xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ลุยทวงคืนท่อก๊าซ พบ “คลัง-พลังงาน-ปตท.” สุมหัวรายงานเท็จศาลฯ ฮุบสมบัติชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รสนา โตสิตระกูล (แฟ้มภาพ)
“รสนา” พร้อมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตามไม่ปล่อย ทวงคืนท่อก๊าซจาก ปตท. หลังผู้ตรวจการแผ่นดินย้ำคลัง-พลังงาน-ปตท.สุมหัวรายงานเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด ฮุบสมบัติชาติ ส่งไม้ต่อให้ สตง.ตรวจสอบตามกฎหมาย เตรียมฟ้องเพิกถอนคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ระบุว่า คืนทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว หวัง “ประยุทธ์” ใช้อำนาจ คืนท่อก๊าซสู่สาธารณะ ลั่นไม่ทำ ปชช.ไม่หยุดป้องทรัพย์ชาติ

น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการปฏิรูปพลังงาน เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้ตนและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะนำส่งหลักฐานเพิ่มเติมต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หลังจากที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งคำวินิจฉัยมายังประธานกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภา ที่ทำหนังสือถามเกี่ยวกับการแบ่งแยกทรัพย์สินไม่ครบถ้วนของ ปตท.ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 เม.ย. โดยสำนักงานวุฒิสภาได้รับเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ผ่านมา หลังจากยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยตั้งแต่ 3 พ.ย.2554

ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งที่ 800/2557 ยกคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและประชาชน 1,455 คนที่ขอให้ศาลปกครองตรวจสอบการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนกระทรวงการคลังที่ไม่ครบถ้วนเพราะการไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.ของหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ที่ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แต่ศาลยกฟ้องเนื่องจากประชาชนไม่ใช่ผู้เสียหายโดยเป็นเรื่องของของกระทรวงการคลังที่จะต้องดำเนินการเอง ซึ่งเมื่อศาลวินิจฉัยว่า “ให้หน่วยงานไปว่ากล่าวกันเอง” ตาม พ.ร.บผู้ตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 สตง.มีอำนาจหน้าที่ที่จะตรวจสอบว่าหน่วยงานที่เป็นหน่วยตรวจรับเหล่านี้ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง มติ ครม.ครบถ้วนหรือไม่

นอกจากนี้ คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ได้วินิจฉัยในประเด็นที่เป็นหัวใจของเรื่องราว ที่ว่าเอกสารรายงานการแบ่งแยกทรัพย์สินของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่รายงานต่อศาลปกครอง เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2551ไม่ได้ปฏิบัติตามมติ ครม.ที่ให้ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินเสียก่อน

“เป็นการลัดขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญในการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจ และสิทธิดังกล่าวออกจาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ดังนั้น การกล่าวอ้างของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในคำร้องที่ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดที่ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว จึงเป็นการรายงานที่เป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด ที่ส่งผลต่อการพิจารณาการบังคับคดีของศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้”

น.ส.รสนากล่าวว่า ตนจะร้องให้เพิกถอนคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ลงวันที่ 26 ธ.ค. 2551 ที่ตุลาการเจ้าของคดี ได้มีคำสั่งเป็นลายมือบนหัวกระดาษในรายงานการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ บริษัท ปตท. ส่งถึงศาลปกครองสูงสุด ตามหนังสือลงวันที่ 25 ธ.ค. 2551 โดยตุลาการเจ้าของคดีมีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2551 ว่า “ได้มีการแบ่งแยกทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว” ซึ่งเป็นผลจากการรายงานที่เป็นเท็จต่อศาลปกครองตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน

น.ส.รสนากล่าวว่า การแบ่งแยกทรัพย์สินนั้น สตง.ที่ได้รับมอบหมายตามมติ ครม.ให้เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินถูกกันออกไปจากกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องก่อนรายงานต่อศาลปกครองสูงสุด และตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2551 ไม่มีหน่วยงานรัฐหน่วยงานใด ที่ตามกฎหมายกำหนดให้เป็น “เจ้าของทรัพย์” แทนประชาชน อยากได้ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินคืน จึงไม่ให้ความสนใจกับรายงานและการทักท้วงของ สตง. ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันว่าการคืนทรัพย์สินให้แผ่นดินยังไม่ครบถ้วน

“เหมือนการเล่นหมากรุกกันบนกระดานระหว่างประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ตัวจริง กับหน่วยงานรัฐ หรือเจ้าของทรัพย์ตัวแทน ที่มีทั้งข้าราชการ นักการเมือง กลุ่มทุน ทั้งสองฝ่ายเดินหมากกันคนละตา อันที่จริงประชาชน เดินได้ทีละตา แต่อีกฝ่ายเดินได้ไม่จำกัดตาในทุกทิศทาง ประชาชนเดินได้ช้าเพราะมีอุปสรรคเยอะ ตานี้ก็ห้ามเดิน เพราะไม่ใช่ผู้ชนะคดี ตานั้นก็ห้ามเดินเพราะไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ ต้องคลำทางหาเส้นทางเดินเรื่อยไปเส้นทางคดเคี้ยวและรกชัฎ อย่างไรก็ตาม ในหลายปีที่ผ่านมาได้ฝึกให้พวกเรามีความอดทน และรอคอยได้ การที่เราไม่หยุดเดิน ทำให้เราก็เดินมาได้ไกลพอสมควร ตอนนี้หวังแต่ว่าผู้มีอำนาจจะไม่ล้มกระดานเสียก่อน เพราะกลัวตลาดหุ้นถูกกระทบยิ่งกว่ามองเห็นว่าประชาชนและประเทศถูกเอาเปรียบ”

น.ส.รสนากล่าวว่า ตนอยากจะหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจบริหารตัดสินให้มีการแบ่งแยกและคืนทรัพย์สิน ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งมีรายงานการตรวจสอบของ สตง.และคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน รองรับอยู่แล้ว และศาลปกครองก็ยังวินิจฉัยให้หน่วยราชการภายใต้การกำกับของท่านนายกรัฐมนตรีไปว่ากล่าวกันเอง ดังนั้น หากนายกรัฐมนตรีรีบดำเนินการให้มีการปฏิบัติให้ถูกต้อง ก็จะได้รับการยกย่องสรรเสริญและได้ใจของประชาชนในกรณีนี้ มิเช่นนั้นแล้วประชาชนก็ยังคงเดินหน้าต่อไปไม่หยุดจนกว่าจะได้ทรัพย์สินของแผ่นดินกลับคืนสู่สถานะที่แท้จริง ดังพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินว่า เงินแผ่นดินนั้นคือเงินของประชาชนทั้งชาติ ดังนั้น ทรัพย์สินของแผ่นดินก็คือทรัพย์สินของประชาชนทั้งชาติ ที่ประชาชนมีหน้าที่ต้องรักษาและปกป้องทรัพย์สินนั้นจากการทุจริตฉ้อโกงไปเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้หนึ่งผู้ใด


กำลังโหลดความคิดเห็น