืนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จึงนำคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินมาประกอบคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งศาลในวันที่ 26 ธ.ค 2551ที่ระบุว่าการคืนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินครบถ้วนแล้ว

วันเดียวกันนี้ นายชาลี เจริญสุข โฆษกอนุกรรมาธิการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าในคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปแห่งชาติ พร้อมด้วยนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการฯ และนายดุสิต เครืองาม อนุกรรมาธิการฯ ร่วมกันแถลงข่าวการจัดสัมมนา เรื่อง "การรับความเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2558-2579 (PDP 2015-2036) จุดเด่น จุดอ่อน โอกาส ผลกระทบ" ในวันที่ 28 พ.ค.2558 ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรกองทัพบก (วิภาวดี)

นายชาลีกล่าวว่า เนื่องจากแผนของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่ได้ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าช่วงปี 2558-2579 หรือ 21 ปี แต่ยังไม่เป็นที่ทราบเป็นการทั่วไป หรืออาจจะมีบางเรื่องที่ควรจะมีการปรับปรุงเพิ่มเติม จึงกำหนดให้มีเวทีสัมมนา เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ผู้ลงทุน ผู้ใช้ไฟฟ้า ทุกภาคส่วน ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ โดย สปช. จะรวบรวมข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะและปัญหาต่างๆ บรรจุลงในข้อเสนอการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าของประเทศไทย เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการต่อไป

นายหาญณรงค์ กล่าวว่า เนื้อหาของการสัมมนาจะครอบคลุมปัญหาการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ปัญหาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเชื้อเพลิงต่างๆ ปัญหากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่ล้นมากเกินจะแก้ไขปัญหาอย่างไร รวมถึงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนที่ขาดความต่อเนื่อง จะมีการใช้มาตรการประมูลว่าเหมาะสมหรือไม่ การเปิดการผลิตซื้อขายไฟฟ้าเสรีจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และความโปร่งใสและการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพของเงินในกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากโรงไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเสริมข้อมูลจากการรับฟังความเห็นของ กพช.ที่เชื่อว่ายังไม่เพียงพอ

“อย่างการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าในช่วง 21 ปี ที่กำหนดว่าปริมาณสูงว่าตรงหรือไม่ ใช้หลักอะไร เพราะใช้แต่หลักการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเท่านั้น ซึ่งคิดว่าพยากรณ์เกินความจริง เพราะไฟฟ้าสำรองมีถึง 30% ทั้งที่ไม่ควรเกิน 15% ปี 65-67 มากกว่า 45-47% ซึ่งเกิดจากสัญญาที่เคยเซ็นไว้แล้ว และประกาศรับซื้อไฟฟ้าบางประเภทไว้แล้ว ถ้าไฟฟ้าสำรองมากขึ้น ผู้บริโภคจะเป็นผู้รับภาระ จึงต้องพิจารณาว่า จะแก้ไขปรับปรุงอย่างไรได้บ้าง” นายหาญณรงค์กล่าว

ขณะที่นายดุสิต กล่าวถึงประเด็นการสร้างโรงไฟฟ้าที่มีการทำสัญญาไปแล้วว่า ผูกพันประเทศไทยทั้งภาครัฐ และผู้ลงทุน รวมทั้งประชาชนที่ใช้ไฟฟ้า เช่น ปริมาณสำรองที่จะมีเหลือล้นเกินความจำเป็นในอีก 5 ปีข้างหน้า อาจขึ้นถึง 40% ต้องแก้ไข ส่วนการทำสัญญาโรงไฟฟ้า IPPตั้งแต่ปี 55-56 ที่คาดว่า GDP จะมีค่าเฉลี่ยประมาณ 4.4-4.5% แต่ในปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แจ้งค่าเฉลี่ย GDP ลดลงเหลือแค่ 3% กว่า ทำให้มีไฟฟ้าเหลือเกินความจำเป็น

ทั้งนี้ เห็นว่าการเซ็นสัญญาของรัฐต้องมีหมายเหตุ เช่น รัฐสามารถชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าได้ตามการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในสัญญาเดิมไม่มีเรื่องเหล่านี้ ในการปฏิรูปจะดูว่าทำอย่างไรไม่ให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น เพราะมีผลทางนิติกรรมไปแล้ว เช่น การนำเอา LNG เข้ามายังไม่ทราบต้นทุน และสัดส่วนปริมาณก๊าซเหลวมากกว่าที่ใช้อยู่ โดยไม่พบตัวเลขว่าเป็นจำนวนเท่าใด นอกจากทราบว่าจะแพงกว่าในปัจจุบันแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น